โรคเบาหวานในผู้สูงอายุ ต้องได้รับการดูแลอย่างดี
โรคเบาหวาน เป็นโรคหนึ่งที่พบบ่อยในวัยสูงอายุที่มีปัจจัยจากระดับการสร้างน้ำตาลในเลือด และโรคเบาหวาน ก็เป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้สุขภาพแย่ลงอย่างหนักได้และต้องได้รับการรักษาอย่างดี และเป็นโรคที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ เพราะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนชนิดอื่นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การดูแลโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรปล่อยผ่าน ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนโรคเบาหวาน ต้องดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงอาการร้ายกำเริบ
ระดับน้ำตาลในเลือดกับโรคเบาหวาน
เมื่อเรารับประทานอาหาร ร่างกายของเราจะเปลี่ยนอาหารเหล่านั้นเป็นน้ำตาลที่เรียกว่ากลูโคส (Glucose) ซึ่งกลูโคสนี้จะเป็นพลังงานให้เราใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้กลายเป็นพลังงาน ตัวแปรอย่างหนึ่งที่สำคัญของร่างกายคืออินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน เมื่อเป็นโรคเบาหวาน ร่างกายอาจไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถใช้งานอินซูลินได้อย่างถูกทาง ร่างกายต่อต้านอินซูลิน หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ทำให้มีน้ำตาลติดค้างในเลือดสูงเนื่องจากไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานโดยอินซูลิน ทำให้เป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
ประเภทของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
โรคเบาหวานชนิดที่ 1
ในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 : ร่างกายส่วนตับอ่อนจะไม่สร้างอินซูลิน ซึ่งผู้สูงอายุสามารถเกิดโรคเบาหวานชนิดนี้ได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ง่ายกว่าในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 : ตับอ่อนยังสามารถผลิตอินซูลินออกมาได้ แต่ผลิตได้ไม่เพียงพอหรือมีอาการดื้ออินซูลิน ซึ่งพบเห็นได้เยอะในวัยผู้กลางคนและวัยสูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคเบาหวาน ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ง่ายกว่า
ทำไม โรคเบาหวานจึงพบบ่อยในผู้สูงอายุ รวมถึงปัญหาที่มากับโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานสามารถพบได้บ่อยกว่าในผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมลง ทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลงหรือร่างกายต่อต้านอินซูลินมากขึ้น ทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานได้ ซึ่งเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั่นเอง
นอกจากนี้ โรคเบาหวานในผู้สูงอายุยังเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกเช่นกัน อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคตับ โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคเหล่านี้ ทำให้ผู้สูงอายุต้องรับประทานยามากยิ่งขึ้น เป็นเหตุผลให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเหล่านี้ ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อให้ยาที่ลงท้องไม่ส่งผลเสียกับร่างกายจนเกินไป
และโรคเบาหวานในผู้สูงอายุ ก็อาจมีปัญหาข้างเคียงอื่น ๆ ควบคู่ด้วย เช่น ผู้สูงอายุอารมณ์แปรปรวน โรคซึมเศร้า การสูญเสียความทรงจำ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การมองเห็นไม่ดีเท่าเดิม หรือร่างกายมีความเจ็บปวดถาวร
ผู้สูงอายุเป็นโรคเบาหวาน ดูแลระดับน้ำตาลอย่างไรให้ปลอดภัยหายห่วง
ผู้ป่วยโรคเบาหวานในผู้สูงอายุ มีวิธีการดูแลให้ปลอดภัย เช่น การรับประทานยาให้ตรงเวลา เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม หมั่นออกกำลังกาย ติดตามระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวด พยายามลดระดับความเครียดให้ได้มากที่สุด
- รับประทานยาให้ตรงเวลา
ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจสั่งยาให้หลายอย่าง เช่นยาแอลฟา กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase inhibitors) และยาประเภทอื่น ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ซึ่งผู้สูงอายุต้องรับประทานยาเหล่านั้นให้ตรงเวลาถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการ และยาก็อาจมีผลข้างเคียงที่ตามมา เพราะฉะนั้น ต้องดูแลเรื่องการรับประทานยาเป็นพิเศษ
- เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมนั้นสำคัญอย่างมากในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เช่น การเลือกทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำหรืออาหารลดน้ำตาลในเลือด รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูง เลือกรับประทานธัญพืช ผัก เลี่ยงอาหารจำพวกนม อาหารที่มีไขมันสูง ผลไม้น้ำตาลสูง ของทอดและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานในวัยสูงอายุก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
- หมั่นออกกำลังกาย
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรออกกำลังกายเป็นประจำ แนะนำให้ออกกำลังกาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ รวมถึงมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักด้วยเช่นกัน การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ควรออกกำลังกายแบบพอดี ไม่หนักจนเกินไป อย่างเช่นการเดินสลับวิ่ง หรือการเล่นโยคะ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาหนทางการออกกำลังกายที่ไม่กระทบต่อร่างกาย เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ เพื่อให้การออกกำลังกายไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- ติดตามระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวด
ในผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าปกติ (126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าค่าปกติ (ต่ำหรือต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ต้องดูแลและติดตามระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ หากผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่สามารถตรวจระดับน้ำตาลของตัวเองด้วย คนรอบข้างจะต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันปัญหาทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่อาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้
- พยายามลดความเครียดลง
ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาจทำให้มีความเครียดสะสม ซึ่งความเครียดก็สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาเวลาเครียด และเป็นพลังงานในรูปแบบของน้ำตาล การลดความเครียดลงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้โดยการหากิจกรรมที่สามารถทำได้ทุกวัน เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ สัตว์เลี้ยงก็สามารถช่วยลดระดับความเครียดได้เช่นกัน
ปัญหาโรคเบาหวานในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่ต้องดูแลอย่างละเอียด รอบคอบ และต้องใส่ใจอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเบาหวานมีอาการแย่ลงกว่าเดิม และเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนชนิดอื่นขึ้นมา เพราะฉะนั้น ต้องดูแลอย่างดี เพราะป้องกันไว้ ดีกว่าแก้เสมอ
อ่านบทความเพิ่มเติม :
โรคนอนไม่หลับ เพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
7 สาเหตุโรคเบาหวาน ระดับของโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง?
โรคเบาหวาน หากดูแลไม่ดี อาจเสี่ยงตัดขา !