สถิติ สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ในปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ทุกๆ 1 นาทีจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และคาดการณ์กันว่าในปี 2573 นั้น จะมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็ง 27 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด 75 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 17 ล้านคน
70% ของผู้ที่เป็นมะเร็งนั้นอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยที่ 50% นั้นอยู่ในทวีปเอเชีย และโดยเฉลี่ยแล้วคนทั่วโลก 5 คนจะมีโอกาสเป็นมะเร็ง 1 คน หรือ 20% เลยทีเดียวค่ะ
สำหรับประเทศไทยนั้น โอกาสที่คนไทยจะเป็นมะเร็งนั้นคือ 1 ใน 6 ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับออสเตรเลีย (1 ใน 2) สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเกาหลีใต้ (1 ใน 3) ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ (1 ใน 4) และแอฟริกาใต้ (1 ใน 5)
แต่ถ้าเรามาดูอัตราการเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งแล้วจะพบว่า คนไทยเรามีอัตราการตายที่สูงคือ 1 ใน 9 เท่ากับแอฟริกาใต้ ในขณะที่อังกฤษมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าเราคือ 1 ใน 10 ส่วนอเมริกาและออสเตรเลียมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ใน 11 ส่วนญี่ปุ่นมีอัตรา 1 ใน 12 และเกาหลีใต้อยู่ที่ 1 ใน 13 ค่ะ มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราการตายสูงกว่าเราคือ 1 ใน 8
ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง … ทำไมในต่างประเทศถึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเยอะ แต่มีอัตราการตายจากมะเร็งที่ต่ำกว่า ...
สาเหตุหลักเลยก็คือว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น การค้นพบการเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้นนั้นดีกว่าเรา และการเข้าถึงการรักษาก็ดีกว่าในประเทศเราค่ะ …
ในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น มะเร็งที่พบบ่อยคือมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากมีการกินดีอยู่ดี บริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอกเอย แฮมเอย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทั้งนั้น …
UNDP ได้มีการคำนวณดัชนีชี้วัดความเจริญหรือที่เรียกว่า Human Development Index และพบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีการกินดีอยู่ดี การศึกษาดี รายได้ดี ประชากรจะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงเนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตค่ะ หรืออาจกล่าวได้ว่า Lifestyle ทำให้คนเป็นมะเร็งมากกว่าการติดเชื้อซะอีกนะคะ …
สำหรับประเทศไทยนั้น มะเร็งถือเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2542 แล้วค่ะ โดยมีประชากรเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 104.5 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และในปี 2561 ที่ผ่านมา มีประชากรไทยถูกวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นมะเร็ง 170,500 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 114,200 คน
สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายไทย 5 อันดับแรกได้แก่ ตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก และต่อมน้ำเหลือง ตามลำดับ ในขณะที่มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ เต้านม ตับ ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ และปอด ตามลำดับ
มะเร็งตับและมะเร็งปอดที่ติดอันดับ Top 5 นั้น ก็เพราะว่าตรวจพบได้ยากค่ะ ส่วนมะเร็งเต้านมที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นนั้น มาจาก 3 สาเหตุหลักได้แก่การมีลูกคนแรกเมื่อมีอายุมาก การมีลูกน้อยลง และการให้นมแม่น้อยลงค่ะ สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยในเด็กไทย ได้แก่มะเร็งเม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง และสมอง ตามลำดับ
ประเทศไทยยังครองแชมป์มะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีอันดับ 1 ของโลกด้วยนะคะ เนื่องมาจากคนไทยส่วนหนึ่งชอบกินปลาน้ำจืดดิบซึ่งมีพยาธิใบไม้และปลาร้าซึ่งมีสารไนไตรต์ที่ก่อมะเร็งด้วยค่ะ
สารก่อมะเร็ง ภัยใกล้ตัว
ผลจากการศึกษาวิจัยจากมนุษย์ สัตว์ทดลอง และการทดลองต่างๆ ในห้อง Lab นั้น ได้แบ่งสารก่อมะเร็งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้ค่ะ
กลุ่ม 1 – “เป็น”สารก่อมะเร็ง ได้แก่ เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก ซาลามี่ การบริโภคเบคอน 2 ชิ้นครึ่งอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เรามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 18% เลยนะคะ
กลุ่ม 2A – “น่าจะเป็น”สารก่อมะเร็ง ได้แก่ เนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อแดง คือเนื้อแกะ เนื้อแพะ เนื้อหมู ซึ่งทำให้เรามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งประมาณ 17%
กลุ่ม 2B – “อาจจะเป็น”สารก่อมะเร็ง ได้แก่ โทรศัพท์ จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้นนะคะ
กลุ่ม 3 – “ไม่น่าจะเป็น”สารก่อมะเร็ง
กลุ่ม 4 – “ไม่ใช่”สารก่อมะเร็ง
นอกจากนี้แล้ว ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่ทำงานกลางคืน เช่น แพทย์ พยาบาล มีโอกาสในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนปรกติ ในขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้ เนื่องมาจากเป็น Secondhand smoker การหายใจสูดเอาควันไฟเข้าไป รวมถึงการได้รับควันจากการทำอาหาร มลพิษทางอากาศ มลพิษทางอุตสาหกรรม แร่ไยหิน หรือกาซเรดอนค่ะ
รู้เรา – เข้าใจปัจจัยเสี่ยง
“การรบชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง …”
ความเชื่อเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ แต่ความจริงจะทำให้เราสามารถป้องกันมะเร็งได้นะคะ …
เรามักเชื่อว่ามะเร็งไม่มีอาการบ่งบอก แต่อันที่จริงแล้ว มะเร็งหลายชนิดมีอาการเตือนที่ทำให้เราสามารถจะค้นพบได้ในระยะเริ่มแรก เราจึงควรใส่ใจกับสัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราค่ะ
7 สัญญาณเตือนหรือที่ใช้ตัวย่อว่า CAUTION มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
C – Change in bowel or bladder habits ระบบขับถ่ายเปลี่ยนไปจากเดิม
A – A sore that does not heal แผลที่รักษาไม่รู้จักหาย ทั้งแผลภายในและภายนอก
U – Unusual bleeding or discharge ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล
T – Thickening or lump in the breast or elsewhere ร่างกายมีก้อนหรือตุ่มเกิดขึ้น
I – Indigestion or difficulty in swallowing การกลืนอาหารมีความยากลำบาก
O – Obvious change in warts or moles มีไฝหรือหูดที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะไฝดำ
N – Nagging cough or hoarseness มีอาการไอและเสียงแหบเรื้อรัง
เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งมาจากพฤติกรรมของเรา สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา และพันธุกรรมของเราเอง ดังนั้น หากเราใช้ชีวิตให้ฉลาด ให้ถูกต้อง โอกาสในการเป็นมะเร็งของเราก็จะลดตามไปด้วยค่ะ …
5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง
5 ทำ จำขึ้นใจ
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งหากทำจนเป็นกิจวัตร ก็จะสามารถช่วยลดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนด้วยค่ะ
- การทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด สมาธิช่วยได้นะคะ
- การกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารที่เรากินในแต่ละมื้อ (ไชโย กินทุเรียนครึ่งจานได้ในแต่ละมื้อโดยไม่รู้สึกผิดอีกต่อไปหล่ะค่ะ …)
- การกินอาหารที่หลากหลาย ไม่กินอาหารซ้ำซ้ำเป็นประจำ เพราะทุกอย่างใช้เวลาในการสะสม ปลาร้า อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง อาหารแปรรูป ไม่แนะนำนะคะ วิตามิน C ช่วยได้ค่ะ เนื้อสัตว์ไม่ควรกินเกินครึ่งกิโลต่อสัปดาห์นะคะ
- การตรวจร่างกายเป็นประจำ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยป่วยเจ็บก็ตามค่ะ
5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง
- ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ 86% ของมะเร็งปอดเกิดจากควันบุหรี่นะคะ
- ไม่มั่ว Sex ดูจากคุณไมเคิล ดักกลาสเป็นตัวอย่างค่ะ
- ไม่ดื่มสุรา ผู้ที่ดื่มเหล้ามากในแต่ละวัน มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มชัดเจนค่ะ
- ไม่ตากแดดจ้า แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ใช้ครีมกันแดด SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไปด้วยนะคะ
- ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ ในปลาน้ำจืดดิบมีพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งทำให้เราเป็นมะเร็งตับได้ค่ะ
มะเร็งรักษาได้
การรักษามะเร็ง ต้องรักษาทั้งโรคและรักษาทั้งคน กล่าวคือรักษาเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลง และรักษาจิตใจคนที่ป่วยเป็นมะเร็งควบคู่กันไป การรักษามะเร็งในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 5 แบบดังนี้ค่ะ
- การผ่าตัด โดยการใช้กล้องเข้าไป หรือใช้มือหุ่นยนต์ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยรักษาอวัยวะส่วนดีเอาไว้
- การฉายแสง ความร้อนที่ 42 องศาขึ้นไป มะเร็งจะตายหมดค่ะ ด้วยเหตุนี้ คนที่ป่วยและมีไข้ขึ้น มะเร็งก็จะหยุดชั่วคราว
- การใช้เคมีบำบัด การใช้ยาเคมีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ยาเคมีนี้จะส่งผลต่อเซลล์ปรกติด้วยนะคะ
- การพุ่งเป้า การฉายแสงเฉพาะจุดเพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีข้อดีคือส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นน้อย
- ภูมิคุ้มกันบำบัด การให้ยาเพื่อเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมาจัดการกับเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
เนื่องจากเรากำลังทำสงครามต่อสู้กับมะเร็ง เราจึงต้องวางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ มีการประเมินวิธีที่จะใช้ สนธิกำลังกัน เพื่อให้ได้ชัยชนะในที่สุดค่ะ
ในการทำสงครามนั้น อย่าลืมคำว่า Collateral Damage ด้วยนะคะ ในสงครามนั้น ไม่มีผู้ใดไม่ได้รับความเสียหาย แต่ทำอย่างไรจะทำให้เราเสียหายน้อยที่สุด ถ้าเราไม่เริ่มสงคราม ความเสียหายอาจจะไม่เกิด ป้องกันไว้จึงดีกว่ามาแก้ไขในภายหลังค่ะ
องค์การอนามัยโลกได้จัดระดับในการป้องกันมะเร็งไว้ 3 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 ระดับปฐมภูมิ คือการป้องกันที่สาเหตุ หรือการรบโดยไม่ต้องรบ ขั้นที่ 2 ทุติยภูมิ คือการตรวจหามะเร็งในระยะแรกเริ่ม และขั้นที่ 3 ตติยภูมิ คือการรักษาให้หายขาดจากมะเร็งค่ะ
เนื้อหาการบรรยายในวันนี้กล่าวได้ว่าเป็นการป้องกันมะเร็งในขั้นแรก คือการรบโดยไม่ต้องรบ หากเรามีความรู้ความเข้าใจในสาเหตุที่มาของการเกิดมะเร็ง เราก็จะสามารถใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากมะเร็งได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ สำหรับการบรรยายที่มีเนื้อหาสาระอัดแน่นและเป็นประโยชน์อย่างมากกับพวกเราค่ะ
สรุปการบรรยายและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์