การบรรยายหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ครั้งที่ 6 มีหัวข้อการบรรยายคือ “การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา” โดยผู้บรรยายคือ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วุฒิศิริ วีรสาร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุมพฏ คัคนาพร จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลค่ะ
รังสี … คุณอนันต์ … โทษมหันต์ …
รังสีนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ 1) รังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ประเทศรัสเซีย มีสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม 137 มาก คนรัสเซียจึงเป็นมะเร็งกันมาก และ 2) รังสีที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อช่วยในการเติบโตของต้นไม้ ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมเพื่อตรวจจุดรอยรั่วของท่อขนส่งน้ำมัน ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค หรือประโยชน์ทางพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ …
และเมื่อพูดถึงรังสี คงต้องย้อนกลับไปตอนที่เรายังเด็กอยู่ เราได้เรียนประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกกันมาบ้าง และเมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สิ่งที่ลอยขึ้นมาในความคิดเราก็คงจะเป็นระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในที่สุดนั่นเองค่ะ
ผลของระเบิด “Little Boy” ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาและระเบิด “Fat Man” ที่ถล่มเมืองนางาซากินั้น ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นหลายหมื่นคนเสียชีวิตในทันทีและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตภายหลังการระเบิดเนื่องมาจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีและล้มป่วยเป็นมะเร็ง ลูกหลานจำนวนมากของประชากรที่อาศัยในบริเวณ 2 เมืองดังกล่าวซึ่งเกิดมาจากบรรพบุรุษที่ได้รับรังสี ก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วยค่ะ
…และด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการศึกษาเกี่ยวกับรังสีมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก …
อีกกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกก็คือการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2529 การรั่วไหลดังกล่าวถูกจัดว่ามีความรุนแรงสูงที่สุด มีผู้คนเสียชีวิตและล้มป่วยเป็นมะเร็งจำนวนมาก ส่งให้ผลเมืองถูกปิดร้างมาจนถึงปัจจุบัน และไม่มีผู้คนอาศัยในรัศมี 100 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า เนื่องมาจากความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตและความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดต่างๆ จากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี
เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการพูดถึงรังสีในมุมของอันตรายหรือโทษที่เกิดกับมนุษย์ แต่การบรรยายในวันนี้จะเป็นการพูดในมุมตรงข้ามซึ่งก็คือคุณประโยชน์ของรังสีค่ะ … ทำนองเดียวกับแนวคิดของการบริหารความเสี่ยงเลยนะคะว่าเหรียญมี 2 ด้าน ดาบมี 2 คม จะดูจะวิเคราะห์อะไรก็ตาม ควรมอง 2 ด้านทั้งบวกและลบควบคู่กันไปเสมอค่ะ …
เมื่อพูดถึงรังสีในด้านบวกหรือประโยชน์ต่อมนุษย์นั้น เรามักจะคุ้นเคยกับการใช้รังสีเพื่อการวินิจฉัยโรค ซึ่งก็คือการเอ็กซเรย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพ แต่เนื้อหาการบรรยายในวันนี้จะเพิ่มอีกแง่มุมหนึ่งของการใช้รังสี คือการใช้รังสีเพื่อการรักษา ซึ่ง 90% ของการใช้มักจะเป็นการรักษาโรคมะเร็งค่ะ
มะเร็ง … ภัยร้ายใกล้ตัว
มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกได้แก่มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งในกระเพาะอาหาร ส่วนมะเร็ง 5 อันดับแรกที่ทำให้เสียชีวิตสูงที่สุดได้แก่มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม ตามลำดับค่ะ
สิ่งที่น่าแปลกเกี่ยวกับการเป็นมะเร็งก็คือว่า ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมักจะถามแพทย์ที่รักษาว่า … เป็นแล้วจะหายจากมะเร็งได้หรือไม่ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่เคยมีคำถามนี้ … เพราะว่าโรคหัวใจเป็นแล้วรักษายังไงก็ไม่หายขาดค่ะ แต่สำหรับโรคมะเร็งนั้น ถ้าเป็นแล้วไม่รักษา ก็ไม่หายแน่นอน และถ้ารักษา ก็ไม่แน่ว่าจะหายนะคะ …
การรักษาโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 วิธีหลักด้วยกันค่ะ
- การผ่าตัด – แต่เดิมนั้น เมื่อป่วยเป็นมะเร็ง หมอก็มักจะรักษาด้วยการผ่าตัด คำถามหลักเบื้องต้นที่พบเจอในการผ่าตัดมะเร็งก็คงจะหนีไม่พ้นคำถามเหล่านี้นะคะ … ผ่าตัดแล้วมะเร็งจะถูกกำจัดออกไปหมดมั้ย … มีอันตรายในการผ่าตัดมากน้อยแค่ไหน … ผ่าตัดแล้วอวัยวะที่เป็นมะเร็งจะเสียไปเลยหรือเปล่า … อวัยวะที่เหลือหลังการผ่าตัดจะทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมหรือไม่ … จริงๆ แล้ว เป้าหมายของการผ่าตัดก็คือการกำจัดมะเร็งออกไปให้หมด แต่ยังเหลืออวัยวะให้สามารถทำหน้าที่ได้อยู่ค่ะ
- การใช้รังสีรักษา – การใช้รังสีรักษามีวัตถุประสงค์ในการทำให้มะเร็งมีขนาดเล็กลง และอาจไม่ต้องผ่าตัดในที่สุด การผ่าตัดและการใช้รังสีรักษาจึงเป็นเพื่อนกันค่ะ ใครจะมาก่อนมาหลังก็ได้ ทำเดี่ยวอย่างเดียวก็ได้ หรือทำควบคู่กันไปก็ได้อยู่นะคะ
- การใช้ยามะเร็ง – ในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจาย หมออาจต้องใช้การให้ยาโดยการใส่สารเข้าไปในร่างกาย วิธีการรักษาแบบนี้จึงไม่เหมือนกับ 2 วิธีแรกที่เป็นการรักษาเฉพาะจุดเฉพาะที่ค่ะ การใช้ยานี้สามารถทำได้ทั้งการกินหรือการฉีด เช่น การให้ยาต้านฮอร์โมนสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือการให้ยาเพื่อกดไม่ให้ฮอร์โมนทำงานสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การใช้ Stem Cell – วิธีนี้จะต้องมีการทำลายล้างเซลล์เดิมที่เป็นมะเร็งและใส่เซลล์ใหม่เข้าไป จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อระหว่างที่ทำด้วยค่ะ
- Precision Medicine – วิธีนี้เป็นการใช้การรักษาเฉพาะกับโรคและการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ในปัจจุบันนั้น ยาที่ใช้เพื่อการรักษายังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยเป็นส่วนใหญ่
การรักษาโดยการฉายรังสี
รังสีเอ็กซเรย์นั้นได้ถูกค้นพบมากว่า 100 ปีแล้วค่ะ โดยคุณ Wilhelm Conrad Rontgen นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ส่วนนักฟิสิกส์/เคมีอีกคนที่เราคุ้นเคยชื่อกันก็คือมาดามคูรี (Marie Curie) ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบรังสีเรเดียมซึ่งใช้ในยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง
การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ท่านถือว่ามีประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก โดยคุณ Rontgen นั้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี พ.ศ. 2444 ในขณะที่มาดามคูรีเองก็ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 สาขาด้วยกัน โดยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี พ.ศ. 2446 และรางวัลโนเบลสาขาเคมีในอีก 7 ต่อมาด้วยค่ะ
รังสีรักษาหรือการฉายแสงนั้น เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้ผลดี ทำให้โรคมะเร็งหายได้ ถือเป็นวิธีการที่ถูกใช้ในวงการแพทย์มานานมากแล้ว หลักการของรังสีรักษาคือการให้รังสีในปริมาณที่มากพอที่จะทำลายเซลล์มะเร็งได้หมด และทำลายอวัยวะอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงให้น้อยที่สุด รังสีที่ใช้มากคือรังสีเอ็กซ์และรังสีแกมมาค่ะ
ในร่างกายเรานั้นประกอบไปด้วยเซลล์หลากหลายชนิด ซึ่งมีความไวต่อรังสีที่ไม่เท่ากัน เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร เซลล์อ่อนที่ผลิตเม็ดเลือดในไขกระดูก และเซลล์สืบพันธุ์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่แบ่งตัวอยู่ตลอดเวลานั้น มีความไวต่อรังสีมาก ในขณะที่เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทซึ่งเป็นเซลล์ที่ไม่มีการแบ่งตัวนั้น มีความไวต่อรังสีต่ำ
เซลล์ที่ไวต่อรังสีคือเซลล์ที่แบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเซลล์เหล่านี้ก็คือเซลล์มะเร็งนั่นเอง การฉายรังสีไปที่นิวเคลียสของเซลล์จะทำให้เซลล์เหล่านี้แบ่งตัวไม่ได้อีกต่อไปค่ะ
ในการทำลายเซลล์มะเร็งนั้น สามารถทำลายได้ 2 รูปแบบ คือ 1) ทำให้เซลล์มะเร็งเสียหายและตายในทันที หรือ 2) ทำให้เซลล์มะเร็งสูญเสียความสามารถในการแบ่งตัว แต่ว่าเซลล์ยังคงเป็นเซลล์มะเร็งอยู่นะคะ
เนื่องจากรังสีที่ใช้เพื่อการรักษานั้นเป็นรังสีที่มีความถี่สูงระดับเมกกะโวลต์ เราจึงไม่รู้สึกอะไร ณ ขณะที่ได้รับรังสี สมัยก่อนนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีจะออกอาการดำเกรียม มีแผลพองในระยะแรก แต่ในปัจจุบันนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้การทะลุทะลวงดีขึ้น รังสีลงไปอยู่ลงไปลึกใต้ชั้นผิวหนัง จึงทำให้ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังการฉายรังสีลดลงไปมาก นอกจากนี้ การรักษายังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการรักษา โดยการฉายรังสีอย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ
ขั้นตอนการฉายรังสี
โดยทั่วไปแล้ว การฉายรังสีจะไม่รับคนไข้ที่ Walk In เข้ามาโดยไม่มีการนัดหมายล่วงหน้าหรือไม่มีการส่งตัวมาค่ะ ในการเตรียมการก่อนการฉายแสงนั้น คุณหมอจะดูผลการรักษาโดยหมออื่นๆ ก่อนว่าได้วินิจฉัยมาแล้วว่าเป็นมะเร็งและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการฉายรังสี …
จากนั้น ก็จะเป็นขั้นตอนของการวางแผนการรักษา ว่าจะฉายรังสีตรงบริเวณไหน ไม่ฉายตรงบริเวณไหนที่อยู่ใกล้เคียง การรักษาต้องมีความแม่นยำ อวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงต้องมีความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวัยวะสำคัญ เช่น ตา ศีรษะ และไขสันหลัง ด้วยเหตุนี้ ก่อนการฉายรังสีจริงจึงต้องมีการใช้เครื่องจำลองการรักษาก่อนการรักษาจริงด้วยค่ะ
ในการจำลองการรักษานั้น จะต้องมาพิจารณาดูว่าคนไข้ควรจะได้รับรังสีชนิดไหน พลังงานสูงเท่าไหร่ และรังสีจะไปวิ่งผ่านอวัยวะไหนบ้าง แต่ละอวัยวะสามารถทนทานได้แค่ไหนด้วยนะคะ
เมื่อถึงกำหนดเวลาฉายแสงแล้ว คนไข้จะต้องมารับการฉายแสงที่โรงพยาบาลทุกวัน เว้นวันเสาร์อาทิตย์เพื่อให้เซลล์ปรกติได้ซ่อมแซมตัวเองค่ะ คนไข้ควรต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งจะทำให้ไม่จำเป็นต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล แต่หากคนไข้ไม่สามารถเดินทางมารับการรักษาได้สะดวกทุกวันเพราะที่พักอาศัยอยู่ไกลจากโรงพยาบาล ก็อาจยกเว้นให้ค้างคืนได้ค่ะ
เครื่องฉายแสงที่โรงพยาบาลศิริราชใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีราคาประมาณ 200 ล้านบาท และยังต้องมีการจัดซื้อซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาอีกประมาณ 70 ล้านบาท โดยทั่วไปแล้ว เครื่องควรถูกใช้งานเพียงแค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่เนื่องจากเครื่องมีราคาแพงและมีคนไข้ที่รอรับการรักษาเป็นจำนวนมาก เครื่องฉายแสงที่ศิริราชจึงถูกใช้งานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืนเลยค่ะ และแต่ละชั่วโมงนั้นฉายแสงให้คนไข้ถึง 8 คน ในขณะที่เครื่องของโรงพยาบาลเอกชนจะฉายแสงให้คนไข้ชั่วโมงหนึ่งประมาณ 4 คนเท่านั้นเอง
ในปัจจุบันเครื่องฉายรังสีมีมากขึ้นกว่าในอดีตมาก โรงเรียนแพทย์ทุกที่ก็มีเครื่องฉายรังสีอยู่ และตามศูนย์มะเร็งต่างๆ ก็มีเครื่องนี้เช่นกัน สำหรับในประเทศไทยนั้น มีเครื่องฉายกระจายอยู่หลายพื้นที่ แต่ยังไม่ครบทั้ง 77 จังหวัดค่ะ
ในการฉายรังสีนั้นจริงๆ แล้วจะใช้เวลาฉายแสงแต่ละครั้งประมาณ 3-5 นาที แต่เมื่อบวกเวลารอและเตรียมการต่างๆ ของโรงพยาบาล จึงทำให้ใช้เวลาโดยรวมต่อคนลากยาวไปประมาณ 30 นาทีต่อคน
เวลาที่จะฉายแสงนั้น จะต้องมีการใช้อุปกรณ์ยึดตรึงคนไข้ไว้ให้คนไข้ขยับไม่ได้ เพื่อให้สามารถฉายรังสีไปที่บริเวณเดิม ถ้าคนไข้สามารถเคลื่อนไหวขยับร่างกายได้ ก็จะทำให้มุมในการฉายแสงผิดพลาดไป และอาจทำให้รังสีนั้นไปโดยอวัยวะอื่นที่สำคัญ เช่น เส้นประสาทตาได้ นอกจากนี้ จังหวะการหายใจเข้าออก ก็จะส่งผลทำให้อวัยวะที่จะได้รับรังสีมีการเคลื่อนไหว จึงต้องมีอุปกรณ์ในการควบคุมการหายใจของคนไข้ด้วยค่ะ
โดยปรกติแล้ว เครื่อง 1 เครื่องในขณะที่ถูกใช้งานจะใช้เจ้าหน้าที่ 3 คนเพื่อเช็คความถูกต้อง มีหมอและนักฟิสิกส์มาช่วยวางแผนการรักษา มีการควบคุมคุณภาพของเครื่องและตั้งค่าต่างๆ ของเครื่องทุกครั้งก่อนฉายแสงให้คนไข้แต่ละคน เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องจะทำงานได้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ทุกครั้งในทุกวัน
รังสีรักษาสำหรับมะเร็งชนิดต่างๆ
มะเร็งโพรงหลังจมูก
อาการของผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูกคือมีเลือดออกจากจมูก คัดจมูก เป็นแผลเรื้อรัง หรือมีอาการหูอื้อ เนื่องจากมีก้อนไปอุดรูระบายความดันระหว่างช่องจมูกกับหู
มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เนื่องจากโพรงหลักจมูกนั้นอยู่ติดกับก้านสมองและไขสันหลัง จึงทำให้ไม่นิยมรักษามะเร็งโพรงหลังจมูกโดยการผ่าตัด รังสีรักษาจะเป็นพระเอกในการรักษามะเร็งชนิดนี้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรืออาจใช้แร่อิริเดียม 192 ใส่เข้าไปในช่องโพรงจมูกค่ะ
มะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งชนิดนี้จะเกิดที่สายเสียงหรือกล่องเสียง ถ้าเป็นน้อยและยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ก็จะใช้การรักษาโดยการฉายแสงซึ่งมีโอกาสหายได้ถึง 95% สาเหตุที่คุณหมอไม่แนะนำให้ผ่าตัดนั้น เนื่องจากถ้าผ่าตัดแล้วก็จะต้องตัดกล่องเสียงออก ทำให้มีแผลเป็น นอกจากนี้เมื่อรักษาหายขาดแล้วอาจทำให้คุณภาพของเสียงไม่เหมือนเดิมได้ค่ะ
มะเร็งริมฝีปาก
การรักษามะเร็งริมฝีปากจะใช้วิธีการฝังแร่อิริเดียม 192 บริเวณศีรษะและคอ แทนการผ่าตัด เพื่อช่วยรักษาอวัยวะและทำให้อวัยวะยังทำงานได้
มะเร็งเต้านม
การฉายแสงจะเป็นการฉายรังสี 3 มิติ โดยนำภาพผู้ป่วยที่ได้มาวางแผนการรักษา การฉายแสงจะต้องมีความระมัดระวังไม่ให้รังสีนั้นไปโดนปอดและหัวใจซึ่งอยู่ใกล้ๆ ด้วย
การฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัด
การฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัดนั้นจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์อยู่นะคะ ไม่ใช่ว่ามะเร็งทุกชนิดจะใช้วิธีการรักษาแบบนี้ได้ และโดยทั่วไปแล้วจะใช้การผ่าตัดแล้วฉายรังสีตามปรกติอีก 25 ครั้งเพื่อรักษามะเร็งให้หายขาด แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดและการฉายรังสีเพียงครั้งเดียวก็เป็นได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบนี้ก็จะสูงขึ้นกว่ากรณีแรกค่ะ
มะเร็งปอด
มะเร็งปอดมักจะรักษาด้วยการผ่าตัด ถ้าก้อนไม่ใหญ่ก็อาจใช้การฉายรังสีได้ เนื่องจากในสมัยนี้มีการพัฒนาอุปกรณ์ยึดตรึงคนไข้ให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา มีการใช้อุปกรณ์เพื่อจำกัดการหายใจและมีการหายใจที่ช้าลง ซึ่งจะทำให้การหายใจเข้าออกของคนไข้ไม่ส่งผลกระทบต่อการฉายแสงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอก
กรณีที่เคยพบนั้นเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่สามารถหายใจได้ จึงต้องใช้วิธีการฉายแสงเพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ จากนั้นจึงค่อยมาพิจารณาดูว่าการรักษาแบบใดจึงจะเหมาะสม
มะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งหลอดอาหารมีสาเหตุมาจากการนิยมกินอาหารร้อน จึงทำให้เกิดแผลเรื้อรังในหลอดอาหาร แต่การผ่าตัดหลอดอาหารนั้นค่อนข้างจะทำได้ลำบาก
มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (ลำไส้ตรง)
การตัดลำไส้ทิ้งจะทำให้ผู้ป่วยขับถ่ายแบบปรกติไม่ได้ จึงควรใช้การฉายรังสีควบคู่กับการทำเคมีบำบัดก่อน เพื่อให้มะเร็งยุบลง จากนั้นจึงค่อยรักษาโดยการผ่าตัดต่อไปค่ะ
มะเร็งทวารหนัก
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งทวารหนักอาจส่งผลทำให้การกลั้นอุจจาระนั้นอาจไม่เหมือนเดิม ถ้ามีการขับถ่ายตลอดอาจจะต้องผ่าตัดเปิดช่องอื่นเพื่อขับถ่ายแทน จึงมีการใช้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด
มะเร็งต่อมลูกหมาก
การฉายรังสีหรือการใช้แร่นั้นทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายเท่ากับการผ่าตัด แต่เนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้ไม่เหมือนกันในเรื่องของประสิทธิภาพ จึงทำให้คนไข้นิยมการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยการฉายรังสีและการฝังแร่มากกว่า
การปฏิบัติตัวหลังการฉายรังสี
โดยปรกติแล้ว โรงพยาบาลจะมีทีมของรังสีแพทย์และพยาบาลให้คำแนะนำกับผู้ป่วยหลังการฉายรังสีค่ะ ร่างกายคนเรานั้นสามารถจะซ่อมแซมตัวเองและฟี้นคืนได้ภายใน 1-3 เดือน หรือในผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาถึง 6 เดือนถึงจะกลับมาแข็งแรงตามปรกติ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอเพื่อจะได้ไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โปรตีนที่ได้รับควรเป็นโปรตีนที่มาจากสัตว์ อาหารต้องสุกและสะอาด ผู้ป่วยหลังฉายรังสีสามารถรับประทานอาหารทะเลได้ไม่มีปัญหา แต่ไม่แนะนำอาหารที่หมักดองเนื่องจากอาจทำให้ท้องเสียได้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำ 10-12 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยลดอาหารเจ็บคอและช่วยในการขับถ่าย นอกจากนี้ ยังควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี และไปพบแพทย์ตามนัดด้วยนะคะ
การป้องกันอันตรายจากรังสีในการให้บริการทางการแพทย์
เนื่องจากรังสีไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ผู้ที่ให้บริการทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นรังสีแพทย์ นักฟิสิกส์ หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอง จึงต้องมีความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ด้วยค่ะ
- เวลา – ใช้เวลาอยู่กับรังสีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
- ระยะทาง – อยู่ให้ห่างรังสีไว้จะมีความปลอดภัยมากกว่า
- เกราะกำบัง – ต้องมีการหาเกราะกำบังไว้เพื่อกั้นระหว่างรังสีกับร่างกายมนุษย์
สำหรับรังสีวินิจฉัยนั้น บุคลากรทางการแพทย์สามารถใส่เสื้อตะกั่ว หรืออยู่หลังกระจกที่มีตะกั่วผสมอยู่ขณะที่เอกซเรย์ได้ แต่สำหรับรังสีรักษานั้น เนื่องจากมีดีกรีที่รุนแรงกว่า จึงต้องมีการใช้เกราะกำบังและระยะทางควบคู่กัน โดยการออกแบบห้องที่ใช้สำหรับฉายแสงคนไข้ให้มีผนังที่หนามากเป็นพิเศษเพื่อกั้นไม่ให้รังสีนั้นมีการรั่วไหลออกไปยังภายนอก และขณะทำการรักษานั้นผู้รักษาควรออกนอกห้องด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดสัญลักษณ์ตามห้องฉายแสงเพื่อให้ทราบว่ากำลังมีการฉายแสงในห้องอยู่หรือไม่ และมีเครื่องตรวจวัดระดับรังสีอยู่เป็นระยะด้วยค่ะ
แถมนิดนึงสำหรับการใช้เครื่อง PET Scan ซึ่งสามารถที่จะ Screen เราได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า … คุณหมอไม่แนะนำให้ทำถ้ายังไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งนะคะ เพราะจะทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะรับรังสีเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่สูงค่ะ ส่วนการทำแมมโมแกรมเพื่อตรวจเช็คมะเร็งเต้านมนั้น แนะนำให้ตรวจสำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งโดยปรกติแล้วมะเร็งเต้านมนั้นยากที่จะตรวจเจอก่อน แต่การตรวจทุกปีจะช่วยให้สามารถตรวจเจอมะเร็งได้เมื่อยังเป็นก้อนเล็กๆ ซึ่งจะทำให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีนะคะ
คุณหมอได้ปิดท้ายการบรรยายด้วยการให้ยากันลืมกับพวกเราค่ะ …
อย่าลืมว่ารังสีนั้นสามารถรักษาโรคได้ทั้งตัว แต่ไม่สามารถรักษาสุขภาพใจของเราได้ ดังนั้น หากป่วยเป็นมะเร็งแล้ว และได้รับการรักษาแล้ว มะเร็งร้ายก็จะหายไปจากร่างกายเรา คราวนี้ คิวต่อไปก็คือคิวของการรักษามะเร็งร้ายในใจเรา ด้วยการไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ทำใจให้สงบ สบาย … รักษาโรคทางกายแล้ว แล้วอย่าลืมการรักษาจิตใจให้แข็งแรงควบคู่กันไปด้วยนะคะ …
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และทีมผู้บรรยาย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วุฒิศิริ วีรสาร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุมพฏ คัคนาพร สำหรับการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษาให้กับนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในวันนี้ค่ะ
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์