ดูแลดวงตาด้วยอาหารที่มีประโยชน์
ไม่มีอวัยวะส่วนไหนในร่างกายสำคัญที่สุด อวัยวะทุกส่วนต่างมีความสำคัญต่อร่างกายและมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากหรืออาจสำคัญที่สุดต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้น นอกจากร่างกายส่วนอื่นที่เสื่อมลงตามเวลาแล้ว การมองเห็นของดวงตาก็อาจแย่ลงไปด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ปัญหาโรคแทรกซ้อนหรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ ก็อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ดวงตาเสื่อมเสียจนอาจสูญเสียการมองเห็น การป้องกันปัญหาสายตา ผู้สูงอายุ เลยเป็นปัจจัยสำคัญของการมองเห็น วิธีการดูแลดวงตาและสายตาของผู้สูงอายุที่ดีวิธีหนึ่ง คือการทานอาหารบำรุงสายตาสำหรับผู้สูงอายุ ที่นอกจากจะช่วยดูแลดวงตาแล้ว ก็ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นเช่นกัน อาหารเหล่านั้นมีอะไรบ้าง สารอาหารอะไรที่สำคัญ
สารอาหารและอาหารประเภทไหน ที่ช่วยบำรุงสายตาให้กับผู้สูงอายุ
สาเหตุของปัญหาโรคทางสายตา อาจมาจากการสาดอาหารที่สำคัญ สารอาหารอะไรบ้าง อาหารประเภทไหนบ้าง ที่จำเป็นต่อดวงตา ช่วยบำรุงสายตาได้ ตัวอย่างมีดังนี้
วิตามิน A
การขาดวิตามิน A เป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นสาเหตุหนึ่งที่พบเจอได้บ่อยทั่วโลก ซึ่งความสำคัญของวิตามิน A คือการมีส่วนช่วยให้เซลล์รับแสงหรือ Photoreceptors คงที่ หากขาดวิตามิน A อาจส่งผลให้ตาแห้ง ภาวะตาบอดกลางคืน หรืออาจเกิดอาการร้ายแรงอย่างอื่นได้ ขึ้นอยู่ว่าขาดวิตามิน A มากน้อยแค่ไหน
อาหารที่มีวิตามิน A เช่น ตับไข่แดง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม หรือได้จากผลไม้และผักบางชนิด
ลูทีนและซีแซนทีน (Lutein and Zeaxanthin)
เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยกรองรังสียูวีจากแดดที่จอประสาทตาและเลนส์ตา ชะลอการเกิดต้อกระจกหรือโรคจอตาเสื่อม
อาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีน เช่น ผักโขม ผักคะน้า ผักชีฝรั่ง พิสตาชิโอ ถั่วลันเตา เป็นต้น
โอเมก้า 3
ภายในโอเมก้า 3 จะมี DHA ที่ช่วยรักษาการทำงานของดวงตา การขาด DHA อาจทำให้การมองเห็นบกพร่องได้ รวมถึง EPA ที่ช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคทางตา
อาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาที่มีกรดไขมันสูงอย่างปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน น้ำมันปลา ถั่ววอลนัท ดอกกะหล่ำ ไข่ ถั่วเหลือง เป็นต้น
วิตามิน C
ดวงตาต้องการสารต้านอนุมูลอิสระสูง สำคัญอย่างมากต่อดวงตา และวิตามิน C ก็อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
อาหารที่มีวิตามิน C สูง เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว บร็อคโคลี่ กำหล่ำ ผักคะน้า เป็นต้น
วิตามิน E
วิตามิน E จะมีส่วนช่วยในการปกป้องกรดไขมันไม่ให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติภายในร่างกาย เนื่องจากดวงตาที่ต้องการกรดไขมันจำนวนหนึ่ง ทำให้วิตามิน E สำคัญต่อดวงตา
อาหารที่มีวิตามิน E สูง เช่น แอลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นต้น
สังกะสี (Zinc)
ในดวงตามีสังกะสีจำนวนมาก ซึ่งมีบทบาทสำคัญโดยมีเอนไซม์ที่จำเป็นหลายชนิดและทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จำเป็นต่อการป้องกันดวงตา
อาหารที่มีสังกะสีสูง เช่น หอยนางรม เนื้อสัตว์ ตับ ฟักทอง ถั่วบางชนิด เป็นต้น
โรคดวงตาที่พบเห็นได้บ่อยในผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงที่จะทำให้สุขภาพแย่ลงก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับดวงตาที่เสื่อมสภาพลง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางดวงตา เช่น
จอประสาทตาเสื่อมที่เกี่ยวเนื่องกับอายุ
เป็นโรคตาเสื่อมที่ส่งผลต่อจุดภาพตรงกลางของจอประสาทตา ทำให้มีปัญหาในการมองเห็น อีกทั้งยังเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็นได้อีกด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ต้อกระจก
เกิดขึ้นเมื่อเลนส์ตาขุ่นมัว ทำให้มองเห็นไม่ชัด และโรคต้อกระจก เป็นภาวะทางสายตาอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ
ต้อหิน
เป็นโรคทางสายตาโรคหนึ่งที่สามารถทำลายเส้นประสาทตาได้ มักเกิดจากความดันตาที่สูงจนเกินไป อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
โรคเบาหวานขึ้นตา
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงโรคเบาหวานขึ้นตาได้ เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง เข้าไปทำลายหลอดเลือดในจอประสาทตา ทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น
โรคตาแห้ง
เมื่ออายุมากขึ้น ดวงตาอาจมีน้ำตาน้อยลงจนทำให้เกิดอาการตาแห้ง อาจทำให้ไม่สบายตา ปวดตา ตาแดงและรู้สึกแสบตา
จอตาลอกหรือจอประสาทตาลอก
ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางคนหรือช่วงสูงวัย เป็นภาวะจอตาหลุดออกจากผนังลูกตา เซลล์ประสาทตาจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ หากทิ้งไว้นาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียการมองเห็นมากขึ้น
นอกจากโรคทางตาที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ก็อาจมีโรคทางตาอื่น ๆ อีกหลายโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ การได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
โรคอะไรบ้าง ที่ส่งผลเสียต่อดวงตา
ด้วยปัจจัยโรคต่าง ๆ ในผู้สูงอายุ ก็เป็นสาเหตุของความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางดวงตาได้ด้วย เช่น
โรคเบาหวาน : โรคเบาหวาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตาได้ เกิดจากน้ำตาลในหลอดเลือดดวงตาสูงเกินไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อดวงตา เกิดปัญหาการมองเห็นหรืออาจสูญเสียการมองเห็นได้
โรคความดันโลหิตสูง : โรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่เข้าไปทำลายเส้นเลือดภายในดวงตาเนื่องจากความดันโลหิตสูงจนเกินไป ทำให้เกิดปัญหาการมองเห็น
ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ : ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการมองเห็นได้ด้วยเช่นกัน
โรคหัวใจและหลอดเลือด : โรคทางหัวใจและหลอดเลือดบางโรค อาจส่งผลต่อปริมาณเลือดที่เข้าไปเลี้ยงดวงตา อาจเกิดโรคทางจอประสาทตาได้
โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) : โรคที่เกิดจากการที่เซลล์อักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงดวงตาด้วยเช่นกัน อาจทำให้เกิดม่านตาอักเสบ
โรคลายม์ (Lyme disease) : เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจากการถูกเห็บกัด สามารถทำให้เกิดอาการทางตาได้ เช่น เยื่อบุตาอักเสบหรือตาอักเสบ
ไมเกรน : ไมเกรนเรื้อรัง อาจส่งผลต่ออาการด้านการมองเห็นได้ หรืออาจเกิดขึ้นได้ชั่วคราว
นอกจากโรคที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นนี้ ก็อาจมีโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลเสียต่อการมองเห็นด้วยเช่นกัน ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยตรง
การดูแลดวงตาในวัยสูงอายุ เป็นเรื่องสำคัญมาก อาจเกิดจากปัจจัยหลากหลายที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น นอกจากการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว สารอาหารในอาหารที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็จำเป็นเช่นกัน เพื่อการมองเห็นระยะยาว ชะลอการเสื่อมเสียของดวงตา
อ่านบทความเพิ่มเติม :
10 วิธีดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง