เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเรื่องโรคภัยก็มักมาถามหา การดูแลสุขภาพร่างกายและเลือกรับประทานจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างภาวะ “กรดยูริกในเลือดสูง” ก็มีทั้งอาหารที่ควรรับประทานเพื่อบำรุงร่างกายและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากไม่เลือกทานอาจส่งผลให้กรดยูริกในเลือดสูง และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเก๊าต์ โรคนิ่ว และโรคไตอักเสบ
มารู้จักกับภาวะ กรดยูริกในเลือดสูง
กรดยูริก (Uric Acid) คือ ของเสียภายในร่างกายที่สามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ กรดยูริกเกิดจากการย่อยของสารพิวรีนที่มีอยู่ในเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก และเมื่อคนที่ร่างกายขับกรดยูริกออกไม่หมด ส่งผลให้เกิดการสะสมตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อเกิดการสะสมมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคเกาต์ โรคไต โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดสมอง
ข้อมูลจาก https://thainakarin.co.th/hyperuricemia-and-gout-tnh/
สำรวจภาวะ กรดยูริกในเลือดสูง
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง เป็นภาวะปกติที่สามารถพบได้บ่อย โดยทางการแพทย์กำหนดไว้ว่า เมื่อกรดยูริกในเลือดสูงเกินกว่าขีดจำกัดของความสามารถในการละลายกรดยูริก คือ 6.8 มก./ดล. ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส หมายความว่ามีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง
และหากพบแพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า กรดยูริกในเลือดสูงมากกว่า 7 มก./ดล. หมายความว่าจะเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเกาต์ และนิ่วที่ไต จึงต้องเริ่มระวังการรับประทานอาหารแม้จะยังไม่มีอาการปวดตามข้อหรือกระดูกก็ตาม ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะกรดยูกริกในเลือดสูงได้ เช่น น้ำหนัก อายุ ความดันโลหิต
6 อาหารที่ความเลี่ยง หากไม่อยากเสี่ยง กรดยูริกในเลือดสูง !
เมื่อการเลือกรับประทานอาหารส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง และลดปริมาณอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลางเพราะสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด ส่งผลให้กรดยูริกในเลือดสูง จะมีอาหารชนิดใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง ไปรู้จักพร้อมกันเลย
1. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีสารพิวรีนสูงมากกว่า 150 มก./100กรัม
เนื้อสัตว์ มีพิวรีนสูง ควรจำกัดการรับประทาน ปริมาณ 113-170 กรัมต่อวัน
เครื่องในสัตว์ ตับ ไส้ หัวใจ สมอง ส่วนนี้จะมีกรดพิวรีนสูงกว่าเนื้อสัตว์ ไม่ควรรับประทานบ่อย
สัตว์ปีก เป็ด ไก่ ห่าน นก
อาหารทะเลบางประเภท เช่น กุ้ง หอย ปลาซาร์ดีน ปลาเล็ก ไข่ปลา
ถั่ว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
น้ำสกัดเนื้อ ซุปก้อน น้ำต้มกระดูก
พืชกินยอด กระถิน หน่อไม้ ผักโขม และชะอม
กะปิ น้ำเกรวี่ ยีนส์
2. อาหารที่ควรลด มีสารพิวรีนปานกลาง 50-150 มก./100 กรัม
ปลาและอาหารทะเล เช่น ปลากระพงแดง หมึก ปู (ยกเว้น ปลาดุก ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์)
ถั่ว เช่น ถั่วลิสง ถั่วลันเตา
ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกะหล่ำ ผักโขม ใบขี้เหล็ก สะตอ
ข้าวโอ๊ต
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์ ส่งผลให้การขับกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง และระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. อาหารที่สามารถรับประทานได้ปกติ มีสารพิวรีนน้อย 0-50 มก./100 กรัม
ถั่วงอก คะน้า
ข้าวชนิดต่าง ๆ ยกเว้นข้าวโอ๊ต
ผลไม้ชนิดต่างๆ
ไข่ นมสด เนย และเนยเทียม
ขนมปัง ขนมหวาน รับประทานได้พอประมาณ
ไขมันจากพืชและสัตว์
ดูแลสุขภาพอย่างไร ห่างไกล กรดยูริกในเลือดสูง
เมื่อทราบกันแล้วว่าอาหารประเภทไหนส่งผลให้กรดยูริกในเลือดสูง ก็ควรหลีกเลี่ยงและลดปริมาณการรับประทาน นอกจากเรื่องอาหารแล้วยังมีวิธีการดูแลตัวเองอื่น ๆ ที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและลดกรดยูริกในเลือดสูงได้อีกด้วย
การลดกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่พึ่งการทานยา
1.เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูงและลดปริมาณอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง ไม่กินตามใจตัวเองเพราะอาหารบางชนิดมีสารพิวรีนที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริกในร่างกายได้นั่นเอง
2.ดื่มน้ำให้มากขึ้น ควรดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 2 ลิตรต่อวัน เนื่องจากกรดยูริกสามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้ หากปล่อยให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำอาจทำให้ขับกรดยูริกได้ลดลง และก่อให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง
3.ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนหรือไม่ผอมจนเกินไป หากลดน้ำหนักควรค่อย ๆ ลด จนได้ดัชนีมวลกายที่เหมาะสม
4.งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเหล้า เบียร์ หรือสุราที่ผ่านการกลั่น
5.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดกรดยูริกในเลือดสูงได้ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคอื่น ๆ
การลดกรดยูริกในเลือดสูงโดยการทานยา
การรับประทานยาเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยลดกรดยูริก แต่ควรได้รับการแนะนำการใช้ยาจากแพทย์เพื่อความเหมาะสมต่อร่างกายของแต่ละคน และยาแต่ละชนิดหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจเกิดข้อเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเพิ่มหรือลดปริมาณยาเอง
สุขภาพดีปลอดภัย ห่างไกลกรดยูริกในเลือดสูง
จากข้อมูลที่เรานำมาฝากกันวันนี้ก็ทำให้ทราบกันแล้วว่าเมื่ออายุมากขึ้นสุขภาพก็เริ่มถดถอย การดูแลรักษาร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถมีสุขภาพดีห่างไกลภาวะกรดยูริกในเลือกสูงได้ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่ส่งผลเสียเพิ่มต่อร่างกายและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการหมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี อยากสุขภาพดีเริ่มได้ที่ตัวเรา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กินหน่อไม้ มีประโยชน์ หรือ ควรเลี่ยง ?
โรครูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบเรื้อรัง ภัยเงียบที่ทำลายกระดูกและข้อ!