กรดยูริกสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง
ผลไม้ เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ตั้งแต่เด็ก ๆ คนในครอบครัวมักจะส่งเสริมให้เราทานผลไม้เสมอ เพราะนอกจากจะกินง่าย รสชาติที่หลากหลายถูกปากคนทุกวัยแล้ว ก็ยังสร้างประโยชน์ให้กับร่างกายได้อย่างหลากหลายเช่นเดียวกัน แต่การรับประทานผลไม้ที่มีกรดยูริกสูงมากเกินไป ก็อาจเสี่ยงโอกาสเกิดโรคได้เช่นกัน เช่นโรคนิ่วในไต โรคไตเสื่อม และโรคที่เป็นสาเหตุของการทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงอย่างโรคเก๊าท์ด้วยเช่นกัน
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง คืออะไร?
กรดยูริก (Uric acid) จะมาจากการย่อยสลายทางเคมีของสารพิวรีน (Purine) ในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งยูริกนั้นจะละลายภายในเลือด ส่งต่อไปที่ไตและขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าหากมีปริมาณกรดยูริกในร่างกายสูงเกินไป จะทำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับออกผ่านการปัสสาวะได้ เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ กรดยูริกที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกายจะจับตัวกันเป็นก้อนและตกผลึกเป็นก้อนเกลือยูเรต (Urate crystal) และจะเกิดขึ้นในบริเวณข้อต่อ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบอย่างโรคเก๊าท์ นอกจากนี้ ภาวะกรดยูริกสูงก็มีความเสี่ยงต่อการตกผลึกของกรดยูริกกลายเป็นนิ่วในไตได้เช่นเดียวกัน
กินหวาน ก็เสี่ยงต่อการเป็นเก๊าท์ได้
หลายคนอาจกังวลแค่อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณพิวรีนสูงเช่น เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารบางชนิดที่มีปริมาณพิวรีนสูง ซึ่งการเลี่ยงอาหารประเภทนี้หรือลดจำนวนลงในการบริโภคในแต่ละวัน ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์หรือการเกิดนิ่วในไตได้ เราอาจจะเคยได้ยินคำเตือนที่ว่า “กินไก่เป็นเก๊าท์นะ กินเยอะ ๆ ระวังเป็นเก๊าท์”กลายเป็นภาพความจำของคนไทย ที่ว่าโรคเก๊าท์ เกิดมาจากการรับประทานไก่เยอะ ซึ่งการรับประทานไก่มากเกินไป ไม่บริโภคแต่พอดี ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์ได้ แต่ทว่า สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ร่างกายมีกรดยูริกสูงจนตกค้างจนเป็นโรคเก๊าท์ เป็นสิ่งที่เราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก นั่นคืออาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) สูง
อาหารที่น้ำตาลฟรุกโตสสูง
น้ำตาลฟรุกโตส เมื่อเผาผลาญแล้ว จะผ่านการกระบวนการเปลี่ยนสารจากฟรุกโตสให้กลายเป็นกรดยูริก ซึ่งทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น ซึ่งฟรุกโตสจะอยู่ในอาหารบางชนิด ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้บางชนิดหรือในน้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn syrup) โดยเฉพาะน้ำผลไม้ที่มีการผสมกันกับผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตสสูงและผสมกับน้ำเชื่อมข้าวโพดที่ทำให้น้ำตาลฟรุกโตสสูงมากยิ่งขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์ได้ นอกจากนี้ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหลายยี่ห้อ ก็อาจมีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสสูงเช่นกัน เพราะฉะนั้น การหลีกเลี่ยง หรือการลดปริมาณการรับประทานผลไม้น้ำตาลสูง การดื่มน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมข้าวโพด หรือเครื่องดื่มผมไม้กล่องบางยี่ห้อที่มีน้ำตาลฟรุกโตส ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์และนิ่วในไต
ผลไม้อะไรบ้าง ที่มีกรดยูริกสูง?
นอกจากเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีปริมาณพิวรีนสูง ทำให้ร่างกายมีกรดยูริกสูง อีกอย่างหนึ่งที่ต้องใส่ใจคือผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) สูง ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีกรดยูริกสูง เช่น ขนุน แอปเปิล องุ่น ลูกแพร์ ลูกเกด ลำไย แตงโม มะขามหวาน ทุเรียน เป็นต้น
นอกจากผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตสสูงแล้ว น้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของน้ำเขื่อมข้าวโพด (Corn syrup) ก็สามารถทำให้น้ำผลไม้มีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสที่สูงขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสะสมกรดยูริกตกค้างในร่างกายและเกิดความเสี่ยงต่อภาวะกรดยูริกในเลือดสูง เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเก๊าท์เช่นกัน
กินหวานอย่างไร ให้ไม่เสี่ยงต่อภาวะกรดยูริกในเลือดสูง?
ผลไม้ที่มีปริมาณฟรุกโตสสูง สามารถรับประทานได้ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์ก็สามารถรับประทานได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละวัน การบริโภคอาหารหรือน้ำตาลฟรุกโตส ปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย จะอยู่ที่ 50 กรัมต่อวัน หากบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสมากกว่านี้ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะกรดยูริกในเลือดสูง จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์หรือนิ่วในไตได้
อาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภทก็มักจะมีคุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย มีวิตามิน มีแร่ธาตุและคุณค่าทางโภชนการที่หลากหลาย ซึ่งหากรับประทานหรือดื่มในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน ท้องอิ่ม และมีความสุขกับการรับประทานอาหารอร่อย ๆ ได้ แต่สิ่งที่ให้ประโยชน์ ก็สามารถให้โทษได้เช่นเดียวกัน หากรับประทานหรือดื่มในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดความเสื่อมเสียภายในร่างกายโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น การรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มอย่างพอเหมาะ ไม่มากเกินไปในแต่ละวัน จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ การใส่ใจดูแลเรื่องความหวานของอาหาร ก็จะช่วยในเรื่องของระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยเช่นกัน
อ่านบทความเพิ่มเติม :
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อ กรดยูริกในเลือดสูง