การบรรยายหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 (Health Ambassador 2) มีหัวข้อการบรรยายคือ “สาเหตุและกลไกการเกิดโรคมะเร็ง” ผู้บรรยายคือศาสตราจารย์ นายแพทย์ มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Gene คนหนึ่งของประเทศไทย และเป็นกรรมการของโครงการ Genomic Thailand ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ตรวจ Gene ของคนไทย 50,000 คน เพื่อเป็นฐานข้อมูลของประเทศในด้านต่างๆ ในอนาคตด้วยค่ะ
ความท้าทายและความคาดหวัง
อาจารย์มานพเริ่มต้นการบรรยายด้วยการพูดถึงความท้าทายในการบรรยายครั้งนี้ค่ะ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วอาจารย์จะบรรยายในแวดวงหมอเป็นส่วนใหญ่ ศัพท์แสงเฉพาะทางการแพทย์จึงถือเป็นเรื่องปรกติ แต่การมาบรรยายให้ผู้บริหาร “ที่ไม่ได้เป็นหมอ” ฟังในวันนี้ และสามารถทำให้พวกเราเข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์บรรยายนั้น ถือเป็นเรื่องกดดันและเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของอาจารย์ค่ะ ว่าจะทำอย่างไรให้เรื่อง “ยาก” กลายเป็นเรื่อง “ง่าย”
อาจารย์มีความคาดหวังว่าเมื่อจบการบรรยายในวันนี้แล้ว พวกเราจะเข้าใจกลไกของการเกิดมะเร็งได้และใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เพื่อจะได้สามารถป้องกันและตัดขั้นตอนที่จะทำให้เกิดมะเร็ง หรือถ้าหากเป็นมะเร็งแล้วและมีความเข้าใจในสาเหตุที่มาของการเกิดมะเร็ง ก็จะได้วางแผนการรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที (ฟังอาจารย์พูดแล้วก็แอบคิดต่อทันทีว่า นี่คือแนวคิดของการบริหารความเสี่ยงเลยทีเดียวเชียว หาสาเหตุที่มา แล้วหาวิธีป้องกัน แต่ถ้าป้องกันไม่ได้ ก็หาวิธีลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หลักการเดียวกันยังไงยังงั้นเลย …)
นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ยังคาดหวังว่าพวกเราจะอาศัยองค์ความรู้ที่ได้ไปเปลี่ยนความเชื่อของการเป็นมะเร็ง โดยการมองทุกอย่างให้ง่าย ตรงไปตรงมา ถ้าป่วยเป็นมะเร็ง ก็สามารถจะยอมรับได้ทั้งผู้ป่วยทั้งคนรอบข้าง เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโรคมะเร็งให้เหมือนกับมุมมองที่มีต่อโรคเบาหวาน ความดัน เส้นเลือดตีบ ที่พูดกันแบบเปิดเผยได้ เพราะในตอนนี้หากมีคนใกล้ตัวป่วยเป็นมะเร็ง คนรอบตัวก็มักจะพูดว่า “อย่าบอกเจ้าตัวนะ เดี๋ยวเค้าจะรับไม่ได้ว่าเค้าเป็นมะเร็ง กำลังใจจะหมด …”
ทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติ
มนุษย์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการสูงสุดซึ่งพัฒนามาจากสัตว์เซลล์เดียว และเมื่อพูดถึงวิวัฒนาการก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติซึ่งคุณชาร์ลส์ ดาร์วิน บิดาแห่งวิวัฒนาการ เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาค่ะ
วิวัฒนาการของมนุษย์นั้น เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างแล้วทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นเกิดความได้เปรียบเกิดขึ้นมา ซึ่งในอดีตนั้น ความได้เปรียบเหล่านี้ก็คือความได้เปรียบในการอยู่รอดและการสืบเผ่าพันธุ์
ดังนั้น หากมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นกับมนุษย์กลุ่มใดและทำให้ร่างกายมีความแข็งแรง สามารถหาอาหารและสืบพันธุ์ได้ ก็จะช่วยให้มนุษย์กลุ่มนั้นมีโอกาสในการมีลูกมีหลาน เพื่อสืบทอดคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป คนที่มีคุณสมบัติพิเศษกลุ่มนี้ก็จะมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งอาจารย์ได้เปรียบเทียบว่า มีลักษณะทำนองเดียวกับ Upline ของระบบขายตรงที่มีการสร้างเครือข่ายของลูกทีมเพื่อจะได้ takeover ธุรกิจกันเป็นทอดทอดต่อกันไปค่ะ …
การเกิดคุณสมบัติพิเศษนี้เป็นการเกิดแบบสุ่ม กล่าวคือเป็นการเกิดที่ไม่ได้มีรูปแบบชัดเจนหรือเฉพาะเจาะจง และการเกิดคุณสมบัติพิเศษนี้จะทำให้เกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา
มะเร็งก็เช่นกันค่ะ มะเร็งเป็นเซลล์ที่เป็นเนื้อเยื่อของเราเองที่เกิดอะไรก็ไม่รู้ทำให้เซลล์เหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษที่มีความได้เปรียบกว่าเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยเจ้ามะเร็งหรือเนื้อร้ายนั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่ต่างไปจากเนื้อดีอยู่ 2 อย่าง
- โตเร็วกว่าชาวบ้าน และโตไม่หยุดด้วย มะเร็งเป็นเซลล์ที่กินเก่ง ได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงเยอะค่ะ (Uncontrolled Growth)
- เบียดเบียนชาวบ้าน (เซลล์อื่น) และแพร่กระจายได้ (Invasiveness / Spreading)
วงจรของเซลล์
เซลล์แต่ละเซลล์นั้นจะมีการเติบโตและแบ่งตัวเป็นเซลล์ลูก และการแบ่งตัวนี่แหละค่ะคือจุดเริ่มต้นของการเกิดมะเร็ง เซลล์ที่แบ่งตัวได้เยอะก็จะมีโอกาสในการแบ่งตัวที่ผิดเพี้ยนไปจากปรกติ และมีโอกาสเกิดมะเร็งได้มาก ในขณะที่เซลล์ที่ไม่ค่อยแบ่งตัว ก็ไม่ค่อยมีโอกาสเป็นมะเร็ง (ทำนองเดียวกับการอยู่เฉยเฉย ไม่ทำอะไรก็ไม่ผิด ขยันมากไฮเปอร์มากทำนู่นทำนี่ ก็มีโอกาสทำถูกมากทำผิดมากไงคะ …)
เซลล์ที่มีการแบ่งตัวมาก ก็คือพวกเยื่อบุลำไส้ เม็ดเลือด ผิวหนัง เต้านม ซึ่งเป็นอวัยวะที่พบเจอมะเร็งได้บ่อย ในขณะที่เซลล์ที่มีการแบ่งตัวน้อย พวกสมองและระบบประสาท มักไม่ค่อยพบมะเร็งเท่าไหร่ค่ะ
มะเร็งที่เกิดขึ้นที่แต่ละอวัยวะ เป็นโรคคนละโรคกันนะคะ เพียงแต่ว่ามะเร็งเหล่านี้มีความเหมือนคือเป็นเซลล์ที่ได้คุณสมบัติพิเศษมาเหมือนกันซึ่งก็คือโตเร็วและเบียดเบียนเซลล์อื่น คำว่า “มะเร็ง” จึงเป็นคำที่เราเหมารวมเอาโรคเป็นร้อยชนิดรวมเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ การรักษามะเร็งจึงมีความซับซ้อน เพราะเราไม่สามารถใช้วิธีการรักษาเดียวกับโรคร้อยแบบหรือมะเร็งร้อยชนิดได้ค่ะ
ถึงแม้มะเร็งจะมีคุณสมบัติเหมือนกันคือโตเร็วและเบียดเบียนเซลล์อื่น แต่กลไกการทำงานของการกลายพันธุ์ใน DNA เนื่องมาจากการโตเร็วและการเบียดเบียนเซลล์อื่นนั้น จะแตกต่างกันไป การกลายพันธุ์บางอย่างอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ทันที ในขณะที่การกลายพันธุ์บางประเภทอาจมีการสะสมแล้วออกฤทธิ์อาละวาดในภายหลังค่ะ
เวลาที่เซลล์แบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 นั้น จะมีการทำสำเนาเกิดขึ้น มนุษย์ 1 คนจะมีรหัส DNA อยู่ 3 พันล้านตัวอักษรใน 1 เซลล์ และเวลาที่เซลล์แบ่งตัวและมีการทำสำเนา นั่นก็หมายความว่ารหัส DNA 3 พันล้านตัวนั้นจะต้องมีการถูกทำสำเนากันค่ะ ในการทำสำเนา 3 พันล้านตัวนั้น ก็ย่อมจะมีการทำสำเนาผิดเพี้ยนไปบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนทำนองให้ท่องชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ ไปเรื่อยๆ จนจบสักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ท่องไปเรื่อยๆ ซัก 100 ครั้ง 1,000 ครั้ง เราก็คงจะมีพูดผิดบ้างโดยไม่ได้ตั้งใจ
การทำสำเนาผิดเพี้ยนนี้คือต้นกำเนิดของวิวัฒนาการ การทำสำเนาผิดเพี้ยนบางส่วนเป็นสิ่งดี เพราะทำให้เกิดวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ขึ้นมา แต่การทำสำเนาผิดบางครั้งก็ทำให้เกิดเรื่อง คือการกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง ดังนั้น การที่จะบอกว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นกับมุมมองค่ะ ถ้ามองในมุมของผู้ได้รับผลกระทบ การโตเร็วและโตไม่หยุดของมะเร็งเป็นสิ่งไม่ดี แต่หากมองในมุมอื่น เช่น การทำธุรกิจ การโตเร็วและโตไม่หยุดของธุรกิจกลับกลายเป็นสิ่งดี … น่าคิดอยู่นะคะ …
สมดุลในการเติบโตของเซลล์
Gene ของเรานั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1) Gene ที่กระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัว และ 2) Gene ที่ยับยั้งการแบ่งตัว ยีนส์กลุ่มแรกนั้นเรียกว่า Oncogenes หรือ “ยีนส์ที่ก่อมะเร็ง” เพราะทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์เติบโตได้ดี ในขณะที่ยีนส์กลุ่มหลังนั้นเรียกว่า Tumor Suppressor Genes หรือ “ยีนส์ต้านมะเร็ง” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไม่ให้เซลล์มะเร็งโตจนเกินไป
ยีนส์แต่ละกลุ่มนั้นมีจำนวนมาก และยีนส์ทั้ง 2 กลุ่มนี้จะทำงานอยู่ตลอดเวลา สมดุลของยีนส์ทั้ง 2 กลุ่มเป็นอย่างไรขึ้นกับการทำงานของทั้ง 2 กลุ่มค่ะ ถ้ายีนส์ก่อมะเร็งทำงานมาก และยีนส์ต้านมะเร็งทำงานน้อย ก็จะทำให้เป็นมะเร็งได้ เนื่องจากสมดุลของคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อคนเป็นโรคมะเร็ง การกลายพันธุ์ก็จะเกิดขึ้นไม่เหมือนกัน เนื่องมาจากสมดุลที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะเกิดที่อวัยวะเดียวกันก็ตามที
การกลายพันธุ์ไปสู่มะเร็งนั้นมีความซับซ้อนและเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลายขั้นตอน กว่าเซลล์ปรกติจะเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ ต้องผ่านกระบวนการที่ใช้เวลาค่ะ อาจารย์ถึงได้บอกว่า เรามีเวลาในการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันและรักษามะเร็งไงคะ …
“Driver Mutation” คือศัพท์ที่ใช้เรียกการกลายพันธุ์ที่เร่งเครื่องให้เซลล์ปรกติกลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็ง ซึ่งเราสามารถจะรู้ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรม ค่าใช้จ่ายที่คุณ Steve Jobs จ่ายไปเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมตัวเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในตอนนี้ลงมาอยู่ที่ 5 หมื่นถึง 1 แสนบาทสำหรับโรงพยาบาลของรัฐค่ะ
ต้นกำเนิดของยีนส์ก่อมะเร็ง
ทราบหรือไม่คะว่า ต้นกำเนิดของยีนส์ก่อมะเร็งนั้น ค้นพบมาจากการศึกษาไก่ เนื่องจากมีการสังเกตพบว่าไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มนั้น ถ้ามีไก่ 1 ตัวป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือด ไก่ทั้งฟาร์มก็จะป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดในเวลาหลังจากนั้นเพียงไม่กี่อาทิตย์ …
จากข้อสังเกตนี้ คุณหมอ Peyton Rous จึงได้นำตับไก่ที่ตายจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดไปบดแล้วกรอง แล้วนำน้ำที่ได้นั้นไปฉีดในไก่ที่ดูแข็งแรงดี ในเวลาไม่นานไก่ที่แข็งแรงนั้นก็ป่วยเป็นมะเร็ง ผลจากการศึกษาลึกลงไปพบว่าการที่ไก่ป่วยเป็นมะเร็งนั้น เกิดมาจากไวรัสตระกูลที่ชื่อว่า Retrovirus
Retrovirus นี้มีความพิเศษ คือเป็นไวรัสที่ไม่มี DNA จะมีแต่ RNA เป็นสารพันธุกรรมเท่านั้น และเมื่อไวรัสนี้เข้าไปในเจ้าบ้านซึ่งก็คือตัวไก่ ก็จะเข้าไปในเซลล์และสร้างสารพันธุกรรม DNA จาก RNA ของตัวเองโดยใช้เอนไซม์ที่ชื่อว่า Reverse transcriptase เชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปแฝงตัวอยู่ใน DNA ของเจ้าบ้าน หากยีนส์ของเจ้าบ้านหรือเจ้าไก่นั้นมียีนส์ของเซลล์มะเร็งอยู่ ก็จะทำให้ไวรัสที่เข้าไปรวมอยู่ด้วยนั้นมียีนมะเร็งของเซลล์เจ้าบ้านติดมาด้วยค่ะ
Retrovirus นี้จึงเป็นคนส่งต่อหรือ Carrier ที่ทำหน้าที่ขโมยยีนส์ก่อมะเร็งติดตัวไปด้วย ซึ่งยีนส์ก่อมะเร็งนั้นมีอยู่แล้วตามธรรมชาติในตัวของมนุษย์เรานะคะ ผลการศึกษานี้ทำให้คุณหมอ Peyton Rous ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2509 ด้วยค่ะ
ช่างสังเกตไปเถิด จะเกิดผล
จะเห็นได้ว่าความช่างสังเกตนำมาซึ่งการทดลองที่นำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ กรณีของคุณ Alfred Knudson ก็เช่นกันค่ะ คุณ Knudson ได้ศึกษาคนไข้เด็กและพบว่าเมื่อถ่ายรูปออกมาแล้วจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เห็นตาขาวไปเลยข้างหนึ่ง เมื่อศึกษาไปลึกๆ จึงพบว่าเด็กกลุ่มนี้ป่วยเป็นมะเร็งที่จอประสาทตา (Retinoblastoma)
คุณ Knudson ยังสังเกตด้วยว่าคนไข้ที่มาหานั้นมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน
แบบแรก คือกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวว่าเป็นมะเร็งที่จอประสาทตา กลุ่มนี้มักเป็นทั้ง 2 ตา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้างหรือค่อยค่อยเป็นทีละข้างก็ได้
แบบที่ 2 คือกลุ่มที่ไม่มีประวัติครอบครัว กลุ่มนี้จะเป็นมะเร็งที่จอประสาทตาเพียงตาเดียว
มะเร็งที่จอประสาทตาที่เกิดขึ้นกับคนทั้ง 2 กลุ่มนั้น มีกลไกการเกิดโรคเหมือนกัน คือต้องเกิดความผิดปรกติ 2 ครั้งในการเกิดโรค ที่เรียกว่า “Two Hit Model”
ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่เป็นมะเร็งตาทั้ง 2 ข้างนั้นจะได้รับการถ่ายทอดความผิดปรกติจากพ่อแม่มาแล้วในเบื้องต้น (First Hit) และเกิดความผิดปรกติอีกจากตัวผู้ป่วยเองอีกรอบ (Second Hit) ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มหลังที่เป็นมะเร็งที่ตาเพียงข้างเดียวนั้น เกิดความผิดปรกติจากตัวผู้ป่วยเองถึง 2 ครั้ง (Two Hits)
ผลการศึกษาของ Knudson บอกอะไรเราบ้าง …
ประการแรก คนที่เป็นมะเร็งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นมาจากกรรมพันธุ์ แต่เจ้าตัวไม่รู้ ซึ่งหากถ้ารู้ก่อน ก็จะได้ป้องกันได้
ประการที่ 2 คนที่เป็นมะเร็ง ต่อให้เป็นแบบแรกหรือแบบที่ 2 ก็เกิดมาจากกลไกเดียวกัน คือการเสียสมดุลของยีนส์ต้านมะเร็งค่ะ
แล้วสาเหตุของการกลายพันธุ์มีอะไรบ้าง … และเราสามารถจะป้องกันอย่างไรได้ก่อน … อ่านต่อได้ในครั้งหน้าค่ะ
……………………………….
สรุปการบรรยายและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์