ผู้สูงอายุกับการได้ยินที่ลดน้อยลง
เมื่อมีอายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายก็เสื่อมลงตามเวลา ทำให้มีปัญหาสุขภาพหรือสามารถเกิดโรคได้ง่ายกว่าวัยที่ผ่านมา และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของวัยสูงอายุคือปัญหาการได้ยินที่เสื่อมลง ทำให้ไม่สามารถได้ยินเสียงได้เหมือนปกติหรือบางคนอาจสูญเสียการได้ยิน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมากและทำให้เป็นปัญหาในการสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งการได้ยินที่ไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการที่ประสาทหูเสื่อม แล้วประสาทหูเสื่อม อาการเป็นอย่างไร ปัญหาการได้ยินที่ไม่ควรมองข้าม
ประสาทหู เสื่อมตามอายุ
ประสาทหูเสื่อม สาเหตุหลักที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุคือการเสื่อมของหูชั้นในที่เสื่อมตามเวลาหรือประสาทหูเสื่อมตามอายุ (Presbycusis) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น อาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงอายุ 65 ปีและ 74 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปจะมีปัญหากับการได้ยินมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนไม่ได้รับรู้อาการในตอนแรก เพราะการที่ประสาทหูเสื่อมนั้นจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อประสาทหูเสื่อมตามอายุเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ก็อาจรักษาให้หายได้ยาก เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะมาช่วยรักษาเกี่ยวกับประสาทหูเสื่อมให้หายขาด
สาเหตุที่ทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมในผู้สูงอายุ
– การเปลี่ยนแปลงของหูชั้นในและการไหลเวียนของเลือดภายในหูที่มีสภาพเสื่อมลง ทำให้ประสาทหูที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างหูไปที่สมองมีปัญหาหรือมีผลต่อการได้ยินที่ต่ำลง
– การได้ยินเสียงดังหรือมลพิษทางเสียงมาอย่างยาวนาน
– เซลล์ขนรับเสียงในหูชั้นในเสื่อม
– การรับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อประสาทหู หรือเป็นพิษต่อเซลล์ในหู ส่งผลให้ประสาทหูเสื่อมไวขึ้น เช่นการทำคีโม ยาแอสไพริน หรือยาปฏิชีวนะต่าง ๆ
– อายุที่ยิ่งสูง ประสาทหูยิ่งเสื่อม
– ภาวะสุขภาพต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต หรือโรคหินปูนเกาะกระดูกหู
– ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง
– ปัจจัยการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม หรือคนในครอบครัวมีประวัติประสาทหูเสื่อมหรือสูญเสียการได้ยิน
– อุบัติเหตุทางศีรษะที่ส่งผลกระทบต่อการได้ยิน
อาการของผู้สูงอายุที่ประสาทหูเสื่อม
อาการของผู้สูงอายุที่ประสาทหูเสื่อม จะทำให้ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลงขึ้นอยู่กับความเสื่อมของประสาทหูในหูชั้นใน ซึ่งอาการที่สามารถสังเกตได้ในผู้สูงอายุก็มีหลากหลาย เช่น
– ได้ยินคำพูดของผู้อื่นเหมือนเป็นเสียงพึมพำหรือเสียงค่อนข้างเลือนราง
– มีปัญหาในการได้ยินเสียงสูง ทำให้ไม่เข้าใจประโยคหรือคำพูดจากคนอื่น
– การฟังแย่ลง เข้าใจการสนธนากับผู้อื่นได้ยาก โดยเฉพาะเวลาที่มีเสียงรบกวนจากภายนอก
– เสียงบางอย่างเข้าหูดังเกินไปจนเกิดอาการตกใจหรือรู้สึกรำคาญ
– อาการหูอื้อ อาจเกิดขึ้นได้กับหูทั้งสองข้างหรือเกิดขึ้นข้างเดียว
– เสียงผู้ชายจะสามารถได้ยินง่ายกว่าเสียงผู้หญิง
– พูดเสียงดังมากกว่าปกติ
– เอามือขึ้นมาป้องหูเวลาฟังคนอื่นพูด เพื่อต้องการได้ยินเสียงดีขึ้น หรือขอให้พูดซ้ำหลายครั้ง
– ดูทีวีเสียงดังกว่าปกติ รู้สึกตัวช้าเวลาคนอื่นเรียก
– พลาดคำบางคำระหว่างคุยโทรศัพท์
อาการประสาทหูเสื่อมตามอายุนี้ อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคทางหูอื่น ๆ ทางที่ดี ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างถี่ถ้วนเพื่อวินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันหรือชะลอการสูญเสียการได้ยินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประสาทหูเสื่อม ส่งผลอย่างไรกับผู้สูงอายุ
อาการเหล่านี้ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก และอาจทำให้ผู้สูงอายุที่ประสาทหูเสื่อมเกิดอาการซึมเศร้า รู้สึกหดหู่ ไม่อยากคุยกับใครเพราะกลัวสื่อสารหรือสนธนากับคนอื่นไม่ได้ กลัวคนอื่นไม่อยากสนธนาด้วย และอาจทำให้ผู้สูงอายุ อารมณ์แปรปรวนได้ด้วยเช่นกัน และสามารถเกิดอาการวิตกกังวลได้จากการที่ได้ยินลดลง อยู่กับความเงียบมากขึ้น และปัญหาด้านการได้ยินก็ส่งผลกระทบถึงความปลอดภัย เช่นเสียงของรถยนต์ เสียงสัญญาณบนท้องถนน เป็นต้น
เมื่อผู้สูงอายุประสาทหูเสื่อม สามารถรักษาให้หายได้ไหม?
ในปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาประสาทหูเสื่อมในผู้สูงอายุให้หายขาดได้ เนื่องจากเซลล์ประสาทหูหรือหูชั้นในนั้นจะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ถ้าผู้สูงอายุประสาทหูเสื่อม การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถทำให้หูได้รับการได้ยินที่ดีขึ้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจรักษาโดยการให้สวมใส่อุปกรณ์ช่วยฟังที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุประสาทหูเสื่อม หรือฝึกการอ่านปาก เป็นต้น
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจวินิจฉัยสาเหตุการสูญเสียการได้ยินจากโรคชนิดอื่นที่มีผลต่อการได้ยิน อย่างการควบคุมโรคเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน โรคไต หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง รวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลกระทบต่อประสาทการได้ยิน
หากผู้สูงอายุประสาทหูเสื่อม คนในครอบครัวสามารถช่วยได้อย่างไรบ้าง?
การช่วยกันจัดการปัญหาการได้ยินของผู้สูงอายุ ก็สามารถทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุที่ประสาทหูเสื่อมได้ดีขึ้น เช่น
– พูดเสียงดังขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นตะโกนใส่ เพราะอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจได้
– ปิดเสียงทีวี หรืออยู่ในที่เสียงรบกวนน้อย เมื่อต้องสนธนากับผู้อื่น
– บอกกับคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างว่ามีปัญหาในการได้ยิน
– พยายามแสดงออกทางหน้าตาเวลาพูดด้วย ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าใจเราได้มากยิ่งขึ้น
– เลี่ยงเสียงที่เป็นมลพิษต่อการได้ยินให้ได้มากที่สุด เพื่อให้การได้ยินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และไม่ทำให้ประสาทหูเสื่อมไปมากกว่าเดิม
อ่านบทความเพิ่มเติม :
อาหารเพิ่มน้ำหนัก ผู้สูงอายุ ปัญหาน้ำหนักน้อยที่ห้ามมองข้าม