“โรคสมองเสื่อม” ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถพบเจอได้โดยไม่คาดคิด โดยผู้บรรยายคือแพทย์หญิง อาทิตา ชูหลำ แพทย์เฉพาะทางระบบประสาท โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ค่ะ
การบรรยายแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะเป็นการบรรยายเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองที่เรารู้จักกันดีในนามของ Stroke ส่วนการบรรยายในช่วงหลัง จะเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ค่ะ
Stroke คืออะไร
Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมองนั้น เป็นภาวะที่เซลล์ประสาทขาดออกซิเจน โดยการขาดออกซิเจนนั้นอาจมาจาก 1) การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเนื่องมาจากลิ่มเลือดหรือก้อนเลือด หรือ 2) การที่หลอดเลือดมีการรั่วหรือแตก ทำให้มีเลือดไหลออกมา
นึกง่ายๆ เวลาที่เราทานชาไข่มุก ถ้ามีไข่มุกไปอุดตันอยู่ในหลอดหรือหากหลอดดูดชาไข่มุกนั้นแตกหรือรั่ว ก็จะทำให้เราไม่สามารถทานชาไข่มุกได้ตามปรกติ ฉันใดก็ฉันนั้นค่ะ
การมีเลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย ทำให้เกิดการขาดออกซิเจน ส่งผลให้เซลล์สมองขาดพลังงานและตายไปในที่สุด ที่สำคัญก็คือว่า การอุดตันนั้นจะทำให้สมองในบางบริเวณตายไป และมีการขยายไปยังบริเวณอื่นด้วยหากเราปล่อยให้มีการอุดตันหรือมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราทราบอาการเร็วและรีบรักษาเร็ว ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเซลล์ตายเพิ่มมากขึ้นค่ะ
ทำไมเราควรให้ความสำคัญกับ Stroke
รายงานการศึกษาโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยในปี 2551 พบว่ามีอัตราผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 257 คนต่อประชากร 1 แสนคน และอัตราการเสียชีวิตเนื่องมาจากโรคหลอดเลือดสมองในปี 2552 นั้น อยู่ที่ 21 คนต่อประชากร 1 แสนคน โรคหลอดเลือดสมองนับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 3 รองลงมาจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจเลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้ว องค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการว่าในแต่ละปีนั้น มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 15 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าในประเทศไทยนั้น จะมีผู้ป่วยใหม่ของโรคหลอดเลือดสมองในแต่ละปีกว่า 150,000 รายเลยค่ะ
เราสามารถป้องกัน Stroke ได้หรือไม่
ถึงแม้เราจะไม่สามารถป้องกัน Stroke ได้ 100% แต่การที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิด Stroke จะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงบางประการได้
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Stroke นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ 1) ปัจจัยที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ และ 2) ปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
ปัจจัยที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้นั้น ได้แก่ อายุ เพศ และเชื้อชาติ ยิ่งเราอายุมากขึ้น เราก็จะมีความเสี่ยงในการเกิด Stroke เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เพศชายจะมีความเสี่ยงในการเกิด Stroke มากกว่าเพศหญิง และฝรั่งผิวขาวก็มีความเสี่ยงในการเกิด Stroke มากกว่าชาวเอเชียค่ะ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ลดลงได้นั้น ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความดันโลหิตสูง (ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารเค็ม) ความอ้วนและการมีน้ำหนักมากเกินไป โรคเบาหวาน ไขมัน ความดัน (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดมาจากการรับประทานอาหาร) การขาดการออกกำลังกายและไม่มีกิจกรรมนอกบ้าน การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือการหยุดหายใจขณะนอนหลับ
แล้วเราจะรักษา Stroke ได้อย่างไร
คุณหมอได้แบ่งการรักษา Stroke ออกเป็น 3 ระยะ คือ 1) การรักษาก่อนการเกิด Stroke 2) การรักษาในขณะที่เกิด Stroke และ 3) การรักษาหลังการเกิด Stroke ค่ะ (ได้ฟังคุณหมอพูดปุ๊บ คนที่ทำงานบริหารความเสี่ยงแบบเราก็นึกทันทีเลยว่า นี่คือหลักในการบริหารความเสี่ยงเลยทีเดียวเชียว … ป้องกันก่อนเกิดเหตุ จัดการขณะเกิดเหตุ ลดความสูญเสียหลังเกิดเหตุ หลักเดียวกันเปี๊ยบบบ)
1) การรักษาก่อนการเกิด Stroke
เราได้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายที่ก่อให้เกิด Stroke มาแล้ว ดังนั้น การลดการเกิดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะช่วยในป้องกันโอกาสที่จะเกิด Stroke ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรงดการสูบบุหรี่ ควบคุมไขมัน ความดัน และเบาหวาน มีกิจกรรมนอกบ้านและออกกำลังกาย 30 นาทีต่อครั้งสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ลดการรับประทานอาหารเค็มซึ่งจะทำให้เกิดความดันสูง (บริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน) รับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน (ทุเรียน 4 ขีดคงพอไหว …) และอาหารพวกธัญพืช ผัก และปลา รวมถึงการกินยาแอสไพรินหรือสแตตินสำหรับผู้ที่จัดว่ามีความเสี่ยงที่จะมีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า 20% เกิน 10 ปี และไม่สามารถควบคุมความดันได้โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
2) การรักษาในขณะที่เกิด Stroke
สิ่งสำคัญในการมาพบแพทย์คือการทราบว่าอาการที่กำลังเกิดขึ้นกับเราหรือคนรอบข้างเรานั้น เป็นสิ่งบ่งชี้ของการเกิด Stroke ซึ่งเราสามารถจำได้ง่ายๆ จากตัวย่อเหล่านี้ค่ะ
F – Face ใบหน้าเบี้ยว
A – Arm แขนขาอ่อนแรง
S – Speech พูดไม่ชัด
T – Time เวลาเป็นสิ่งสำคัญ และมีผลต่อการรักษา หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น เราควรได้รับการรักษาภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงนะคะ
การเกิดอาการใบหน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง หรือพูดไม่ชัด ซึ่งจะเป็นการบ่งชี้ถึงการเกิด Stroke นั้น ต้องเป็นการเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันทีทันใด ไม่ใช่เป็นแบบเรื้อรังมานาน ถ้าแบบนั้น ไม่นับว่าเป็นสิ่งบ่งชี้นะคะ
เนื่องจากเนื้อสมองทนต่อการขาดเลือดได้ไม่เกิน 3 นาที ดังนั้น หากเราไปถึงโรงพยาบาลช้า แนวทางในการรักษาของแพทย์ก็จะแตกต่างไปตามความรุนแรงของอาการค่ะ
3) การรักษาหลังการเกิด Stroke
เราควรไปพบแพทย์ภายใน 3-4 ชั่วโมงหลังเกิดอาการข้างต้น หาก Stroke เกิดมาจากการอุดตันของลิ่มเลือด หมออาจจะให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ยานี้ก็ไม่สามารถที่จะให้ได้กับทุกคน และการรักษานั้นก็ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การรักษาโรคที่เป็น แต่ยังเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดอื่นอีกด้วยค่ะ
คุณหมอได้กล่าวปิดท้ายว่า ยาสามารถป้องกันได้แค่ 30% ที่เหลืออีก 70% ขึ้นกับพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของเราเป็นหลัก เราจึงควรใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Stroke ให้มากที่สุดด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงค่ะ
จบการบรรยายในหัวข้อแรก เรามาฟังการบรรยายต่อจากคุณหมอท่านเดิมเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมที่เรารู้จักกันดีในนามของ Alzheimer’s Disease กันค่ะ
Alzheimer’s Disease คืออะไร
ภาวะสมองเสื่อมหรือสมองถดถอยนั้น เป็นคำกว้างๆ ที่เราใช้เรียกภาวะที่การทำงานของสมองนั้นมีการเสื่อมหรือบกพร่อง และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ โรคสมองฝ่อ โรคพาร์กินสัน โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคสมองเสื่อมชนิดแอลบีดี และโรคฮันติงตัน
อัลไซเมอร์ถือเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของระบบประสาท ที่พบมากที่สุดของกลุ่มอาการสมองเสื่อม อาการที่ปรากฏจะขึ้นอยู่กับว่าสมองส่วนนั้นควบคุมการทำงานของอะไร ถ้าไปเกี่ยวกับสมองส่วนที่ควบคุมความจำ ก็จะทำให้เราความจำเสื่อมได้ และความเสื่อมนี้เป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
ทำไมเราควรให้ความสำคัญกับ Alzheimer’s Disease
องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมกว่า 29 ล้านคนทั่วโลกในปี 2020 นี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ค่ะ
ทุกๆ 3 วินาที จะมีคนเป็นสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 1 คน และในปี 2050 คาดว่าประชากร 68% จะเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและการเพิ่มสมรรถนะของผู้ป่วยเป็นจำนวนมหาศาล
การเกิดภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีอัตราเกิดขึ้นสูงที่สุดที่ทวีปอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกาและแคนาดา) โดยอยู่ที่ 6.4% รองลงมาคือยุโรป มีอัตราอยู่ที่ 5.4% ส่วนจีนนั้นอยู่ที่ 4% ยุโรปตะวันออกมีอัตราการเกิดใกล้เคียงกับจีนคืออยู่ที่ 3.9% ส่วนแอฟริกานั้นทิ้งห่างอยู่ที่ 1.6% เองค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Alzheimer’s Disease มีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกันค่ะ คือ 1) ปัจจัยที่ป้องกันได้ และ 2) ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ยิ่งเรามีอายุมากขึ้น เราก็มีโอกาสที่จะเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในแต่ละช่วงอายุ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ในส่วนของปัจจัยที่ป้องกันได้นั้น อายุเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับช่วงอายุ 30-45 ปีนั้น เราควรจะต้องมีการกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นให้สมองได้ใช้งานอยู่ตลอด ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรหมั่นศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ช่วงอายุ 45-60 ปีนั้น เราอาจเริ่มมีอาการหูตึง หูไม่ได้ยิน ซึ่งจะทำให้การรับข้อมูลของเราลดลง ส่งผลให้การสร้างความจำลดลง ดังนั้น หากเรามีพ่อแม่หรือผู้สูงวัยที่หูไม่ได้ยิน เราควรกระตุ้นให้มีการใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อเพิ่มการรับรู้และการได้ยินค่ะ
สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรควบคุมความดัน เบาหวาน บุหรี่ หมั่นสำรวจอารมณ์ตนเองอยู่ตลอดว่าตกอยู่ในภาวะเครียดหรือซึมเศร้าหรือไม่ นอกจากนี้ ยังควรมีกิจกรรมทางสังคม และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้มากค่ะ
ในส่วนของปัจจัยภายในนั้น จะมาจากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในสมองที่เป็นของเสียที่ชื่อว่า Amyloid ถ้ามีการสร้างโปรตีนเหล่านี้เพิ่มขึ้นหรือกำจัดได้น้อยลง เกิดการคั่งค้าง ก็จะทำให้เกิดการเสื่อมของสมองในที่สุด และถ้าหากมีอารมณ์เปลี่ยน เกิดอาการก้าวร้าว ก็จะทำให้สมองเสียหายมากยิ่งขึ้นค่ะ
เกณฑ์ในการวินิจฉัยการเป็น Alzheimer’s Disease
การวินิจฉัยว่าจะเป็น Alzheimer’s Disease หรือไม่นั้น ดูจากการเปลี่ยนแปลงของสมรรถนะของสมองใน 6 ด้านด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
- ความจำและการเรียนรู้ – ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีอาการหลงลืม พูดจาซ้ำซ้ำ ถามคำถามซ้ำไปซ้ำมา จำไม่ได้ว่าได้รับประทานอาหารไปแล้ว (แต่ถ้ารับประทานอาหารเยอะมากจนจำไม่ได้ว่าทานอะไรไปแล้วบ้าง แบบนั้นไม่จัดว่าเป็นอัลไซเมอร์นะคะ)
- การใช้ภาษา – ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์จะนึกชื่อคนหรือชื่อสิ่งของ สถานที่ไม่ค่อยออก เรียกชื่อคนไม่ค่อยถูก มีปัญหาในการอ่านออกเสียง พูดน้อยลง และมีปัญหาในการใช้คำพูด
- การใช้ชีวิตทางสังคม – ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตทางสังคมที่ผิดปรกติ เช่น การรับประทานอาหารมูมมาม การขากถุยกลางโต๊ะอาหาร
- การมองเห็นและการเคลื่อนไหว – ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีปัญหาในการใช้มือกับสายตาควบคู่กัน มีปัญหาในการจอดรถ อาจขับรถเฉี่ยวชนบ่อย
- ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา – ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์จะไม่สามารถวางแผนหรือตัดสินใจได้แบบคนปรกติ ไม่สามารถทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือแก้ไขปัญหาได้
- สมาธิและความจดจ่อ – ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน มีปัญหาในการดูทีวีหรือภาพยนตร์นานนาน
การรักษาผู้ป่วยที่เป็น Alzheimer’s Disease
ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์นั้น ไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะตัวผู้ป่วยเอง แต่ควรต้องให้ญาติหรือผู้ดูแลนั้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะเป็นการประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องเกิดประเด็นโดยไม่จำเป็น เช่น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะจำไม่ได้ว่าได้รับประทานอาหารไปแล้ว จึงมักจะพูดและเรียกร้องการรับประทานอาหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ญาติหรือผู้ดูแลจึงไม่ควรโมโห แต่ใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจไปยังเรื่องอื่นแทน จะได้ไม่เกิดการโต้เถียงระหว่างกันค่ะ
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ค่ะ จะมีแค่ยาที่ช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด การให้ยาที่เป็นสารสื่อประสาทนั้นสามารถเข้าไปทำงานทดแทนได้แต่ไม่ทั้งหมด ไม่สามารถจะทำงานได้เทียบเท่าการทำงานจริงค่ะ
ในส่วนของการรักษาโดยไม่ใช้ยานั้น เราควรให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ทำกิจกรรมบำบัด เช่น การออกกำลังกาย โยคะ จี้กง ไท้เก๊ก หรือให้เล่นเกมหยิบชิ้นส่วนที่ตั้งประกอบกันไว้เป็นกองสูงสูงหรือคอนโดโดยโดยไม่ให้กองเหล่านี้พังทลายลงมา การทำงานด้านศิลปะ เช่น การวาดรูป ระบายสี เพื่อใช้ศิลปะบำบัด การให้ทำงานเล็กเล็กน้อยน้อยเพื่อให้อวัยวะทำงานได้ โดยให้ทำอย่างต่อเนื่อง เช่น การเย็บปักถักร้อย เพื่อให้เกิดการประสานงานกันระหว่างตากับมือและประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วยค่ะ
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และแพทย์หญิง อาทิตา ชูหลำ สำหรับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมซึ่งมีประโยชน์มากๆ กับพวกเรานักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ค่ะ
……………………………
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์