การบรรยายหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ครอบคลุมสารพัดโรคที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องของอาการปวดหลัง ปวดคอ ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุ ไปจนถึง Office Syndrome ด้วย
การมีความรู้ที่ถูกต้องและดูแลตนเองให้เหมาะสมแต่เนิ่นๆ ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงในเชิงป้องกันซึ่งจะช่วยชะลอการปวดหลัง ปวดคอ กระดูกพรุน และข้อเข้าเสื่อมที่จะเกิดขึ้นกับเราได้ในอนาคต นอกจากนี้แล้ว เรายังแวดล้อมไปด้วยพ่อแม่ลุงป้าน้าอาซึ่งเป็นผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านี้ได้ง่ายด้วยเช่นกัน
ทำไมเราถึงปวดหลังบ่อย
เรามักเข้าใจผิดคิดว่าอาการปวดหลังมักจะเกิดจากโรคข้อกระดูกอักเสบ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือโรคไต และการตรวจโดยการเอกซเรย์จะสามารถช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดหลังได้
นอกจากนี้แล้ว เรามักจะคิดไปว่าการปวดหลังนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นแล้วก็หายเองได้ เราปวดหลังเพราะเราทำงานมากเกินไป และถ้าเรากินยาเข้าไปแล้ว เดี๋ยวอาการปวดหลังก็คงจะหายไป ….. เหล่านี้ถือเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปวดหลังค่ะ
จริงๆ แล้ว การปวดหลังและปวดคอนั้น เกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในได้แก่ความเสื่อมของกล้ามเนื้อ กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ ไปจนถึงไขสันหลัง หรืออาจมาจากโรคอื่นๆ เช่น โรคกระดูกพรุน เนื้องอก หรือแม้กระทั่งการติดเชื้อก็เป็นได้
ในส่วนของปัจจัยภายนอกที่ทำให้เราปวดหลังและปวดคอนั้น มาจากการทำงานและกิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานซ้ำๆ การทำงานที่หักโหมเกินกำลังของเรา การทำงานที่ผิดสุขลักษณะ หรือกิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวัน รวมถึงการออกกำลังกายและการนอนของเราด้วย เนื่องจากการเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก้ม การเอี้ยวตัวเร็วเร็ว หรือการนั่งอยู่ในท่าเดียวเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อและหมอนรองกระดูกสันหลังได้ โดยเฉพาะการก้มหยิบของหนัก การนั่งหลังไม่ตรงเป็นเวลานาน และการนั่งและหยิบของหนักไม่ถูกวิธี ซึ่งจะทำให้เกิดแรงดันภายในหมอนรองกระดูกสันหลังที่สูงกว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะอื่น
ลักษณะของอาการปวดหลังบ่อย
คนทุกเพศทุกวัยสามารถจะมีอาการปวดหลังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีการก้ม เอี้ยว บิดตัวบ่อย นั่งนาน หรือคนที่มีรูปร่างหรือท่าทางที่ไม่เหมาะสมเวลายืน เดิน นั่ง หรือนอน
อาการปวดหลังมีได้หลายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเฉพาะที่เฉพาะจุด อาการปวดร้าว อาการปวดแบบเฉพาะร่วมกับอาการปวดร้าว และอาการปวดแบบลุกลาม แต่ไม่ว่าจะปวดแบบไหน เราสามารถแบ่งอาการปวดหลังออกได้เป็น 2 แบบด้วยกัน คือ
- อาการปวดแบบเฉียบพลัน
- อาการปวดแบบเรื้อรังค่ะ
อาการปวดแบบเฉียบพลันนั้น จะมีอาการที่เป็นมาไม่เกิน 3 เดือน และมีสาเหตุชัดเจนที่สามารถอธิบายอาการที่เป็นได้ จึงทำให้การรักษามักจะได้ผลดี ในขณะที่อาการปวดแบบเรื้อรังนั้น จะมีอาการมานาน มีสาเหตุไม่ชัดเจนหรือไม่รู้สาเหตุ อาจมีอาการแปลกๆ ที่อธิบายไม่ได้ และการปวดแบบเรื้อรังนี้จะรบกวนการใช้ชีวิตแบบปรกติ จึงทำให้การรักษามีความยากกว่าและอาจรักษาไม่หายขาดค่ะ ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของการรักษาอาการปวดแบบเฉียบพลันก็คือเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดนั้นกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังในที่สุด
อาการปวดหลังที่เราต้องระวังได้แก่อาการปวดเรื้อรังที่รุนแรง ปวดจนตื่นกลางดึก ปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และอาการปวดที่มีอาการชาหรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย (อาจมีเส้นประสาทกดทับ) นอกจากนี้ หากเรามีอาการเบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดร่วมด้วย (อาจมีเนื้องอกหรือโรคติดเชื้อ) หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งมาก่อน (มะเร็งอาจกลับมา) หรือมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงในอดีต (กระดูกสันหลังอาจบาดเจ็บ) เรายิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ
การรักษาอาการปวดหลัง
เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมีความคาดหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น การรักษาในรูปแบบต่างๆ จึงควรมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นหลักโดยทั่วไปแล้วอาการปวดหลังสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น การยืด การบริหาร การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนท่าให้ถูกสุขลักษณะ การทำกายภาพบำบัด การใช้ยารักษา การใช้เครื่องพยุงหรือเครื่องช่วยเดิน การฉีดยาเข้ารากประสาท ความจำเป็นในการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดหลังนั้นมีเพียงแค่ 5% เท่านั้นเองค่ะ
เป้าหมายของการรักษาในระยะแรกหรือที่เรียกว่าระยะพักนั้น จะเป็นการปกป้องหรือพักส่วนที่มีอาการปวด โดยการหลีกเลี่ยงท่าทางหรือการเคลื่อนไหวที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับส่วนที่มีปัญหา เช่น การนั่ง การก้ม การเอี้ยวบิดตัว หรือการเคลื่อนไหวของส่วนหลัง การนอนพัก การใช้เครื่องพยุงต่างๆ รวมถึงการลดอาการปวดโดยการประคบร้อน การใช้อัลตราซาวด์ การดัด การนวด และการดึงถ่วงน้ำหนัก
สำหรับเป้าหมายสำหรับระยะต่อมาที่เรียกว่าระยะเคลื่อนไหวนั้น เน้นการทำให้ร่างกายมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อได้คลายตัว โดยใช้การยืดเหยียด การดัด และการออกกำลังกายทั่วไปแบบเบาๆ
ในส่วนของระยะสุดท้ายซึ่งเป็นระยะปรับสภาพนั้น มีเป้าหมายในการทำให้ร่างกายคืนสู่สภาพปรกติดังเดิม โดยการเรียนรู้วิธีการบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อและเสริมกำลังกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าท้อง ก้น และต้นขา นอกจากนี้ เรายังควรต้องเรียนรู้ถึงท่าในชีวิตประจำวันที่ถูกต้อง เช่น เวลาที่เรายกของนั้น หลังควรตั้งตรง ไม่ก้มหรือบิดตัวขณะยกของ เวลานั่งก็ควรนั่งให้เต็มเก้าอี้และหลังตรง ส่วนเวลานอนนั้น หากเราชอบนอนหงาย ก็ควรจะนำหมอนเล็กๆ หนุนรองไว้ใต้เข่า หรือหากเราชอบนอนตะแคง ก็ควรจะนอนโดยใช้หมอนข้างเข้าช่วย และไม่ควรนอนคว่ำเวลานอน หากเราไม่ถูกท่าที่เหมาะสม ก็จะทำให้เราเกิดอาการปวดหลังได้
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และทีมผู้บรรยาย ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์ พรชัย มูลพฤกษ์ นายแพทย์ ธำรง เลิศอุดมผลวนิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นายแพทย์ ตุลยพฤกษ์ ถาวรสวัสดิรักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ นรเทพ กุลโชติ สำหรับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุให้กับนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ค่ะ
………………….
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์
Anonymous
June 23, 2021น่าสนใจมากค่ะ ขอแชร์ค่ะ