อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ในวัยสูงอายุ
อารมณ์และความรู้สึกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามธรรมชาติ ในวัยสูงอายุก็เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่แปรปรวนและพฤติกรรมบางอย่างนั้นเป็นเรื่องที่สามารถพบเจอได้บ่อยในวัยสูงอายุ เพราะผู้สูงอายุนั้นเป็นวัยที่เปราะบางด้วยหลายเหตุผล ทั้งเรื่องของสุขภาพทั้งด้านร่างกายที่เสื่อมสภาพลงตามอายุ สุขภาพจิตที่อาจไม่ดีเหมือนแต่ก่อนและอีกหลากหลายปัจจัยที่ทำให้อารมณ์แปรปรวน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อผู้สูงอายุ อารมณ์แปรปรวน คือการห้ามปล่อยผ่าน เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายบางอย่างได้
สัญญาณอาการที่สามารถสังเกตได้ เมื่อวัยสูงอายุอารมณ์แปรปรวน
เมื่อมีอายุมากขึ้น สภาพร่างกายก็เปลี่ยนไป รวมถึงสภาพทางอารมณ์ด้วยเช่นกัน และในอารมณ์ของผู้สูงอายุที่แปรปรวน เราอาจสังเกตได้ยาก คิดว่าแค่อารมณ์เปลี่ยนไปหรือแค่เป็นคนอารมณ์ไม่ดีอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น การปล่อยไปตามเลย ก็อาจส่งผลเสียต่ออารมณ์และสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุได้มากกว่าเดิม เพราะฉะนั้น การสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ที่แปรปรวนของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ แล้วสัญญาณที่สามารถสังเกตได้ว่าอารมณ์ที่แปรปรวนในผู้สูงอายุ เป็นอย่างไร?
อาการซึมเศร้า ภาวะเครียด
เป็นอาการที่ทำให้ผู้สูงอายุเครียดง่าย อ่อนไหวต่อความรู้สึก ขาดความเชื่อมั่น ท้อง่าย ชอบพูดตัดพ้อ รู้สึกไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่ทำอยู่ มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า หงุดหงิดง่าย มักจะเกิดความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและปัญหาสุขภาพ มีปัญหาในการนอน ทานอาหารน้อยลง
อาการวิตกกังวล
ผู้สูงอายุมีอาการกระสับกระส่าย วิตกกังวล ปัญหาเรื่องสมาธิ โกรธง่าย โวยวาย มีปัญหาในการนอน ตื่นตระหนกตกใจได้ง่าย อาการสับสนง่าย ไม่มีเหตุผล
อาการก้าวร้าว
ผู้สูงอายุที่มีอาการก้าวร้าวเมื่อรู้สึกไม่พอใจ กระวนกระวาย พูดเสียงดัง สบถ ใช้คำไม่สุภาพ พูดจาดูถูก กำมือแน่นเมื่อรู้สึกไม่พอใจ ใช้ความรุนแรง ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
ไม่สนใจ ไม่แยแสใคร
ผู้สูงอายุมักไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร ขาดอารมณ์และความรู้สึก ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีความสนใจในสิ่งอื่น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน
ผู้สูงอายุอารมณ์แปรปรวน เกิดจากอะไร
เมื่อสังเกตเห็นผู้สูงอายุมีอารมณ์เหวี่ยงหรืออารมณ์แปรปรวน สาเหตุหลัก ๆ นั้นมีอยู่หลายปัจจัย ทั้งด้านความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย โรคซึมเศร้าและความวิตกกังวล ความโดดเดี่ยวและความเหงา การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน รวมถึงภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์
ความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านทางร่างกายของผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมลงตามกาลเวลา ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาการเจ็บปวดเหล่านั้นก็ทำให้ผู้สูงอายุแสดงออกทางอารมณ์ที่หลากหลาย อาจเริ่มก้าวร้าวหรือเริ่มพูดตัดพ้อ รวมถึงความรู้สึกที่ว่าร่างกายนั้นไม่สามารถใช้งานหรือขยับได้เหมือนแต่ก่อน เหมือนกับสูญเสียความอิสระในการใช้ชีวิตไป
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุและความวิตกกังวล
โรคซึมเศร้า เป็นอาการเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดจากความวิตกกังวลในเรื่องของสภาพร่างกายที่เสื่อมลง การสูญเสียคนในครอบครัวหรือคนรัก ความรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย และอาการซึมเศร้าก็ยังส่งผลกระทบทำให้อารมณ์แปรปรวน อาจทำให้เอาแต่ใจ ชอบโวยวาย ขี้น้อยใจ หงุดหงิดโมโหง่าย นอกจากนี้ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุและความวิตกกังวลก็สามารถส่งผลต่อชีวิตประจำวันและร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ร่างกายอ่อนเพลีย ตื่นมาไม่สดชื่น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคในผู้สูงอายุได้รวมถึงปัญหาน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุด้วยเช่นเดียวกัน
ความโดดเดี่ยวและความเหงา
การที่ผู้สูงอายุไม่ได้เจอเพื่อน เจอญาติหรือลูกหลานเท่าที่ควรก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน การอยู่ตัวคนเดียวหรือการไม่มีคนอยู่เคียงข้างก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุได้เช่นกัน ความโดดเดี่ยวอาจพาไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
ฮอร์โมนมีผลกระทบต่อพลังงาน การหลับนอน อารมณ์ ความรู้สึก และอีกหลายอย่างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิงที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นมีผลต่ออารมณ์ และจะลดลงอย่างมากเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์แปรปรวนมากกว่าปกติ
ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์
พฤติกรรมและอารมณ์ที่แปรปรวน โกรธง่าย พารานอยด์ ในวัยสูงอายุก็อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงอาการหลงลืม มีความบกพร่องด้านความจำที่เป็นปัญหาจากสมอง ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะสมองเสื่อมเช่นกัน
แนวทางการดูแลเมื่อผู้สูงอายุมีอาการอารมณ์แปรปรวน
- การสื่อสาร และการเห็นอกเห็นใจ
เมื่อผู้สูงอายุมีอารมณ์แปรปรวน เราต้องเรียนรู้ว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น นอกจากการเป็นผู้ฟังที่ดี ก็ต้องเป็นผู้พูดที่ดี การคุยกันอย่างเปิดใจและมีเหตุผลจะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้และสร้างโอกาสในการแก้ไขอารมณ์สวิงของผู้สูงอายุที่เป็นปัญหาได้ พยายามหาเวลาที่สามารถคุยเป็นเพื่อนได้
- หากิจกรรมที่หลากหลายทำ หาทางเพิ่มความสุขให้ผู้สูงอายุ
อารมณ์ที่แปรปรวนก็อาจมาจากความโดดเดี่ยว การที่ผู้สูงอายุได้ออกไปพบปะสังคม ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ หรือคนในครอบครัวจะช่วยให้สามารถปรับอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น และสามารถทำให้ความสัมพันธ์ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน รวมถึงการออกกำลังกายลดน้้ำหนักผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
- สังเกตความผิดปกติอยู่สม่ำเสมอ
สังเกตว่าผู้สูงอายุที่อารมณ์แปรปรวนนั้นเกิดจากอะไร มีพฤติกรรมแบบไหนบ้างที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกาย ถ้าเป็นไปได้ก็ควรถามถึงสาเหตุให้แน่ชัดเพื่อการแก้ปัญหาทางอารมณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เมื่ออารมณ์แปรปรวนของผู้สูงอายุไม่ดีขึ้น สิ่งที่สามารถทำได้คือการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอาการต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยอาการของผู้สูงอายุได้อย่างถี่ถ้วน
อารมณ์แปรปรวนในผู้สูงอายุมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาจเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การสูญเสียคนที่รักหรือคนในครอบครัว ความโดดเดี่ยว จนทำให้เกิดความเศร้า วิตกกังวล ทำให้ผู้สูงอายุมักมีอารมณ์สวิงในที่สุด แต่อารมณ์แปรปรวนนี้ก็สามารถแก้ไขได้ ควรใส่ใจให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้สายเกินไป
อ่านบทความเพิ่มเติม :
การป้องกันปัญหาสายตาผู้สูงอายุ เพื่อการมองเห็นระยะยาว
อาหารเพิ่มน้ำหนัก ผู้สูงอายุ ปัญหาน้ำหนักน้อยที่ห้ามมองข้าม
ผู้สูงอายุอ่อนเพลียไม่มีแรงกินอะไรดี แนะนำอาหารเพิ่มพลังที่ผู้สูงอายุไม่ควรพลาด