“สถานการณ์โรคมะเร็งในปัจจุบัน” ซึ่งศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ ได้กรุณามาบรรยายให้พวกเราฟัง
เนื้อหาที่อาจารย์ได้บรรยายนั้นน่าสนใจ จึงได้เขียนสรุปและเรียบเรียงสิ่งที่ได้ฟัง และนำมาแบ่งปัน เพื่อประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของเราในอนาคตค่ะ
สงครามโลกครั้งที่ 3 สงครามสู้กับมะเร็ง
เมื่อพูดถึงคำว่าสงครามนั้น สงครามที่เรานึกถึงและคุ้นเคยคงจะเป็นสงครามการค้า สงครามทางไซเบอร์ หรือสงครามการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม มีสงครามอีกประเภทหนึ่งที่เราอาจจะไม่ได้ตระหนักและไม่ได้ให้ความสำคัญ นั่นก็คือ สงครามต่อสู้กับมะเร็ง …
มะเร็งถือเป็นภัยร้ายของคนทั่วโลก อาจารย์ธีรวุฒิได้เปรียบตัวเองเป็นทหารในการต่อสู้ทำสงครามกับโรคมะเร็ง และเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมเป็นพันธมิตรกับสงครามต่อสู้ในครั้งนี้ด้วยกันค่ะ
ทำไมอาจารย์ถึงได้กล่าวว่าเราควรมาร่วมมือกันในการทำสงครามกับมะเร็ง …
สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้มีผู้คนล้มตายกว่า 4 ล้านคน
ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 13 ล้านคน
ทราบหรือไม่คะว่า … เฉพาะในปี 2561 ที่ผ่านมา มีประชากรทั่วโลกที่ตายด้วยโรคมะเร็งกว่า 9.6 ล้านคน และมีผู้ป่วยที่พึ่งจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งอีกกว่า 18.1 ล้านคน …
ใช่ค่ะ เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากมายขนาดนี้ อาจารย์ธีรวุฒิถึงได้กล่าวว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จึงควรเป็นสงครามในการต่อสู้กับมะเร็งไงคะ …
ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้ประกาศสงครามต่อสู้กับมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งก็ยาวนานเกือบจะ 50 ปีมาแล้ว และ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ได้ประกาศสงครามกับมะเร็งอีกในปี 2552 เนื่องจากคุณแม่ของประธานาธิบดีโอบามานั้นเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่เมื่อมีอายุเพียง 53 ปีเท่านั้น
ในปี 2558 สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการจัดตั้งโครงการ The Precision Medicine Initiative ขึ้น เพื่อที่จะได้ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ DNA หน่วยพันธุกรรม (Genes) พันธุกรรม (Heredity) ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ เพื่อที่จะหาวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันและรักษาโรคภัยต่างๆ ในอนาคตรวมถึงโรคมะเร็งด้วยค่ะ
รบอย่างไร ให้ชนะ
ตำราพิชัยสงครามของซุนวูซึ่งถือเป็นต้นตำรับตำราพิชัยสงครามระดับโลกได้กล่าวไว้ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
จะสู้กับมะเร็งได้ เราก็ต้อง “รู้เขา” และ “รู้เรา”
“รู้เขา” คือรู้ว่ามะเร็งคืออะไร มาจากไหน อยู่ที่ไหนบ้าง …
มะเร็งถือเป็นเรื่องเก่าที่อยู่คู่โลกนี้มานานแสนนานแล้วนะคะ ในปี 2548 ได้มีการค้นพบว่าซากไดโนเสาร์ซึ่งมีชีวิตเมื่อ 80 ล้านปีก่อนนั้นมีเซลล์มะเร็งแฝงอยู่ด้วย และที่น่าสนใจก็คือว่าเจ้าไดโนเสาร์นี้เป็นสัตว์กินพืชค่ะ นอกจากนี้แล้ว เมื่อ 2 ปีก่อนก็มีการค้นพบมะเร็งในกระดูกข้อเท้าของมนุษย์ Australopithecus ซึ่งมีอายุเมื่อ 1.8–1.2 ล้านปีก่อนด้วย และมีหลักฐานการค้นพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งมดลูกในยุคอียิปต์โบราณด้วยเช่นกันค่ะ
Hippocrates ซึ่งเป็นแพทย์ชาวกรีกและได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ ได้ใช้คำว่า Carcinoma และ Carcinos ในการอธิบายโรคมะเร็ง คำว่า Cancer นี้ในภาษากรีกแปลว่า “ปู” เนื่องจากปูมีแขนขาที่แพร่กระจายออกไปเหมือนกับเซลล์มะเร็งนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นสมาคมทางการแพทย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งทั้งในระดับนานาชาติหรือในประเทศไทยเองก็ดี ต่างก็ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปปูทั้งสิ้นค่ะ
รู้เขา – มะเร็งคืออะไร
เนื้องอกแบ่งออกได้เป็น 2 แบบค่ะคือเนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกร้าย เจ้ามะเร็งนี่ก็คือเนื้องอกร้ายนั่นเองค่ะ ที่เรียกว่าเนื้องอกร้ายก็เพราะว่ามะเร็งนั้นจะลุกลามและแพร่กระจายไปทั่ว
ร่างกายของคนเรานั้นประกอบด้วยเซลล์กว่า 50 ล้านล้านเซลล์ โดยที่แต่ละเซลล์นั้นจะมีโครโมโซม ในโครโมโซมก็มี DNA และใน DNA ก็มียีนส์ (Genes) ที่คอยควบคุมการเติบโตของเซลล์ซึ่งทำหน้าที่สร้างโปรตีนในร่างกาย โดยใน DNA จะประกอบด้วยฐานเคมี A T G C ที่เรียงลำดับกันอย่างถูกต้อง 6 พันล้านคู่ แต่ถ้าหากฐานเคมี A T G C เหล่านี้มีการเรียงลำดับผิดพลาด ก็จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งก็จะทำให้เกิดมะเร็งขึ้น ดังนั้น จุดกำเนิดของการกลายพันธุ์จึงเกิดที่ DNA นั่นเองค่ะ โดยที่การกลายพันธุ์ดังกล่าวนั้นถือเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
เนื่องจากการเกิดเซลล์มะเร็งนั้นต่างไปจากกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยปรกติ กล่าวคือ โดยปรกติแล้วเมื่อเซลล์เกิดความเสียหายขึ้น เซลล์จะไม่มีการซ่อมแซมหรือที่เรียกว่าเซลล์นั้นฆ่าตัวตายไปเอง ในขณะที่การเกิดมะเร็งซึ่งเป็นการแบ่งตัวที่กลายพันธุ์นั้น เซลล์จะยังคงอยู่ ไม่สูญสลายไปเอง การกลายเป็นเป็นเซลล์มะเร็งนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาค่ะ เช่น มะเร็งปอดใช้เวลากว่า 20 ปี กว่าจะอาละวาดออกมาให้พวกเราเห็นฤทธิ์เดชกัน
มะเร็งนั้นถือว่ามีความแตกต่างและมีความหลากหลาย (Heterogeneity) กล่าวคือ
- ต่างคน (Inter Patient) – ต่างคน ต่างก็มีโอกาสจะเป็นมะเร็งแตกต่างกันไป
- ในคน (Intra Patient) – ในร่างกายของแต่ละคนนั้น อวัยวะแต่ละที่ก็จะมีความแตกต่างในการเกิดมะเร็งในแบบที่ต่างกัน
- ในก้อนมะเร็ง (Intra Tumor – Tissues) – ในก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นที่แต่ละอวัยวะ จะประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่เป็นเซลล์มะเร็งและเซลล์อื่นๆ ที่มีปฏิกิริยากันแตกต่างกันไป
- ในเซลล์มะเร็ง (Intra Tumor – Genetic) – ในเซลล์มะเร็ง จะประกอบไปด้วยชุดของดีเอ็นเอ (Genome) ที่แตกต่างกันไป
มะเร็งในโลกนี้มีอยู่กว่า 100 ชนิดนะคะ เราสามารถแบ่งมะเร็งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ
- มะเร็งที่เกิดจากเยื่อบุอวัยวะ ซึ่งจะเป็นก้อน เช่น กระเพาะ ลำไส้ ปอด ตับ
- มะเร็งชนิดเม็ดเลือด ได้แก่ น้ำเหลือง เม็ดเลือด
- มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ
ในหนังสือ “As the Future Catches You” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ” ได้มีการกล่าวถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี 3 อย่างที่กำลังครอบงำโลกใบนี้อยู่และจะปฏิวัติปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต สุขภาพ การงาน และการเงินของเรา
เทคโนโลยี 3 อย่างนี้ประกอบด้วย 1. Digital Technology (รหัส 0 และ 1 ซึ่งก่อให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่มีที่สิ้นสุด) 2. Genomics (รหัสพันธุกรรมของมนุษย์ A T G C) และ 3. Nano Technology (เทคโนโลยีของอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากกกก)
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความสำคัญของพันธุวิศวกรรม จึงทำให้เกิดการจัดตั้งโครงการ The Human Genome Project ในปี 2543 โดยความร่วมมือจากนานาอารยะประเทศ เพื่อศึกษาการเรียงตัวของฐานเคมี A T G C ใน DNA ของร่างกายมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้จัดทำ Blueprint หรือแม่พิมพ์ของ DNA ของมนุษย์สำหรับการใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
รู้เขา – มะเร็งเกิดมาจากไหน
5% ของการเกิดมะเร็งมาจากปัจจัยภายในหรือพันธุกรรมค่ะ ในขณะที่ 95% ของการเป็นมะเร็งมาจากสาเหตุภายนอก นั่นแปลว่าจริงจริงแล้วมะเร็งเกิดมาจากสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ การได้รับหรือสัมผัสสารก่อมะเร็งที่ต่างกันนั้น ทำให้การเกิดมะเร็งมีความแตกต่างกันไป ปัจจัยภายนอกต่างๆ ก่อให้เกิดมะเร็งได้มากน้อยเพียงใด มาดูกันค่ะ
การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ 22-25%
การกินอาหาร เช่น อาหารปิ้งย่าง อาหารที่ทอดในน้ำมันที่ใช้ซ้ำๆ การกินปลาร้าหรืออาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ พวกไส้กรอก เบคอน แฮม ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 20-25%
การติดเชื้อ เช่น มะเร็งตับชนิด B และ C หรือเชื้อ HPV ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ทำให้เรามีโอกาสเป็นมะเร็ง 20-25%
การได้รับแสงรังสี เช่น รังสี UV ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง หรือการได้รับสารกัมมันตรังสี ซึ่งจะทำให้เกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งสมอง และมะเร็งที่อัณฑะ ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 5-7%
มลภาวะ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และอาจทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้เรามีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 1-5%
สำหรับปัจจัยภายในซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดมะเร็งประมาณ 5% นั้น ขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางพันธุกรรม รวมถึงความไวของยีนส์ที่เรามี ทั้งยีนส์ที่เร่งสารก่อมะเร็งและยีนส์ที่กำจัดสารก่อมะเร็งค่ะ ดังนั้น หากเราได้รับสารตั้งต้นในการก่อมะเร็งและเรามียีนส์เร่งสารก่อมะเร็งที่มีความไวสูง เราก็จะมีสารก่อมะเร็งมากในร่างกายเรา แต่ถ้าหากเรามียีนส์กำจัดสารก่อมะเร็งที่มีความไวสูง สารก่อมะเร็งก็จะถูกกำจัดออกไปได้มากค่ะ
นอกจากนี้แล้ว ความชรายังนำมาซึ่งมะเร็งอีกด้วยค่ะ มะเร็งเป็นโรคความเสื่อมตามอายุ ยิ่งเราอายุมากขึ้น เราก็จะมีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์สูงขึ้นและเป็นมะเร็งในที่สุด …
“รู้เขา”ไปเรียบร้อยแล้ว ครั้งหน้ามา “รู้เรา” เพื่อจะได้ “รู้เท่าทัน” มะเร็งกันค่ะ
สรุปการบรรยายและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์