หลายคนอาจยังไม่ทราบ โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในปัจจัยของโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นได้โดยที่ไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการเพราะความดันโลหิตสูงทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้น เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและรูของหลอดเลือดแดงตีบแคบลงทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงนอกจากนี้ยังทำให้หลอดเลือดแดงขนาดเล็กในสมองโป่งพองและเกิดการปริแตกทำให้มีเลือดออกในสมองตามมานอกจากนี้ความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้เช่น โรคหัวใจวาย โรคอัมพาต โรคสมองเสื่อมหรือโรคไตวายเรื้อรังได้อีกด้วย
โรคความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดแข็ง คือ อะไร ?
โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่พบบ่อย บางรายอาจมีภาวะดังกล่าวนานหลายปีโดยไม่แสดงอาการ แต่สร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งสามารถตรวจพบความเสียหายเหล่านี้ได้ ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ เช่น หัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ความดันโลหิตสูงมักจะพัฒนาต่อเนื่องในช่วงหลายปีและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย
ส่วนภาวะหลอดเลือดแข็งที่เกิดจากจากความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดแดงสูญเสียความยืดหยุ่นไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามปกติที่สามารถเกิดได้ในทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ในภาวะปกติเมื่อหัวใจบีบตัว หลอดเลือดแดงจะมีการขยายตัวเพื่อลดความดันจากการบีบตัวของหัวใจและรับเลือดที่ส่งออกจากหัวใจห้องล่างซ้าย แต่ในภาวะที่มีการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงเมื่อหัวใจบีบตัว หลอดเลือดแดงจะขยายตัวได้น้อยลงส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจจะทำงานหนักขึ้น หัวใจขาดเลือด นำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
สาเหตุสำคัญของความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดแข็ง ที่ต้องรู้!
โดยมากกว่า 90 % เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension) มักพบได้บ่อยในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง อายุมากส่วนใหญ่กลุ่มที่ทราบสาเหตุพบได้น้อย ซึ่งเกิดได้ในผู้ป่วยที่มีโรคอยู่แล้ว เช่น โรคไต หลอดเลือดที่ไตตีบบครรภ์เป็นพิษ เนื้องอกบางชนิด โรคทางต่อมหมวกไตยาบางอย่าง เป็นต้น
ในส่วนภาวะหลอดเลือดแข็งนั้น อาจเกิดจากการทำลายผนังชั้นในของเส้นเลือดแดงซึ่งเป็นบริเวณที่มักเริ่มมีการสะสมของสารต่างๆ เช่น ไขมัน แคลเซียม โดยคราบตะกอนเหล่านี้ทำให้เลือดที่ไหลเวียนในหลอดเลือดถูกจำกัด เกิดการแข็งตัวตามมาภายหลัง เมื่อหลอดเลือดเกิดการตีบตัน เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ได้แก่
อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะเพศชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
พันธุกรรม มีพ่อ พี่ชาย หรือน้องชายเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี หรือมีแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัน และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โรคอ้วน
การสูบบุหรี่
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
ดูแลตัวเองเป็นแล้วรักษาได้ ทั้งความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดแข็ง !
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต สามารถช่วยฟื้นฟูและป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้ ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ลดการบริโภคเกลือในอาหาร
รักษาน้ำหนักให้แข็งแรง
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
จำกัดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ห้ามสูบบุหรี่
พยายามจัดการหรือลดความเครียด
ติดตามความดันโลหิตที่บ้าน
ส่วนการรักษาภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ จะเน้นเพื่อบรรเทาอาการของโรค ลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดไขมันในหลอดเลือดแดง โดยแบ่งการรักษาได้ดังนี้
การรักษาด้วยยา จะช่วยป้องกันไม่ให้ภาวะหลอดเลือดแข็งมีอาการแย่ลง เช่น ยาลดไขมันในเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อลดการก่อตัวของเกล็ดเลือดในหลอดเลือด ยาสลายลิ่มเลือดในกรณีที่ลิ่มเลือดเป็นสาเหตุทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือด ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น
การขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้ท่อบอลลูนหรือลวดตาข่าย เพื่อทำการขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบ จะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกน้อยลง หายใจได้เต็มที่ขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
การทำบายพาส เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงหลอดเลือดที่แข็งหรือเกิดการอุดตัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด
ภัยเงียบความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดแข็งที่ไม่น่ากลัว
อย่างไรก็ตามโรคความดันโลหิตสูงที่นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแข็งไม่ได้เป็นที่น่ากลัวอีกต่อไป หากผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วยทำความเข้าใจกับโรค พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่กับการเข้ารักษากับแพทย์ก็จะสามารถควบคุมโรคความดันโลหิตสูงได้ ทั้งนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือป่วยความดันความดันโลหิตสูง ไม่ได้หมายความว่าจะมีภาวะความดันโลหิตสูงเสมอไป แพทย์จะตรวจหาสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง และหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีลดความเสี่ยงไขมันในเลือดสูง ทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี ปฏิบัติตามกันได้เลย
รู้มั้ย? ปริมาณไฟเบอร์ต่อวันที่ควรได้รับมีปริมาณเท่าไหร่
จำเป็นต้องรู้สิ่งที่คนกินและสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความดันโลหิต!