การปาร์ตี้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนัก ๆ อยู่เป็นประจำ อาจจะฟังดูสนุกสนาน ครื้นเครง แต่หารู้ไม่ว่าภัยร้ายอย่าง ‘โรคไขมันพอกตับ’ กำลังคืบคลานมาช้า ๆ มิหนำซ้ำหากชอบทานอาหารแคลอรีสูง มีปริมาณไขมันและคาร์โบไฮเดรตมาก ก็เป็นตัวเร่งกระตุ้นการเกิดโรคร้ายได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่จบอยู่ที่โรคไขมันพอกตับ แต่เป็นเพียงระยะแรกของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ดังนั้นใครที่มีพฤติกรรมดังกล่าว อย่านิ่งนอนใจ มาร่วมเรียนรู้กันเลยว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดโรคได้อย่างไร หากเป็นแล้วมีอาการอย่างไร และมีวิธีรักษาเบื้องต้นอย่างไรบ้าง
ทำความรู้จัก ‘โรคไขมันพอกตับ’ คืออะไร มีอันตรายอย่างไร?
โรคไขมันพอกตับ หรือ Fatty Liver คือ ภาวะที่มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับประมาณ 5 – 10 % ของน้ำหนักตับ เนื่องจากน้ำตาลส่วนเกินในร่างกายจนตับนำไปสร้างเป็นไขมัน Triglyceride
โดยปกติของร่างกายมนุษย์จะมีสาร ‘อินซูลิน’ ที่ผลิตจากตับอ่อน เป็นตัวควบคุมระดับน้ำตาล ยิ่งมีปริมาณน้ำตาลสูง อินซูลินก็จะถูกผลิตออกมามาก โดยมีการออกฤทธิ์ที่ตับ เซลล์ไขมันและกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดการใช้น้ำตาล
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการดื้ออินซูลิน และไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้ จนเกิดการสะสมในตับ คือ พันธุกรรม พฤติกรรม เช่น การทานอาหารน้ำตาลหรือไขมันสูง
อย่างไรก็ตามในภาวะนี้ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกเจ็บป่วยใด ๆ แต่ตับจะมีการทำงานผิดปกติ ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจพบอาการตับอักเสบ (Nonalcoholic steatohepatitis หรือ NASH) ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนนำไปสู่การสะสมของพังผืด และภาวะตับแข็ง หรือ ภาวะมะเร็งตับในที่สุด
อันตรายของโรคไขมันพอกตับยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ยังมีความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อน อย่างระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูงและเบาหวานอีกด้วย
สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์หรือไม่?
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การเป็นโรคไขมันพอกตับจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (alcoholic fatty liver disease) จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นกับประเภทของแอลกอฮอล์ ปริมาณที่ได้รับ และระยะเวลาที่ดื่มว่ายาวนานเพียงใด
2. โรคประจำตัว
สำหรับโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) มักจะเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกายที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น
นอกจากนี้ความผิดปกติของฮอร์โมนหรือการใช้ยาบางชนิดก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้ เช่น โรคไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) การใช้ยาอย่าง Tamoxifen หรือภาวะพร่อง/ขาดฮอร์โมน (Hypopituitarism)
อาการของโรคไขมันพอกตับ สังเกตได้อย่างไร?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาการของโรคมักไม่แสดง ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง แต่บางรายก็อ่อนเพลีย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวาและคลื่นไส้เพียงเล็กน้อย แถมโรคไขมันพอกตับยังเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในระยะเวลา 1 – 2 ปีอาจจะยังไม่มีปัญหา แต่จะสะสมไขมันพอกตับไปเรื่อย ๆ
คนส่วนใหญ่มักพบโรคเมื่อมีการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเข้ารับการตรวจเลือด บางรายอาจถึงระยะตับแข็งแล้วจึงตรวจพบก็ได้ ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการผิดปกติของร่างกายก็ตาม
4 ระยะของโรคไขมันพอกตับ
สำหรับระยะของภาวะไขมันพอกตับนั้นไม่ได้หยุดอยู่ที่สเตจแรก แต่จะมีความรุนแรงขึ้นไปตามระยะ ดังนี้
1. ระยะแรก
ระยะแรกเป็นการสะสมของไขมันในตับแต่อาจไม่มีการอักเสบหรือการสะสมของพังผืด
2. ระยะสอง
ระยะสองตับจะเริ่มมีอาการอักเสบ จนเกิดเป็นพังผืดภายใน หากไม่มีการรักษาหรือควบคุม เกินกว่า 6 เดือนจะนำไปสู่อาการตับอักเสบเรื้อรัง
3. ระยะสาม
ระยะสามอาการอักเสบจะรุนแรงขึ้น และเซลล์ตับถูกทำลายลงเรื่อย ๆ
4. ระยะสี่
ระยะสี่ ตับจะไม่สามารถทำงานได้ปกติเพราะเซลล์ถูกทำลายไปเยอะ จึงอาจนำไปสู่ภาวะตับแข็ง หรือเป็นมะเร็งตับได้
เสี่ยงภาวะ ‘ไขมันพอกตับ’ ควรพบแพทย์ตอนไหน?
สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์หนัก หรือชื่นชอบอาหารน้ำตาล-ไขมันสูง มีกรรมพันธุ์โรคที่เกี่ยวข้องอย่างเบาหวาน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และหากพบภาวะไขมันพอกตับ ต้องได้รับการประเมินความรุนแรงว่าอยู่ในระยะใด แม้จะไม่มีอาการก็ตาม นอกจากนี้ยังควรตรวจหาโรคที่เกี่ยวเนื่องอย่าง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไวรัสตับอักเสบซี
วิธีการรักษาภาวะไขมันพอกตับ
หนึ่งในวิธีการรักษาภาวะไขมันพอกตับในระยะแรกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การลดน้ำหนัก เพราะสามารถลดปริมาณไขมัน การอักเสบของตับ รวมถึงการสะสมของพังผืดในตับที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย โดยแพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักประมาณ 5 – 10% ของน้ำหนักตัว
โรคไขมันพอกตับ ป้องกันได้ด้วยพฤติกรรมการกินและเลี่ยงแอลกอฮอล์
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับเรื่อง ‘โรคไขมันพอกตับ’ ที่เราพามารู้จักในวันนี้ คงได้คำตอบกันแล้วว่าการดื่มแอลกอฮอล์หนัก ๆ และพฤติกรรมการกินสามารถส่งผลให้เกิดโรคได้ แถมส่วนใหญ่ก็ไม่แสดงอาการหากไม่ตรวจสุขภาพ นอกจากนี้โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือความดันโลหิตสูง ก็เสี่ยงที่จะเกิดอาการไขมันพอกตับ ดังนั้นเริ่มต้นจากการกินอย่างเหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คอเลสเตอรอลในเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ที่สายแฮงค์เอาท์ต้องระวัง
แอลกอฮอล์ Food Grade แตกต่างกับ แอลกอฮอล์ อย่างไร?