การบรรยายครั้งสุดท้ายของหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในวันนี้ เป็นการบรรยายในหัวข้อ “การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน” ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากและพวกเราอาจมองข้าม โดยมีผู้บรรยายคือนายแพทย์ อิสระ อริยะชัยพาณิชย์ หัวหน้างานปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
การเรียนในวันนี้ทำให้เราทราบถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน รวมถึงขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ และที่สำคัญคือมีการฝึกภาคปฏิบัติปั๊มหัวใจหลังจบการบรรยาย เพื่อให้เราสามารถทำได้จริงหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็นที่มีชีวิตคนเป็นเดิมพันกันด้วยค่ะ
ทำไมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจึงมีความสำคัญ
ทราบหรือไม่คะว่าอัตราการรอดชีวิตของผู้ที่หัวใจหยุดเต้นหรือหายใจพะงาบ ๆ นั้น จะลดลง 7-10% ทุกๆ 1 นาที
หากหัวใจหยุดเต้นและได้รับการกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าภายใน 1 นาที โอกาสรอดชีวิตจะมีถึง 85% แต่ถ้าได้รับการกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าภายใน 3 นาที โอกาสรอดชีวิตจะลงมาต่ำกว่า 70% ในขณะที่การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าภายใน 5 นาที โอกาสรอดชีวิตจะต่ำกว่า 50% และเมื่อเวลาผ่านไป 10 นาทีแล้ว โอกาสในการรอดชีวิตแทบจะเป็น 0 เลยทีเดียว
ผู้ที่อยู่รายล้อมผู้ที่หัวใจหยุดเต้นหรือนอนหายใจรวยริน จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการช่วยชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรเรียนรู้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “ไทยมุง” มาเป็น “ผู้ช่วยชีวิต” กันค่ะ
ห่วงโซ่การรอดชีวิต
ห่วงโซ่การรอดชีวิตนั้นแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- การประเมินว่าผู้ป่วยหมดสติจริงและการโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน
- การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ
- การกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า
- บริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐานและขั้นสูง
- การช่วยชีวิตชั้นสูงและการดูแลภายหลังภาวะหัวใจหยุดทำงาน
ขั้นตอนที่ 1-3 นั้น ถือว่าเป็น “การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน” ซึ่งสามารถทำได้โดยบุคคลทั่วไป ในขณะที่ขั้นตอนที่ 4-5 นั้นจะทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ แต่น่าเสียดายว่าในประเทศไทยเรานั้น มักจะเน้นที่ขั้นตอนที่ 4 และ 5 คือเน้นการส่งต่อผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วโดยไม่มีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน จึงทำให้อัตราการรอดชีวิตต่ำ คุณหมออิสระเล่าว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ที่วิทยาลัยจะได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุในเรื่องนี้ประมาณเดือนละ 15 ครั้ง หรือวันเว้นวันเลยทีเดียว
สำหรับในประเทศที่เจริญแล้ว ประชากรส่วนใหญ่จะได้รับการสอนและมีความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเป็นอย่างดี อัตราการรอดชีวิตจึงสูงกว่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรทราบถึง 3 ขั้นตอนที่เราควรต้องปฏิบัติเมื่อเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ฉุกเฉินกันค่ะ
1. การประเมินว่าผู้ป่วยหมดสติจริงและการโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน
ในขั้นตอนแรกของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนั้น เราควรประเมินว่าผู้ป่วยหมดสติจริงโดยการทดสอบว่าผู้ป่วยนั้นสามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นได้หรือไม่ ซึ่งอาจทำโดยการสะกิดหรือเขย่าผู้หมดสติ หรือลองตบเบาๆ ที่ไหล่ของผู้หมดสติดู
หากผู้ป่วยไม่มีการตอบสนอง หรือไม่หายใจ หรือหายใจผิดปรกติเช่น หายใจแบบพะงาบ ๆ เราควรจะโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินที่เบอร์ 1669 ทันที โดยหากเป็นไปได้ ควรให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นผู้ที่ช่วยโทรแจ้ง เพื่อให้เราสามารถจะปั๊มหัวใจได้ทันที ในการโทรแจ้ง 1669 นั้น ผู้ที่โทรแจ้งควรให้ข้อมูลดังต่อไปนี้กับผู้รับสายปลายทางค่ะ
- มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือจมน้ำ หรือหัวใจวาย
- เหตุการณ์นี้เกิดที่ไหน บอกชื่อสถานที่ ชื่อถนน เพื่อให้หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินเดินทางมาถึงเราได้โดยเร็ว คุณหมอเล่าให้ฟังขำขำว่าที่สุรินทร์ มีพี่คนนึงโทรไปหาหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุที่เกิดกับคนในครอบครัว เนื่องจากรู้จักและจำเสียงของเจ้าหน้าที่ที่รับสายได้ จึงโทรไปแจ้งแค่ว่า นี่พี่เองนะ ส่งคนมาที่บ้านด้วย แล้วก็วางหูโดยทันที ถึงแม้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินจะจำเสียงพี่คนที่โทรไปหาได้ แต่ก็ไม่รู้จักว่าบ้านพี่คนนั้นอยู่ที่ไหน ดังนั้น เมื่อโทรแจ้งเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือ อย่าลืมแจ้งข้อมูลสถานที่เกิดเหตุให้ครบถ้วนด้วยนะคะ
- ผู้ที่แจ้งเหตุชื่ออะไร และให้หมายเลขโทรศัพท์ที่หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินสามารถติดต่อกลับได้เอาไว้ด้วย
- จำนวนผู้ป่วยว่ามีอยู่กี่ราย และผู้ป่วยหรือผู้หมดสติมีสภาพอย่างไร
- มีความช่วยเหลือหรือความจำเป็นอื่นที่ต้องการได้รับนอกเหนือไปจากพยาบาลฉุกเฉินอีกหรือไม่ เช่น จำเป็นต้องใช้พนักงานดับเพลิงด้วยหรือไม่ หากเกิดกรณีไฟไหม้
- การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ
สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกคำแนะนำในการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (การปั๊มหัวใจ) ที่เราเรียกย่อๆ ว่า CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ไว้ดังต่อไปนี้ค่ะ
ให้เรานั่งคุกเข่าข้างลำตัวของผู้ป่วยระหว่างไหล่และอก โดยนั่งแยกเข่าเล็กน้อย จากนั้น ให้วางมือลงไปบนตัวของผู้ป่วย ตำแหน่งที่จะวางมือลงไปถือว่ามีความสำคัญมาก บริเวณที่ควรวางมือลงไปคือจุดตัดของเส้น Nipple Line (เส้นที่เชื่อมระหว่างหัวนมทั้ง 2) และเส้นที่ลากแบ่งตัวออกเป็นซีกซ้ายและขวา ให้เราวางฝ่ามือลงไปที่จุดตัดนั้นโดยโน้มตัวของเราให้แนวไหล่ของเราอยู่ตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย แขนของเราจะตั้งตรงและตั้งฉากกับลำตัวของผู้ที่หมดสติ จากนั้นใช้มืออีกข้างหนึ่งประสานเข้าไปกับง่ามนิ้วของฝ่ามือที่วางลงไป อีกวิธีที่แนะนำในการหาจุดวางฝ่ามือคือการคลำหาลิ้นปี่ของผู้หมดสติค่ะ โดยการคลำท้องขึ้นมาเรื่อยๆ จนเจอกระดูกแข็ง ให้วางนิ้วชี้และนิ้วกลางวางในลักษณะขวางกับลำตัวลงไปที่จุดนั้น จากนั้น วางฝ่ามือเหนือนิ้วทั้ง 2 ก็จะได้จุดที่เราจะเริ่มปั๊มหัวใจได้เหมือนกันค่ะ
ในการกดหน้าอกนั้น ให้เราใช้แรงที่ส้นมือกดหน้าอกให้ลึกลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร (2 นิ้ว) แต่ไม่เกิน 6 เซนติเมตร (2.4 นิ้ว) แรงกดจะทำให้หัวใจถูกบีบเอาเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย สำหรับอัตราการกดนั้น คือ 100-120 ครั้งต่อนาที และในการกดแต่ละครั้ง เราต้องปล่อยให้ทรวงอกของผู้ที่หมดสติขยายคืนเต็มที่ด้วย
การนับจังหวะการกดหน้าอก ให้เรานับดังนี้ค่ะ
หนึ่ง และสอง และสาม และสี่ และห้า ไปเรื่อยๆ …
ในต่างประเทศ ได้แนะนำให้ปั๊มหัวใจตามทำนองเพลงต่อไปนี้ค่ะ
Stayin’ Alive โดย Bee Gees
Rock DJ โดย Robbie Williams
In The End โดย Linkin Park
Buttons โดย The Pussycat Dolls
ชอบเพลงไหน เลือกใช้อ้างอิงเป็นจังหวะในการปั๊มหัวใจได้ตามชอบเลยนะคะ สำหรับบ้านเรา ถ้าปั๊มหัวใจตามทำนองสุขกันเถอะเรา สงสัยผู้ที่หมดสติคงรีบลุกมาเต้นชะชะช่ากันแน่แน่เลยค่ะ …
เราควรเปลี่ยนผู้ปั๊มหัวใจทุก 2 นาทีหรือการนวด 5 รอบ (รอบละ 200 ครั้ง) และสังเกตอาการของผู้หมดสติทุก 2 นาทีด้วย
ถ้าหากเราปั๊มหัวใจไม่ถูกต้อง หรือใช้ท่าผิด เช่น แขนไม่ตั้งฉาก ยกมือขึ้นเวลาปั๊มหัวใจ แขนงอไม่เหยียดตรง ก็อาจทำให้ผู้ป่วยซี่โครงหัก กระดูกไหปลาร้าหัก หรือตับแตกก็เป็นได้ ซี่โครงหักเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยถึง 82% เลยทีเดียว
คำถามที่เราอาจมีอยู่ในใจก็คือว่า เราควรจะหยุดปั๊มหัวใจเมื่อไหร่ เราควรหยุดเมื่อเข้าข่ายต่อไปนี้ค่ะ
∗ ผู้ป่วยกลับมาหายใจและมีชีพจร
∗ เราซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือเหนื่อยจนทำไม่ไหว
∗ เมื่อมีบุคลากรทางการแพทย์มาช่วย
∗ เราทำการปั๊มหัวใจนานเกิน 30 นาทีแล้ว
∗ แพทย์ให้ความเห็นว่าให้ยุติการปั๊มหัวใจ
แต่เดิมนั้น เรามักจะทำการผายปอด (Mouth to Mouth) ระหว่างการทำ CPR แต่เนื่องจากผู้ที่ช่วยชีวิตรู้สึกไม่สะดวกใจในการผายปอดบุคคลแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก และการปั๊มหัวใจด้วยมือนั้นก็ถือว่าได้ผลดี สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกคำแนะนำมาใหม่ว่าการผายปอดไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำในการช่วยกู้ชีพควบคู่ไปกับการปั๊มหัวใจเหมือนดังเช่นอดีตที่ผ่านมา
2. การกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า
ในขั้นตอนที่ 3 ของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจะเป็นการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าที่เราเรียกย่อๆ ว่าเครื่อง AED (Automated External Defibrillator) เนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่นอกโรงพยาบาลหรือก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล มากกว่าเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
ภาวะที่พบบ่อยคือภาวะความผิดปกติของหัวใจซึ่งจะส่งผลทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป หัวใจจะมีอัตราการเต้นค่อนข้างเร็วและไม่เป็นจังหวะ ถือว่าเป็นภาวะที่อันตรายและต้องได้รับการรักษาแบบฉุกเฉิน เนื่องจากถ้าหากหัวใจเต้นเร็วมากเกินไป ก็อาจทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
ในการใช้เครื่อง AED นั้น เราจะต้องติดแผ่นนำไฟฟ้าทั้ง 2 แผ่นเข้ากับหน้าอกของผู้ป่วย เครื่อง AED จะทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยระหว่างที่เครื่องทำงานอยู่นั้น ห้ามเราไปสัมผัสถูกตัวผู้ป่วย เมื่อเครื่อง AED วิเคราะห์เสร็จและพบว่าคลื่นไฟฟ้าของผู้ป่วยนั้นต้องได้รับการรักษาด้วยการ shock ไฟฟ้าหัวใจ เครื่องก็จะแจ้งเตือนให้เรากดปุ่มเพื่อทำการ shock เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยค่ะ ราคาของเครื่อง AED มีตั้งแต่ 5 หมื่นบาทไปจนถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียวแบบที่เห็นในรูปค่ะ
ในต่างประเทศนั้น มีการใช้โดรน AED เข้ามาใช้ในการช่วยชีวิต เนื่องจากโดรนสามารถจะบินมายังสถานที่ที่เราปักหมุดได้อย่างถูกต้องด้วยความรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลากับจราจรที่ติดแสนสาหัส และโดรนนี้ยังมีกล้องที่เชื่อมต่อรูปภาพไปยังศูนย์ควบคุม รวมถึงมีเสียงบอกวิธีการใช้และการรักษาซึ่งสั่งการมาจากศูนย์ควบคุมเช่นเดียวกัน
การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในยุคโควิด-19
การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน 3 ขั้นตอนที่ได้กล่าวมาในยุคโควิด-19 นั้น แทบจะไม่ได้ต่างไปจากการช่วยชีวิตก่อนหน้านี้ ที่เพิ่มขึ้นมาก็มีเพียงแต่การนำผ้ามาปิดจมูกและปากของผู้ที่นอนหมดสติเอาไว้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของละอองฝอย และผู้ที่ทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานก็ต้องใส่หน้ากากปิดจมูกและปากด้วยเท่านั้นเองค่ะ สำหรับขั้นตอนและวิธีการที่ใช้ช่วยชีวิตนั้นยังเหมือนเดิมทุกประการ แต่ต้องงดการผายปอด(Mouth to Mouth) เป็นอันขาดค่ะ
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายแพทย์ อิสระ อริยะชัยพาณิชย์ สำหรับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่เป็นประโยชน์มากๆ ให้กับพวกเรานักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในวันนี้ รวมถึงทีมงานของคุณหมอที่มาช่วยในการฝึกภาคปฏิบัติการปั๊มหัวใจของพวกเราด้วยค่ะ
……………………..
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์