ดูแลอย่างไร ให้ดีต่อใจและร่างกายผู้สูงอายุ
การดูแลผู้สูงอายุด้วยความรัก ความใส่ใจ และการดูแลอย่างถูกวิธี เป็นสิ่งสำคัญมากต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ถ้าหากขาดการดูแลที่ดี อาจเป็นผลทำให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคที่เกิดจากสภาพจิตใจ และสุขภาพกายก็อาจมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นที่จะเกิดโรคหรืออุบัติเหตุ รวม 10 วิธีดูแลผู้สูงอายุ ดูแลอย่างไรให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแข็งแรง
การดูแลผู้สูงอายุ 10 วิธี ที่ดีต่อผู้สูงอายุและครอบครัว
วิธีการดูแลผู้สูงอายุ 10 วิธี คือ จัดการ ดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม จัดการเรื่องอาหารการกินให้เหมาะสม ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม ส่งเสริมการออกกำลังกาย พาออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ หางานอดิเรกช่วยบริหารสมอง ออกไปพบปะสังคม รับประทานยาให้ถูกต้องและตรงเวลา และใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
1 . จัดการ ดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม
ในวัยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อยากใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากกว่า เพราะ
- ต้องการความอิสระและความเป็นอยู่ที่ดี
- มีความคุ้นเคยกับการอยู่บ้านมากกว่า
- มีความคุ้นเคยกับเพื่อนบ้านและสิ่งแวดล้อมมากกว่า
- ไม่อยากมีอาการคิดถึงบ้าน (Homesick) ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
แหล่งที่พักพิงอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญมาก และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีความต้องการไปอยู่บ้านพักคนชราหรืออาจไม่ต้องการให้มีคนดูแลที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เพราะฉะนั้น การให้ความเคารพการตัดสินใจของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงผู้สูงอายุอารมณ์แปรปรวนได้อีกด้วย
2 . จัดการเรื่องอาหารการกินให้เหมาะสมกับวัยสูงอายุ
เมื่อมีอายุมากขึ้น อาหารการกินก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะสภาพร่างกายที่เสื่อมลง ระบบทางเดินอาหาร ระบบเผาผลาญแย่ลง การดูดซับสารอาหารเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถทานอาหารได้ในระดับที่พอดีต่อร่างกายหรือทานได้น้อยจนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ที่พอดี เพราะฉะนั้น การดูแลโภชนาการให้เหมาะสมสำหรับวัยสูงอายุต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยการรับประทานอาหารครับ 5 หมู่ ไม่ทานของทอดหรือของมัน รสชาติไม่หวานและไม่เค็ม เน้นอาหารที่มีไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอ
3 . ดูแลเรื่องน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักน้อยหรือมากเกินไป
ผู้สูงอายุกับน้ำหนัก ดูแลยากกว่าที่คิด การที่ผู้สูงอายุน้ำหนักน้อย ก็อาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารหรือขาดโภชนาการที่สำคัญไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม หากน้ำหนักมากจนเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกันทั้งในเรื่องของกระดูก กล้ามเนื้อ เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
4 . ดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้าน
ด้วยอายุที่มากขึ้น ความคล่องแคล่วในการขยับร่างกายอาจไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ผู้สูงอายุบางคนต้องใช้เวลาเยอะในการเดิน บางคนอาจต้องใช้ไม่เท้า หรืออาจต้องนั่งรถเข็น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุต้องมาก่อนเสมอ
- ทำให้บ้านมีที่ว่างมากขึ้น ขจัดสิ่งกีดขวางหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำให้การเดินในบ้านลำบาก เกะกะ ทำให้ผู้สูงอายุขยับได้อย่างอิสระมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการกระแทกได้อีกเช่นกัน
- ใช้เตียงพยาบาล นอกจากความสะดวกสบายของผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยใแก้ปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ให้นอนหลับได้ดีขึ้นด้วย
- ทำที่จับ ภายในบ้านและห้องน้ำ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุปลอดภัยมากขึ้น
5 . ดูแลร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
การออกกำลังกายลดน้ำหนักผู้สูงอายุ เป็นเหมือนยาอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในทุกเพศทุกวัย ผู้สูงอายุก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สุขภาพกายแข็งแรงขึ้น เช่น ช่วยในเรื่องของความดันโลหิต ทำให้ข้อต่อแข็งแรง เสริมกล้ามเนื้อและทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น ก็ช่วยในเรื่องของสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุจะแตกต่างจากคนวัยอื่น เพราะผู้สูงอายุบางคนไม่อาจออกกำลังกายหนัก ๆ ได้ การออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุคือการออกกำลังกายแบบเบา เช่น การวิ่งสลับเดินเป็นเซต หรือโยคะ เป็นต้น
6 . พาผู้สูงอายุออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าง
การพาผู้สูงอายุออกไปเที่ยว ก็เป็นวิธีแก้เหงาผู้สูงอายุอีกวิธีหนึ่ง ที่ช่วยลดความตึงเครียดลง เสริมความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และยังได้ออกกำลังกายจากการเดินด้วยเช่นกัน สำหรับผู้สูงอายุก็อาจจะเดินทางไกลไม่ได้ การพาผู้สูงอายุเที่ยวเช้าเย็นกลับ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไกล ก็เป็นทางเลือกที่ดี
7 . งานอดิเรก ดูแลสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพทางจิต และช่วยป้องกันสมองเสื่อม งานอดิเรกก็เป็นวิธีการรักษาที่ดี เพราะสามารถทำให้ผู้สูงอายุได้บริหารสมองมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นวิธีแก้เหงาผู้สูงอายุที่ดี ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน เช่น การปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ทำอาหาร เป็นต้น
8 . ชวนออกไปพบปะสังคม
ผู้สูงอายุที่อยู่แต่ในบ้าน มีโอกาสสูงที่จะทำให้รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตอย่างมาก การผลักดันให้ผู้สูงอายุได้ออกจากบ้าน เข้าสังคมมากขึ้น พบปะเพื่อนบ้านหรือพาไปเยี่ยมหลาน เยี่ยมญาติ จะลดโอกาสจากปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากความเหงาและความโดดเดี่ยวได้
9 . รับประทานยาให้ถูกต้อง ตรงเวลา ไม่พลาดนัดหมอ
ผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งบางโรคก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องฉีดยาหรือทานยาให้ตรงเวลาและต่อเนื่อง ต้องได้รับการตรวจแพทย์อย่างเข้มงวด ถ้าพลาดตรงนี้ไป ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงของยาหรือโอกาสที่จะทำให้โรคกำเริบก็มีสูง เพราะฉะนั้น ป้องกันไว้จะดีกว่าแก้ไขทีหลังเสมอ
10 . ใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้ได้มากที่สุด
การอยู่ด้วยกัน ได้พูดคุยกัน ก็เป็นการดูแลผู้สูงอายุเหมือนกัน มันแสดงให้เห็นว่าเรารัก สนใจและเป็นห่วงเสมอ
การใส่ใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งดีเสมอ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการใส่ใจและการดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งการดูแลที่ดี จะช่วยให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้นเช่นกัน
อ่านบทความเพิ่มเติม :
ประสาทหูเสื่อม อาการเป็นอย่างไร ปัญหาการได้ยินของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุขึ้นเครื่องบิน เตรียมเที่ยวให้ปลอดภัยทุกการเดินทาง