ในบทความนี้ เราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ ว่าเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรส่งผลกระทบบ้าง และ วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นมีอะไรบ้าง
ปัญหานอนไม่หลับในผู้สูงวัย เกิดจากอะไร
เมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์การนอนของแต่ละคนก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามช่วงวัยและพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การหลับนอน เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากทั้งด้านสภาพร่างกายและสุขภาพจิต ตอนวัยรุ่น การได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะทำให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ที่สูญเสียไปในแต่ละวัน และการนอนหลับให้เพียงพอก็ช่วยในเรื่องของความจำและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำให้ร่างกายนั้นสามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้
แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาการนอนไม่หลับก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นโดยเฉพาะวัยสูงอายุที่มีโรคต่าง ๆ มากมายที่ทำให้การนอนเป็นอุปสรรค หาก ผู้สูงอายุ นอนไม่หลับ ปัญหานี้มาจากอะไร และควรแก้ไขอย่างไรให้การหลับนอนดีขึ้น
ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ
วิธีการแก้ปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับก็มีด้วยกันหลากหลายวิธี ทั้งการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการนอน เปลี่ยนพฤติกรรมการหลับนอน การออกกำลังกายแบบเบา เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การดื่ม และการหากิจกรรมที่สามารถทำได้ร่วมกับผู้อื่น
ผู้สูงอายุที่นอนหลับไม่เพียงพอก็อาจเสี่ยงต่อปัญหาทั้งในเรื่องของสุขภาพจิต ความทรงจำ รวมถึงปัญหาการนอนกลางวันที่ไม่ควรนอนในวัยสูงอายุ นอกจากนี้ เรื่องของการนอนไม่หลับก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ปัญหาในด้านน้ำหนัก และโรคต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถนอนได้อย่างเต็มอิ่มก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน
พฤติกรรมการนอนและสภาพแวดล้อมในการนอน
พฤติกรรมการนอนกลางวันในผู้สูงอายุก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน อาจเป็นเพราะการสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุอยู่เฉพาะภายในบ้าน ไม่ได้มีกิจกรรมให้ทำมากนัก อาจใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูทีวีแล้วหลับไป หรือการดื่มกาแฟและชาเป็นจำนวนมาก ก็เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน สามารถสังเกตุได้จากการที่ผู้สูงอายุอ่อนเพลียไม่มีแรง
ขาดสังคมและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนในทุกวัย โดยเฉพาะในวัยสูงอายุ ยิ่งห่างครอบครัว ห่างเพื่อนฝูง ไม่มีคนให้คุยด้วย ก็อาจทำให้กิจกรรมในวันหนึ่งลดน้อยลง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมักจะนอนกลางวันและหลับยากในเวลากลางคืน
การใช้ยาของผู้สูงอายุ
ยิ่งอายุเยอะ โรคประจำตัวต่าง ๆ ก็อาจมีเพิ่มขึ้นจนทำให้การใช้ยาในการรักษาโรคนั้น ๆ เยอะขึ้นกว่าวัยอื่น ๆ การรับประทานยาหลายเม็ดในเวลาเดียวกัน และตัวยาบางชนิดก็อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายที่ทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้ โดยเฉพาะยาที่ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ในระบบสมองและประสาท
ร่างกายเสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น
ในผู้สูงวัย เมื่อมีอายุมากขึ้นก็ทำให้สภาพร่างกายเสื่อมลงทั้งอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายรวมถึงสมองด้วยเช่นกัน การเสื่อมสภาพของร่างกายก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการนอนในแต่ละวัน สภาพร่างกายที่เจ็บป่วยง่ายก็อาจทำให้ตื่นมากลางดึกเพราะอาการเจ็บปวดตามร่างกาย หรือความอยากนอนในตอนกลางคืนลดลง ทำให้ใช้เวลาในการเข้านอนมากขึ้น หลับได้แต่หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง
สุขภาพจิต
ปัญหาด้านสุขภาพจิตในวัยผู้สูงอายุนั้นอาจมาจากความเครียด คิดมาก ความวิตกกังวล จากปัจจัยภายนอกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อร่างกายทำให้การใช้ชีวิตลำบาก หรือการที่ต้องห่างจากครอบครัว ห่างจากลูกหลาน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้าได้และทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับได้ด้วยเช่นกัน
โรคในผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อการนอนหลับ
- โรคที่ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย อย่างเช่นโรคเบาหวาน
- โรคปวดข้อ ปวดกระดูก โรคกระดูกพรุนที่ทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนเพราะความเจ็บปวด
- โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและหัวใจ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือปัญหาการนอนกรน
- โรคที่เกี่ยวกับทางเดินระบบประสาทเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์หรือโรคพาร์กินสัน
- โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือโรคที่ทำให้หลับยากทั้งที่พยายามนอนแล้ว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับวัยกลางคนและผู้สูงอายุ
ควรแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับ
สิ่งแรกที่สามารถทำได้เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นคือการสังเกตพฤติกรรม ร่างกายและสภาพจิตใจก่อน เมื่อเริ่มรู้สึกเหตุแล้วก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการนอน
แสงที่มากไปหรือแสงที่ออกจากทีวีในแต่ละวันก็อาจทำให้นอนหลับได้ยาก จัดแสงภายในห้องให้เหมาะกับการนอน ทำห้องให้เงียบลงเพราะเสียงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นอนลำบาก ทำให้อุณหภูมิห้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการนอน จัดเตียงให้หลับสบาย
เปลี่ยนพฤติกรรมการหลับนอน
ลดพฤติกรรมการนอนกลางวันหรือการดูทีวีจนหลับ เพราะการนอนกลางวันจะส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน หรืออาจลดเวลานอนกลางวันลงเหลือ 15 นาที
ออกกำลังกายเบา ๆ
การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการนอนหลับได้ดี ในวัยสูงอายุ การออกกำลังกายเบา ๆ ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวในเวลาที่เหมาะสมก็จะสามารถช่วยในเรื่องของการนอนหลับได้
เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การดื่ม
พยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรืออาหารมื้อใหญ่ ๆ หรือลดอาหารที่มีน้ำตาล พยายามลดการดื่มชาและกาแฟ หรืองดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงบ่ายเป็นต้นไป และไม่ควรบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือทางที่ดีก็ควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เลยจะดีกว่า
หากิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับคนอื่น
ความเครียดหรือความวิตกกังวลจะเกิดขึ้นได้ในแต่ละวัน การชวนผู้สูงอายุ หรือการหากิจกรรมทำร่วมกันก็สามารถทำให้ผู้สูงอายุคลายเครียด ปรับอารมณ์ให้สามารถนอนหลับได้ดีในตอนกลางคืน การทำสมาธิก็เป็นทางเลือกที่ทำให้จิตใจสงบ นอนหลับได้ดีขึ้น
นอนหลับให้สบายขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
ปัญหาการนอนไม่หลับนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่ปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ได้มากมาย เพราะฉะนั้น การดูแลรักษาการนอนให้ดียิ่งขึ้นถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในวัยสูงอายุ เพื่อป้องกันโรคใหม่ที่อาจเกิดขึ้นและโรคประจำตัวที่อาจทำให้อาการแย่ลงเมื่อนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
อ่านบทความเพิ่มเติม :
โรคนอนไม่หลับ หายได้เองมั้ย อาการหนักแบบไหนถึงควรไปพบแพทย์