โรคเก๊าท์ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เริ่มมีอายุช่วงวัยกลางคน หรือ ผู้สูงอายุ ซึ่งอาการของโรคนั้นจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดตั้งแต่อาการปวดแบบเบาๆ ไปจนถึงอาการปวดแบบรุนแรง ซึ่งสาเหตุของอาการปวด และสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ปวดนั้นก็มีไม่เหมือนกัน วันนี้ผู้เขียนจึงมีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับเก๊าท์ และการดูแลตัวเองไปจนถึงการเลือกรับประทานเพื่อลดอาการของเก๊าท์กำเริบให้ฟังกันค่ะ
สาเหตุของโรคเก๊าท์
โดยปกติแล้วสาเหตุของเก๊าท์นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- ได้รับสืบทอดจากพันธุ์กรรม โดยคนที่มีพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเป็นเก๊าท์มีแนวโน้มที่จะมีโอกาสเป็นเก๊าท์มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากไตของคนกลุ่มนี้มักจะมีความสามารถในการขับกรดยูริกได้น้อยกว่าปกติ ส่วนใหญ่เก๊าท์มักจะไม่แสดงผลในช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงานแต่จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน
- เกิดจากโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดโลหิตขาว (ในบางชนิด) โรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องทานยาเป็นประจำ เช่น เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแอสไพริน ยาต้านวัณโรค
อาการของเก๊าท์
อาการของเก๊าท์จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่กลุ่มนี้อาการของโรคจะยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมาก แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยงจะสามารถตรวจสุขภาพดูได้ว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนด้วยการตรวจกรดยูริกในเลือด
- ระยะที่สอง เป็นกลุ่มผู้มักจะเกิดอาการอักเสบเฉียบพลันระดับความรุนแรงของอาการอาจจะจากค่อยๆ เจ็บบริเวณข้อเท้าหรือนิ้วเท้า บางคนอาจจะปวดเล็กน้อยบางคนอาจจะเจ็บมาก และระยะเวลาการกำเริบมักจะกินเวลาประมาณ 2-3 วัน
- ระยะที่สาม กลุ่มอาการของโรคมักจะเริ่มเป็นถี่ขึ้นจากเดิมนานๆ ครั้ง ปีละ 1-2 ครั้ง ก็เริ่มขยับมาเป็นทุก 2-3 เดือน อาการอักเสบก็เริ่มขยายเพิ่มขึ้น จากเดิมปวดแค่ข้อมือก็จะเริ่มปวดมาจนถึงข้อเท้า และระยะเวลากำเริบก็ใช้เวลานานขึ้น เป็น 4-5 วัน หรืออาจจะ 7 วัน
- ระยะที่สี่ ระยะนี้จะถือว่าอาการป่วยเรื้อรัง ที่บางรายอาจจะสร้างความเจ็บปวดให้คนไข้ตลอดเวลา เนื่องจากมีกรดยูริกสะสมมากขึ้นจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์
การรักษาเก๊าท์
การรักษาเก๊าท์ส่วนใหญ่จะต้องได้รับคำแนะนำจากแผน ซึ่งวิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ แพทย์จะแนะนำให้ทานยาเพื่อรักษาระดับกรดยูริกไม่ให้สะสม เมื่อกรดยูริกลดลงก็จะก่อให้เกิดการอาการอักเสบที่ลดลง นอกจากนี้คนไข้เองก็ต้องรับประทานอาหารที่ไม่กระตุ้นให้กรดยูริกเพิ่มขึ้น
อาหารแสลงกับเก๊าท์
สำหรับผู้ที่เสี่ยงหรือป่วยเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการสะสมของกรดยูริก ดังนั้นผู้ป่วยเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด อาหารที่มาจากสัตว์ปีกทุกชนิด อาหารหมักดอง เครื่องในสัตว์ เนื้อวัว เนื้อแดง และยอดผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ ชะอม กระถิน ยอดผักคะน้า ยอดผักหวาน ยอดผักบุ้งจีน ยอดฟักทอง ยอดตำลึง ถั่วดำ ถั่วแดง และควรดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อเพิ่มปริมาณในการขับกรดยูริกมามากขึ้น
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กินอาหารปิ้งย่าง ก่อมะเร็ง จริงหรือ ?