การบรรยายหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ ถึงแม้จะมีหัวข้อการบรรยายที่เฉพาะเจาะจงคือ “โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ” แต่เนื้อหาที่ผู้บรรยายซึ่งก็คือนายแพทย์พรพัฒนะ วิจิตรเวชไพศาล ได้พูดให้เราฟังนั้น มีความหลากหลายและครอบคลุมเนื้อหาซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกเพศทุกวัยเลยทีเดียว เนื่องจากในแต่ละช่วงอายุของคนเราจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคตาชนิดต่างๆ แตกต่างกันไป การมีความรู้ที่ถูกต้องและปฏิบัติตนให้เหมาะสมจะช่วยถนอมสายตาของเราให้ใช้การได้ดีไปอีกนาน ทั้งยังช่วยป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยค่ะ
ทราบหรือไม่คะว่าการมองเห็นของคนเรานั้นเกิดขึ้นที่สมอง และลูกตาเราเป็นเพียงเครื่องมือรับภาพเท่านั้น กระบวนการมองเห็นเริ่มจากการที่แสงตกกระทบกับวัตถุและเกิดการสะท้อนเข้ามาในลูกตาเราผ่านกระจกตา (ตาดำ) รูม่านตา เลนส์ตา และน้ำวุ้นตา จากนั้นแสงจะเข้ามาโฟกัสอยู่ที่จอประสาทตา (เรตินา) เกิดเป็นภาพขึ้น ข้อมูลของภาพเหล่านี้จะถูกส่งต่อจากเส้นประสาทตาไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น ซึ่งจะทำหน้าที่แปลข้อมูลที่ได้รับออกมาเป็นวัตถุในที่สุด ลูกตาของคนเราจึงทำหน้าที่เสมือนเป็นกล้องถ่ายรูป ในขณะที่จอประสาทตานั้นเปรียบเสมือนเป็นฟิล์มกล้องถ่ายรูปของเรานั่นเอง
การที่คนเรามีตาสีต่างกันนั้น มาจากความแตกต่างของสีของม่านตา คนไทยจะมีม่านตาสีน้ำตาล ในขณะที่ฝรั่งผิวขาวจะมีม่านตาสีฟ้าหรือเขียว (การทำตาเขียวของสาวๆ ทั้งหลาย อันนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องของสีของม่านตานะคะ)
เนื่องจากตาถือเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก เราจึงควรใส่ใจและสังเกตอาการผิดปรกติที่เกิดขึ้น สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนนั้นควรได้รับการตรวจคัดกรองการมองเห็น เพื่อให้ทราบว่ามีอาการตาสั้น ตายาว ตาเอียง หรือตาขี้เกียจหรือไม่ ในขณะที่คนวัยทำงานซึ่งใช้สายตาหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็ควรได้รับการตรวจดูความผิดปรกติของสายตาเช่นกัน สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้มาก ในขณะที่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงที่จอประสาทตาจะเสื่อมและเป็นต้อกระจกได้ นอกจากนี้แล้ว การเจ็บป่วยเป็นโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ก็อาจจะส่งผลต่อการมองเห็นด้วยเช่นกัน
ในการตรวจเพื่อคัดกรองความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับดวงตาเรานั้น จะมีการตรวจใน 4 เรื่องหลักด้วยกันคือ 1) การตรวจการมอง 2) การตรวจความดันลูกตา 3) การตรวจพยาธิสภาพของลูกตา และ 4) การตรวจจอประสาทตาทางอ้อม
การตรวจการมอง (Visual Function Assessment)
สำหรับการตรวจอย่างแรกคือการตรวจการมองนั้น จะมีการตรวจใน 5 มิติด้วยกันดังนี้ค่ะ
- ระดับการมอง
- การเห็น
- การแยกความแตกต่างของความมืดและความสว่าง
- การแยกสี
- การมองเห็น 3 มิติ
ระดับการมอง (Visual Acuity)
เราคงเคยไปวัดสายตาและอ่านตัวหนังสือที่อยู่บรรทัดบนสุดซึ่งมีขนาดตัวเท่าหม้อแกง ไล่บรรทัดลงมาเรื่อยๆ จนถึงบรรทัดสุดท้ายที่มีขนาดเล็กกว่ามดตัวน้อยตัวนิด โดยทั่วไปแล้วคนที่มีสายตาปรกติจะมองเห็นได้ในระยะ 20 ฟุตหรือ 6 เมตร ซึ่งก็คือระยะห่างปรกติที่เราต้องนั่งไกลออกมาจากแผ่นตัวหนังสือที่ต้องอ่านเวลาที่เราไปวัดสายตานั่นเองค่ะ
เคยสังเกตกันหรือไม่คะว่าตัวหนังสือบรรทัดบนสุดที่เราเห็นนั้น จะมีตัวเลขเขียนกำกับไว้ว่า 20/200 และในบรรทัดถัดลงมา ข้างๆ ตัวหนังสือก็จะมีตัวเลขกำกับไว้ว่า 20/100 เมื่อไล่ลงมาเรื่อยๆ ในแต่ละบรรทัด ก็จะมีตัวเลข 20/… กำกับไว้แตกต่างกันไป โดยตัวเลขตัวหลังนั้นจะมีค่าลดลงมาจนกระทั่งถึงเส้นที่ขีดไว้ว่าเป็นเกณฑ์สายตาปรกติ ก็จะมีตัวเลขที่เขียนไว้ว่า 20/20 กำกับอยู่ สงสัยกันบ้างหรือเปล่าคะว่าตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรเรา
จะเห็นได้ว่าตัวเลขตัวแรกนั้นถูกกำหนดไว้ที่ 20 เสมอ ในขณะที่ตัวเลขตัวหลังจะลดลงเรื่อยๆ จาก 200 ไป 100 ไป 70 50 40 30 25 20 …
ตัวเลขตัวแรกหมายถึงระยะ (หน่วยเป็นฟุต) ที่เราสามารถมองเห็นตัวหนังสือทุกตัวในบรรทัดนั้นได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ตัวเลขตัวหลังหมายถึงระยะที่คนปรกติสามารถมองเห็นตัวหนังสือทุกตัวชุดเดียวกันกับที่เรามอง ซึ่งมีหน่วยเป็นฟุตเช่นกัน
ดังนั้น 20/20 จึงหมายความว่าเราสามารถมองเห็นตัวหนังสือนั้นในระยะ 20 ฟุตซึ่งเป็นระยะไกลเท่ากับคนปรกติที่สามารถมองเห็นได้ชัดคือ 20 ฟุต 20/20 จึงแปลว่าสายตาเราปรกติดี ในขณะที่ 20/200 หมายความว่าเราสามารถมองเห็นตัวหนังสือชัดที่ระยะ 20 ฟุต ในขณะที่คนสายตาปรกติสามารถมองเห็นตัวหนังสือนั้นชัดเจนที่ระยะ 200 ฟุต และนี่คืออาการที่แสดงให้เห็นว่าสายตาเรามีความผิดปรกติในการมองเห็นที่เรียกว่าสายตาสั้นแล้วนะคะ
การมองเห็นในระดับ 20/30 จัดว่าอยู่ในระดับ -0.25D
การมองเห็นในระดับ 20/50 จัดว่าอยู่ในระดับ -0.50D ถึง -0.75D
การมองเห็นในระดับ 20/100 จัดว่าอยู่ในระดับ -1.00D
การมองเห็นในระดับ 20/200 จัดว่าอยู่ในระดับ -2.00D
อาการสายตาสั้นมักจะพบในเด็ก แต่คุณหมอไม่แนะนำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบไปตรวจตาตามร้านแว่นทั่วไป เนื่องจากเด็กจะเพ่งสายตาเวลาวัด ทำให้ค่าที่วัดออกมาได้ไม่สะท้อนกับความเป็นจริง เมื่อนำแว่นไปให้เด็กใส่ เด็กก็จะมีอาการปวดหัว ดังนั้น หากจะมีการวัดสายตาเด็ก อาจต้องมีการหยอดยาเพื่อไม่ให้เด็กเพ่งเวลาอ่านตัวหนังสือขณะวัดสายตาด้วยนะคะ
นอกเหนือจากการวัดระดับการมองเห็นด้วยตาเปล่าตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังสามารถวัดระดับการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย โดยค่าที่วัดได้จะเป็นค่าเฉลี่ยที่ได้จากการยิงแสงเข้าไปในตาเราหลายๆ ครั้ง และวัดผลการมองเห็นของตาแต่ละข้าง โดยจะมีค่าที่วัดออกมาดังนี้ค่ะ
S (Sphere) – ค่าที่บอกว่าสายตาเราสั้นหรือยาว ถ้าสายตาสั้น ค่าที่วัดได้จะเป็นค่าลบ ในขณะที่สายตายาวจะวัดค่าได้เป็นบวก
C (Cylinder) – ค่าที่บอกว่าเราสายตาเอียงมากน้อยแค่ไหน
A (Axis) – ค่าที่บอกว่าแกนสายตาเอียงเท่าใด
ADD – ค่ากำลังเลนส์ที่เราใช้สำหรับอ่านหนังสือ
การเห็น (Visual Field)
ขอบเขตการมองเห็นภาพทั้งหมดของเราเรียกว่า “ลานสายตา” หากเรามองตรงไปข้างหน้า เราสามารถจะเห็นวัตถุหรือสิ่งของที่อยู่ด้านบนของเส้นสายตาในรัศมีทำมุมขึ้นไปไม่เกิน 60 องศาจากระดับสายตา (คนละเรื่องกับการมองบนนะคะ อย่าสับสน …) และมองเห็นวัตถุด้านล่างในรัศมีทำมุมลงมาจากระดับสายตาไม่เกิน 75 องศา สำหรับขอบเขตการมองเห็นด้านซ้ายและขวานั้น หากเรามองตรงไปด้านหน้า เราจะสามารถมองเห็นวัตถุสิ่งของที่อยู่ทางขวาของแนวเส้นสายตาประมาณ 100 องศา และเห็นวัตถุสิ่งของที่อยู่ทางซ้ายของแนวเส้นสายตาประมาณ 60 องศาค่ะ
ผู้ที่เป็นต้อหินมักจะมีปัญหาเรื่องลานสายตา ซึ่งจะทำให้ขอบเขตการมองเห็นแคบกว่าคนปรกติ คนที่เป็นต้อหินจะมองไม่เห็นคน วัตถุ หรือสิ่งของที่อยู่ทางซ้ายสุดหรือขวาสุดเหมือนคนที่มีลานสายตาปรกติได้ เมื่อขับรถจึงอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
การแยกความแตกต่างของความมืดและความสว่าง (Contrast Sensitivity)
เวลาที่แสงสะท้อนเข้าไปในตาและเกิดเป็นภาพที่จอตานั้น ภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็คล้ายกับภาพที่เราเห็นบนจอคอมพิวเตอร์ กล่าวคือความสว่างของภาพนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของแสง หากเราลดความสว่าง สิ่งที่เห็นบนจอก็จะมืดลง แต่หากเราปรับแสงเพิ่มขึ้น ภาพที่เห็นก็จะสว่างมากขึ้น การวัดความสามารถในการแยกความแตกต่างของความมืดและความสว่างนั้นเป็นการวัดความสามารถในการมองและแยกวัตถุออกจากแบคกราวด์ที่อยู่ด้านหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแสงสว่างจ้าหรือเมื่ออยู่ในที่มืด
การแยกสี (Color Vision)
สีที่เรามองเห็นนั้นไม่ได้มีจริง หากแต่เป็นประสบการณ์ในการรับรู้สีจากการที่ความยาวคลื่นของแสงนั้นมาตกกระทบกับวัตถุแล้วสะท้อนเข้าสู่ตาเรา ตาบอดสีเป็นเรื่องเกี่ยวของความสามารถในการรับรู้สีและแยกความแตกต่างระหว่างสีซึ่งมีการเพี้ยนไป ส่งผลทำให้การรับแสงสีแดงและสีเขียวมีความใกล้เคียงกัน ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นตาบอดสีได้มากกว่าผู้หญิง โดยพบตาบอดสี 8-16 คนในผู้ชาย 200 คน ในขณะที่จะพบตาบอดสีในผู้หญิงเพียง 1 คนจากผู้หญิง 200 คน
คนที่ตาบอดสีไม่รุนแรงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปรกติ เวลาขับรถจะมองเห็นไฟแดงไฟเขียวแต่ไม่ใช่สีแดงสีเขียวแบบที่คนสายตาปรกติทั่วไปมองเห็น สีที่คนตาบอดสีมองเห็นจะหม่นกว่าปรกติ ผู้ที่ตาบอดสีไม่ควรประกอบอาชีพบางอาชีพซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์หรือเภสัช
การมองเห็น 3 มิติ (Binocular Vision and Stereopsis)
โดยทั่วไปแล้วเมื่อเราใช้ตา 2 ข้างมองคน วัตถุ สิ่งของ ตาทั้ง 2 ข้างจะทำงานร่วมกัน ทำให้เรามองเห็นเป็นภาพ 3 มิติ เกิดเป็นภาพเพียงภาพเดียว เรายังสามารถรับรู้ความลึกและกะระยะวัตถุต่างๆ ได้ด้วย แต่หากมีความผิดปรกติในการมองเห็นของตา 2 ข้างพร้อมกันก็อาจทำให้เกิดอาการตาเข ตาขี้เกียจ หรือมองเห็นภาพซ้อนได้ การมองเห็น 3 มิติทดสอบได้โดยการใส่แว่นสำหรับตรวจโดยเฉพาะค่ะ
ผู้ที่มีตาเพียงข้างเดียวนั้น สามารถขับรถได้โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทั้งยังสามารถแยกแยะวัตถุสิ่งของจากประสบการณ์ที่เคยพบเจอได้ เช่น เมื่อเห็นนกกับเครื่องบิน ก็จะแยกแยะวัตถุจากขนาดและระยะทาง ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้คือนก สิ่งที่อยู่ไกลนั้นคือเครื่องบิน
การตรวจตาในวัยเด็กนั้น นอกจากจะตรวจดูในเรื่องของสายตาสั้น ยาว เอียงแล้ว ยังควรตรวจดูในเรื่องของตาขี้เกียจด้วย เพราะหากตรวจพบหลังอายุ 10 ขวบแล้ว จะกู้คืนสายตาไม่ได้ ตาขี้เกียจเป็นโรคที่ตามีความผิดปรกติ ทำให้ภาวะการมองเห็นลดลง เนื่องจากตาทั้ง 2 ข้างนั้นมองเห็นไม่เท่ากัน จึงทำให้เด็กมักจะใช้งานสายตาข้างที่มองเห็นชัดมากกว่าตาอีกข้างหนึ่ง การรักษาตาขี้เกียจสำหรับเด็กทำได้โดยการกระตุ้นให้เด็กใช้งานตาที่ขี้เกียจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจใช้เกมส์ในการฝึกสายตาสำหรับเด็กค่ะ
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการตรวจในเรื่องแรกคือการตรวจการมองเท่านั้นเองค่ะ ยังมีอีก 3 เรื่องหลักที่เหลือซึ่งควรต้องได้รับการตรวจด้วย ซึ่งก็คือ การตรวจความดันลูกตา การตรวจพยาธิสภาพของลูกตา และการตรวจจอประสาทตาทางอ้อมค่ะ
การตรวจความดันลูกตา (Intraocular Pressure)
ในลูกตาจะมีส่วนประกอบที่เป็นของเหลวอยู่ โดยร่างกายจะมีการสร้างน้ำในลูกตาและระบายออกมา (แต่ไม่ใช่น้ำตานะคะ) ค่าความดันของของเหลวภายในลูกตาจะเป็นการบ่งบอกว่าการสร้างน้ำและระบายน้ำในลูกตามีความสมดุลหรือไม่ การตรวจความดันของลูกตาทำได้โดยการเป่าลมไปที่กระจกตาเพื่อดูการไหลเวียนของน้ำในลูกตา ค่าความดันลูกตาที่จัดว่าปรกตินั้นไม่ควรจะเกิน 20 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันในลูกตาสูงผิดปรกติ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นต้อหินได้
การตรวจพยาธิสภาพของลูกตา (Slit Lamp)
การตรวจพยาธิสภาพของลูกตาเป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่มีกำลังขยายสูงตรวจองค์ประกอบของตา ไม่ว่าจะเป็นเปลือกตาบน เปลือกตาล่าง กระจกตา ม่านตา เลนส์ตา เยื่อบุตา และตาขาว เพื่อดูว่ามีความผิดปรกติใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น โรคกุ้งยิงที่เปลือกตา หรือการขุ่นมัวของเลนส์ตาซึ่งเป็นอาการบอกเหตุของต้อกระจก
การตรวจจอประสาทตาทางอ้อม (Indirect Ophthalmoscope)
จอประสาทตาทำหน้าที่นำภาพที่อยู่บนเรตินาส่งต่อจากเส้นประสาทตาไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น หากจอประสาทตามีความผิดปรกติก็จะทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็นหรืออาจทำให้สูญเสียการมองเห็นเลยก็เป็นได้
ลูกตาเปรียบเสมือนเป็นกล้องถ่ายรูป ในขณะที่จอประสาทตาเปรียบเสมือนเป็นฟิล์มกล้องถ่ายรูป หากฟิล์มมีความเสียหายเกิดขึ้น ภาพถ่ายจากกล้องก็จะมีคุณภาพไม่ดี การตรวจจอประสาทตาทางอ้อมจะช่วยให้จักษุแพทย์สามารถตรวจหาความผิดปรกติของจอประสาทตาได้ตั้งแต่ระยะแรกนั่นเองค่ะ
ถัดจากเรื่องของการตรวจตา ก็นำมาสู่เรื่องของปัญหาโรคตาที่พบบ่อยค่ะ โรคตาที่พบบ่อยมีดังนี้
จุดดำลอยไปมา
อาการเห็นเป็นจุดดำ เป็นเส้น หรือเป็นใยแมงมุมลอยไปลอยมานั้น เกิดจากน้ำวุ้นในลูกตาเสื่อมสภาพหรือตกตะกอน โดยมักจะมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยในที่สว่าง เวลาที่เรามองท้องฟ้า หรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน บางคนอาจเห็นเหมือนเป็นหมอกก็ได้ การเห็นเป็นจุดดำนั้นเพียงแค่สร้างความรำคาญให้กับเราแต่ไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด และเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม อาการที่จัดว่าอันตรายคือการเห็นสายฟ้าแลบเหมือนแฟลชถ่ายรูป ซึ่งเกิดจากจอประสาทตาอาจหลุดหรือฉีกขาด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากตาที่สั้นมากหรือจอประสาทตาบาง การหลุดหรือฉีกขาดของจอประสาทตาทำให้เกิดตะกอนวุ้นตามากขึ้นกว่าเดิมมากและส่งผลต่อการมองเห็น โดยอาจทำให้ภาพบางส่วนหายไป ด้วยเหตุนี้ หากเราเห็นสายฟ้าแลบในตา เราควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที หากมีตะกอนวุ้นตาเป็นจำนวนมาก จักษุแพทย์จะทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์ที่ตะกอนวุ้นตาให้มีขนาดเล็กลง
สายตาผิดปรกติ
สายตาผิดปรกติแบ่งออกเป็น 3 แบบค่ะคือสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง
ผู้ที่มีสายตาสั้นเมื่อมองใกล้จะชัดแต่มองไกลจะไม่ชัด เนื่องจากโฟกัสของแสงนั้นตกก่อนถึงจอตา สายตาสั้นสามารถแก้ได้โดยการใส่เลนส์ซึ่งก็คือการใส่แว่นสายตานั่นเองค่ะ
ผู้ที่มีสายตายาวจะมองเห็นไม่ชัดทั้งใกล้และไกล เนื่องจากโฟกัสของแสงนั้นตกที่ด้านหลังของจอตา หากจะมองไกลให้ชัดต้องใช้การเพ่ง สายตายาวในลักษณะนี้เป็นภาวะการผิดปรกติของสายตาซึ่งพบได้ในเด็ก และแตกต่างจากสายตาผู้สูงอายุที่เราคุ้นเคยกัน สายตาผู้สูงอายุนั้นเกิดจากความสามารถในการเพ่งวัตถุระยะใกล้ที่ลดลง ทำให้ต้องใช้แว่นเมื่อมองระยะใกล้เช่นเวลาอ่านหนังสือเท่านั้น เนื่องจากผู้สูงอายุยังมองไกลชัดอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตลอดเหมือนกับผู้ที่มีอาการสายตายาวที่มองเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล
ผู้ที่มีสายตาเอียงจะมองไม่ชัดทั้งใกล้และไกลเนื่องจากกระจกตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอ ความโค้งที่ไม่เท่ากันทำให้แสงถูกโฟกัสที่ด้านหน้าและด้านหลังของจอตา ทำให้เห็นภาพเบลอหรือภาพซ้อนขึ้น สายตาเอียงสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นเช่นกัน
เปลือกตาอักเสบ (กุ้งยิง)
อาการของตากุ้งยิงในช่วงแรกจะไม่มีไข้และไม่มีอาการเจ็บ แต่หากปล่อยไว้ 1-2 วันก็จะเป็นหนองได้ ถ้าเห็นการผิดปรกติแต่ยังไม่เป็นหนอง ควรเริ่มด้วยการหยอดยาปฏิชีวนะ รวมทั้งยารับประทาน และประคบอุ่นบ่อยๆ เพื่อลดการอักเสบและจะช่วยให้ไขมันนั้นสลายไปไม่กลายเป็นหนอง แต่หากมีจุดหนองเกิดขึ้นแล้ว ต้องเจาะระบายหนองออก ถ้าหนองออกมาไม่หมดจะมีอาการบวมจนต้องไปกรีดหนองออก และข้างในอาจเกิดเป็นพังผืดได้
ตากุ้งยิงในผู้หญิงอาจเกิดจากการเช็ดมาสคาราออกไม่หมด ในขณะที่ตากุ้งยิงในผู้ชายนั้นอาจเกิดจากการสะสมของฝุ่นค่ะ
ตาแดง
ตาแดงเกิดจากการแพ้ลม ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หรือยา ตาแดงอาจมีสาเหตุมาจากเชื้อโรค เช่น ไวรัส หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา มีการอักเสบในลูกตา หรือต้อหินก็เป็นได้
ตาแดงจากเชื้อไวรัสจะมีอาการน้ำตาไหลเยอะ และตาเริ่มแดงที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นตาอีกข้างหนึ่งจะแดงตามมา ในขณะที่ตาแดงเนื่องมาจากแบคทีเรียนั้นขี้ตาจะไม่ใส มีความขุ่นเหมือนกับเป็นหนอง มีขี้ตาเยอะและมักมีอาการเพียงข้างเดียว ส่วนตาแดงจากภูมิแพ้นั้นจะมีขี้ตาไม่เยอะ มีอาการตาแดงแบบเป็นๆ หายๆ มีอาการคันและมักพบในเด็ก
เมื่อมีฝุ่นผงเข้าตานั้น คุณหมอแนะนำว่าห้ามใช้มือขยี้ตา ให้หลับตาสักครู่ ลืมตาขึ้น และส่องกระจก จากนั้นใช้ Cotton Bud ที่สะอาดเช็ดฝุ่นผงออกหรือลืมตาในน้ำสะอาดแล้วกลอกตาไปมา โดยอาจต้องมีการพลิกหนังตาบนหรือดึงหนังตาล่างร่วมด้วยค่ะ
เลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว
การไอ จาม เบ่ง ทำให้เส้นเลือดแตกได้ โดยจะมีอาการอยู่ประมาณ 14 วัน หากมีอาการเลือดออกดังกล่าวควรจะประคบเย็นใน 48 ชั่วโมงแรก และประคบอุ่นหลังจากนั้น สำหรับผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดและมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาวนั้น ควรต้องไปพบแพทย์
ต้อลมและต้อเนื้อ
ต้อลมคือการเกิดก้อนเนื้องอกบนตาขาวข้างกระจกตาดำ โดยก้อนเนื้อจะมีลักษณะนูนเหลือง ต้อลมสามารถเกิดได้ทั้งที่หัวตาและหางตาแต่มักจะพบบ่อยที่หัวตามากกว่า สาเหตุของการเกิดต้อลมมาจากการที่ตาถูกรังสี UV ในแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เยื่อบุตาขาวสร้างสารประเภทโปรตีนและไขมันออกมามากกว่าปรกติจนเกิดเป็นก้อนหรือแผ่นหนา ผู้ที่เป็นต้อลมจะมีอาการแสบเคืองตา มีน้ำตาไหล บางคนมีปัญหาเรื่องการมองเห็น ต้อลมรักษาได้โดยการหยอดตา
ต้อเนื้อคือต้อลมที่ขยายตัวและหนาเพิ่มขึ้นจนลุกลามเข้าไปในกระจกตา (ตาดำ) เราสามารถป้องกันการเกิดต้อลมและต้อเนื้อโดยการหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด ถูกลม และสวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกกลางแจ้งที่มีแดดจัด
สายตาผู้สูงอายุ
สายตาผู้สูงอายุนั้นไม่ใช้สายตายาว แต่เป็นการเสื่อมสภาพตามอายุ (สะเทือนใจเล็กๆ) เมื่อเรามีอายุมากขึ้น ดวงตาของเราก็จะเสื่อมลงเป็นลำดับ ส่งผลให้การมองเห็นของเรามีปัญหาได้ เนื่องจากความสามารถในการเพ่งสายตาของเราจะลดลง
สายตาผู้สูงอายุจะเกิดกับทุกคนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการมองไกลชัดแต่มองใกล้ไม่ชัด สมัยตอนเราเป็นเด็กนั้น เวลาเราจะดูวัตถุสิ่งของที่อยู่ในระยะใกล้ เราจะใช้การเพ่งเพื่อปรับโฟกัสให้ภาพที่เรามองเห็นมีความชัดเจน แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น กำลังในการเพ่งของเราลดลงเนื่องจากเลนส์ตาขาดความยืดหยุ่น ส่งผลทำให้สิ่งที่เรามองในระยะใกล้นั้นขาดความคมชัด
อย่างไรก็ตาม เราสามารถแก้ได้ด้วยการใส่แว่นอ่านหนังสือเพื่อช่วยในการมองเห็นระยะใกล้ เพราะถ้าหากเราไม่ใส่แว่นแล้ว เราอาจมองเห็นได้แต่ต้องยืดระยะออกไป นอกจากนี้ เราจะปวดตาและตาล้าได้ง่ายด้วย เปรียบเสมือนเวลาเราไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อไปซื้อของแต่เราไม่ใช้รถเข็น ใช้มือถือของไปเรื่อยๆ เมื่อถือของหนักเป็นเวลานาน มือและแขนของเราก็จะล้า ดวงตาของเราก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันค่ะ
สำหรับผู้สูงอายุที่ชอบหลงลืมแว่นตามที่ต่างๆ ถ้าอยากจะซื้อแว่นตาสำเร็จรูปแบบไม่แพงพกติดตัวไว้ ก็สามารถที่จะใช้เกณฑ์คร่าวๆ ดังนี้ได้ค่ะ
อายุ 40-44 ปี ใช้แว่นตาที่เขียนว่า +1.50D
อายุ 40-49 ปี ใช้แว่นตาที่เขียนว่า +2.00D
อายุ 50-54 ปี ใช้แว่นตาที่เขียนว่า +2.50D
อายุ 55 ปีขึ้นไป ใช้แว่นตาที่เขียนว่า +3.00D
ต้อหิน
ต้อหินถือเป็นสาเหตุของตาบอดเป็นอันดับ 2 ของประชากรทั่วโลกรองลงมาจากต้อกระจก โดยที่ 9 ใน 10 ของคนที่เป็นต้อหินจะไม่มีอาการใดๆ และในบรรดาคนไทยเกือบ 70 ล้านคนนั้น มีคนที่เป็นต้อหินมากกว่า 2 ล้านคนเลยทีเดียว โดยที่ 80% ของคนที่เป็นต้อหินนั้นไม่ทราบว่าตนเป็นต้อหินมาก่อน
ต้อหินเกิดจากพันธุกรรมและสามารถเกิดเองได้เช่นกัน โดยสามารถเกิดได้กับคนทุกกลุ่มอายุ ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของขั้วประสาทตา ผู้ที่จัดว่ามีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินได้แก่กลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ที่มักจะซื้อยาหยอดตามาใช้เอง และผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุที่ดวงตามาก่อน
อย่างที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าผู้ที่เป็นต้อหินมักจะมีปัญหาเรื่องลานสายตา ด้วยเหตุนี้ ขอบเขตการมองเห็นจึงแคบกว่าคนสายตาปรกติ หากคนที่เป็นต้อหินขับรถก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะจะมองไม่เห็นคน วัตถุ หรือสิ่งของที่อยู่ทางซ้ายสุดหรือขวาสุดเหมือนคนที่มีลานสายตาปรกติได้
ข่าวดีก็คือว่าต้อหินสามารถแก้ไขได้โดยการหยอดยาและการผ่าตัดค่ะ แต่ควรต้องเป็นการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป ก็จะไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปรกติได้และอาจจะตาบอดได้ เปรียบเสมือนกับการนำน้ำไปดับไฟ ถ้าไฟลุกไหม้ไปแล้วเป็นเวลานาน ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถจะย้อนคืนกลับสู่สภาวะปรกติได้ ด้วยเหตุนี้ การตรวจตาเพื่อให้พบอาการของโรคและรีบรับการรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
เป้าหมายของการรักษาต้อหินนั้นคือการช่วยลดความดันลูกตา เพื่อหยุดหรือชะลอการทำลายขั้วประสาทตา ส่งผลให้การมองเห็นคงที่ไปตลอดชีวิต ไม่เสื่อมลงกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยค่ะ
ต้อกระจก
เมื่อเรามีอายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาของเราจะแข็งและขุ่น สายตาของเราจึงมัวลงกว่าเดิม แต่จะเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์ค่ะ
ขั้นตอนทั่วไปในการรักษาต้อกระจกนั้นเริ่มด้วยการเตรียมการผ่าตัด ซึ่งเป็นการตรวจวัดดวงตาเพื่อคำนวณกำลังเลนส์แก้วตาเทียมที่ถูกต้อง จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ถูกดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว โดยมีการใช้ยาชาเฉพาะที่เช่นยาชาหยอดตาร่วมด้วย ภายหลังการผ่าตัดแล้วก็จะเป็นการตรวจติดตามผล ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันรุ่งขึ้นของการผ่าตัดและอีก 1 เดือนหลังจากนั้นหากมีความจำเป็น สุดท้ายก็คือการตรวจตามปรกติซึ่งเป็นการตรวจโดยจักษุแพทย์เป็นระยะค่ะ
ปิดท้ายการบรรยายในครั้งนี้ด้วยเรื่องของ LASIK ค่ะ
LASIK
การรักษาตาที่ผิดปรกติในยุคแรกเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น มีชื่อเรียกว่า PRK ซึ่งเป็นอักษรย่อของคำว่า Photorefractive Keratectomy PRK เป็นการยิงเลเซอร์ไปบนกระจกตาโดยตรง เพื่อผ่าตัดนำผิวเนื้อเยื่อของกระจกตาออกและปรับแต่งความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข การยิงเลเซอร์แบบนี้ทำให้กระจกตาเป็นแผล เนื่องจากกระจกตานั้นไวต่อความรู้สึก การทำ PRK จึงทำให้เกิดอาการน้ำตาไหลพรากขึ้นได้
LASIK ถือเป็นเทคโนโลยีในยุคที่ 2 ที่ใช้รักษาตาที่ผิดปรกติ LASIK เป็นตัวย่อของคำว่า LASer In situ Keratomileusis ซึ่งเป็นการรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง โดยการเปิดเนื้อกระจกตาด้านนอกออกมาเป็นฝา แล้วใช้แสงเลเซอร์ยิงไปยังกระจกตาด้านในเพื่อปรับแต่งความโค้งของกระจกตาให้มีความเหมาะสมกับค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข จากนั้นจึงปิดผิวกระจกตาที่เปิดออกมาดังเดิมโดยไม่มีการเย็บแผลหรือฉีดยาชา การทำ LASIK จะทำให้เกิดแผลที่กระจกตาขนาดประมาณ 20 มิลลิเมตร LASIK เป็นการรักษาโดยการแก้ไขที่กระจกตาโดยตรงแทนการใส่แว่นเพื่อปรับแก้การมองเห็น เนื่องจากการทำ LASIK นั้น อาจทำให้กระจกตาแห้งได้ แพทย์จึงไม่แนะนำให้ผู้ที่ตาแห้งทำ LASIK
SMILE ถือเป็นเทคโนโลยีในยุคที่ 3 ที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาตาที่ผิดปรกติที่พัฒนามาจาก LASIK โดยจักษุแพทย์จะนำชิ้นส่วนกระจกตาออกมาทางรอยตัดขนาดเล็กซึ่งมีขนาดเพียง 2 มิลลิเมตรเท่านั้น เพื่อมาปรับแต่งความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข แผลที่มีขนาดเล็กจะทำให้แผลหายเร็ว และตาจะไม่แห้งเท่ากับการทำ LASIK ค่ะ
การบรรยายในวันนี้ทำให้เราได้ทราบถึงการตรวจตาด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงโรคตาที่พบบ่อย ทำให้เราได้ทราบเกี่ยวกับอาการ สาเหตุที่มา และการรักษาโรค รวมถึงการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงโรคตาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเราและคนรอบตัวได้อย่างครบถ้วน
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายแพทย์พรพัฒนะ วิจิตรเวชไพศาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา มะเร็งตา ตาเข และจักษุวิทยาเด็ก สำหรับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคตาให้กับนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ค่ะ
………………………
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์