เห็ดเข็มทอง กินง่ายและได้ประโยชน์หลากหลาย
เชื่อว่าหลายคนรู้จักเห็ดเข็มทองเป็นอย่างดี เพราะเป็นอาหารที่อยู่ในหลายเมนูโดยเฉพาะชาบู หม่าล่า รวมไปถึงเมนูจิ้มจุ่ม สุกี้ ที่เวลาสั่งผักมา ก็จะมีเห็ดเข็มทองเสิร์ฟมาด้วย เนื่องจากเห็ดเข็มทองนั้นดูดซับน้ำได้ดี ทำให้เพิ่มรสขาติความอร่อย อีกทั้งยังสามารถรับประทานได้ง่ายกว่าผักชนิดอื่น ๆ เช่นเดียวกับเห็ดหูหนู แต่หลายคนที่รับประทานเห็ดเข็มทอง ก็อาจยังไม่รู้ว่าเห็ดชนิดนี้ดีต่อร่างกายอย่างไร เห็ดเข็มทอง ประโยชน์ของมันมีอะไรบ้าง กินอย่างไรให้ดีต่อร่างกาย พร้อมเมนูจากเห็ดเข็มทองแนะนำ
เห็ดเข็มทอง คืออะไร?
เห็ดเข็มทองหรือเห็ดเอโนกิ เติบโตในแถบเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและจีน มักจะโตเป็นกระจุกโดยโผล่ออกมาจากพื้นผิว เช่น ฟาง ขี้เลื้อย โตจากโคนของต้นไม้และต้นไม้ที่ตายแล้ว ปัจจุบันก็มีการเพาะเห็ดเพื่อขายและส่งออก ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นเหมือนดอกเข็ม สีออกส้มหรือน้ำตาลจากการที่เห็ดโดนแสงแดด ทำให้เป็นที่มาของชื่อเห็ดเข็มทอง (Golden needle mushroom) และยังมีอีกชื่อคือเห็ดฤดูหนาว (Winter mushroom) เห็ดเข็มทอง จัดอยู่ในสปีชีส์ Flammulina velutipes และมีลักษณะที่โดดเด่นด้วยลำต้นเรียวยาว ปลายหัวเห็ดเล็ก
เห็ดเข็มทอง เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในอาหารเอเชีย โดยเฉพาะในซุป เมนูผัด สลัด และเมนูหม้อต่าง ๆ อย่างหม่าล่า ชาบู สุกี้ รวมไปถึงจิ้มจุ่ม
และเห็ดเข็มทองก็มีประโยชน์มากมายที่ดีต่อร่างกาย ซึ่งเห็ดเข็มทองนั้นอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหาร นอกจากนี้ก็เป็นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำด้วยเช่นกัน
คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดเข็มทองจำนวน 65 กรัม จะมี
แคลอรี่ : 24
โปรตีน : 2 กรัม
ไขมัน : 0.2 กรัม
คาร์โบไฮเดรต : 5 กรัม
ไฟเบอร์ : 2 กรัม
มีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลาย เช่น ไนอาซิน (วิตามิน B3) ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2) และกรดแพนโทเทนิค (วิตามิน B5) และมีแร่ธาตุอย่าง โพแทสเซียม คอปเปอร์ ซีลีเนียม โฟเลต ไทอามิน
ประโยชน์ของเห็ดเข็มทอง
การรับประทานเห็ดเข็มทอง จะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลาย บำรุงสุขภาพหัวใจ เสริมสุขภาพสมองให้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในเรื่องของสุขภาพทางเดินอาหาร ลดอาการอักเสบ เป็นอาหารช่วยควบคุมน้ำหนัก และอาจลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
บำรุงสุขภาพหัวใจ
หากร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป ก็สามารถนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่สารฟีนอล (Phenols) และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ในเห็ดเข็มทอง ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ด้วยการไปต้านอนุมูลอิสระในไขมันเลวและทำให้การไขมันอุดตันในเส้นเลือดน้อยลง นอกจากนี้ เห็ดเข็มทองยังมีไฟเบอร์ และกรดไขมันดีอย่าง กรดลิโนเลอิก (Linoleic) และสารประกอบอย่างโลวาสแตติน (Lovastatin) และกาบ้า (Gamma aminobutyric acid : GABA) ที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและความดันเลือดได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เห็ดหลินจือก็มีสรรพคุณนี้เช่นกัน
เสริมสุขภาพสมองให้ดียิ่งขึ้น
โรคสมองเสื่อมอย่างอัลไซเมอร์ จะส่งผลต่อความจำและการทำงานของสมอง เนื่องจากสารอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์สมอง สารต้านอนุมูลอิสระในเห็ดเข็มทองอย่างฟีนอลและโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides) จะช่วยเข้าไปยับยั้งการถูกทำลายภายในเซลล์สมอง และทำให้การทำงานของสมองดีขึ้น
ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเป็นเกราะป้องกันโรคและการติดเชื้อได้ ซึ่งในเห็ดเข็มทอง จะมีโพลีแซคคาไรด์ มีโปรตีน และไรโบโซม (Ribosome) ที่เป็นโปรตีนที่ช่วยควบคุมถูมิคุ้มกันในร่างกาย นอกจากนั้นก็มีส่วนช่วยป้องกันมะเร็ง ป้องกันการแพ้ ป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส และป้องกันการอักเสบได้ด้วยเช่นกัน
ช่วยในเรื่องของสุขภาพทางเดินอาหาร
เนื่องจากเห็ดเข็มทอง เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่มีปริมาณไฟเบอร์สูง ซึ่งมีส่วนช่วยให้สุขภาพทางเดินอาหารดีขึ้น ลดการเกิดท้องผูก รวมถึงมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักได้ด้วยเช่นกัน
ลดอาการอักเสบ
สารประกอบหลายอย่างในเห็ดเข็มทอง รวมถึงโพลีแซคคาไรด์และเทอร์ปีนอยด์ (Terpenoids) มีส่วนช่วยในการลดและป้องกันการอักเสบได้ ซึ่งการรับประทานเห็ดเข็มทอง จะช่วยลดอาการอักเสบในร่างกายและบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะการอักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์หรือโรคข้ออักเสบชนิดอื่นด้วยเช่นกัน
เป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก
เห็ดชนิดนี้ มีแคลอรี่ต่ำและมีใยอาหารสูง ทำให้เห็ดเข็มทอง เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้ โดยช่วยให้รู้สึกอิ่มโดยที่ไม่ต้องได้รับปริมาณแคลอรี่สูง เหมาะสำหรับเป็นอาหารในการลดน้ำหนักและต้องการควบคุมปริมาณแคลอรี่
อาจลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
เช่นเดียวกับเห็ดชิตาเกะ มีการศึกษาวิจัยเห็ดเข็มทองกับโรคมะเร็ง ว่าในเห็ดเข็มทองจะมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็งและรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีสารประกอบสำคัญอย่างโพลีแซคคาไรด์และสารประกอบฟีโนลิค (Phenolic compound)
ข้อควรระวังก่อนการกินเห็ดเข็มทอง
การรับประทานเห็ดเข็มทอง สามารถทานได้อย่างปลอดภัย แต่มีการแนะนำว่าผู้ที่ท้อง ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นหรือคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรปรุงเห็ดเข็มทองจนสุกถึงจะรับประทานได้ นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการรับประทานเห็ดเข็มทองดิบ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย (Listeria monocytogenes) และเป็นสาเหตุของโรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis) ได้
เมนูจากเห็ดเข็มทอง ทำอะไรได้บ้าง?
เห็ดเข็มทอง เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปปรุงได้หลากหลาย เมนูจากเห็ดเข็มทองที่แนะนำและได้รับความนิยม เช่น เห็ดเข็มทองทอดกรอบ เห็ดเข็มทองผัดเบคอน ยำเห็ดอบวุ้นเส้น ยำเห็ดเข็มทอง เกี๊ยวทอดเห็ดเข็มทอง เต้าหู้ไข่เห็ดเข็มทอง เห็ดเข็มทองผัดเนย ไข่เจียวเห็ดเข็มทอง ต้มจืดหรือซุปที่ใส่เห็ดเข็มทอง ข้าวหน้าเห็ดเข็มทองใส่ไข่ เห็ดเข็มทองผัดน้ำมันหอย ผัดกะเพราใส่เห็ดเข็มทอง ยำทูน่าใส่เห็ดเข็มทอง
นอกจากเมนูที่แนะนำไปข้างต้น ก็สามารถนำเห็ดเข็มทองไปประยุกต์ได้อีกหลายเมนู ด้วยความที่เห็ดเข็มทองนั้นสามารถนำไปปรุงได้ง่าย เข้ากับทุกจานอาหาร ทำให้เห็ดเข็มทองเข้ากับอาหารหลายรูปแบบได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ การรับประทานเห็ดเข็มทองที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจริง ๆ ต้องปรุงเป็นอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ตรงหลัก 5 หมู่ จะทำให้การรับประทานเห็ดเข็มทองมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด
อ่านบทความเพิ่มเติม :
เห็ด ลดน้ำหนัก เด่นคุณค่า จัดมา อย่าให้เสีย!
กินซุปมิโซะทุกวัน กินได้ไหม นอกจากอร่อยแล้ว มีประโยชน์อะไรบ้าง
มันหวานญี่ปุ่น ประโยชน์ 7 อย่างที่ดีต่อร่างกายพร้อมความอร่อย