ส่อง สังคมสูงอายุญี่ปุ่น ว่าทำให้เกิดอะไรบ้าง? …ในเมื่อช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่าน ดิฉันได้มีโอกาสไปทริปถ่ายภาพกับก๊วนเพื่อนสนิท (ช่างภาพมือสมัครเล่น) ตะลอนเมืองต่างจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น นาโกย่า, ทากายาม่า, ชิรากาว่าโกะ,คานาซาว่า พอดีช่วงที่ไปอากาศค่อนข้างเย็นเล็กน้อยประมาณ 5 องศา บางสถานที่ลมแรง ก็มีหนาวอยู่เหมือนกัน การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สองในรอบหลายปี สำหรับเพื่อน ๆ ที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น แน่นอน สิ่งที่พวกเราสังเกตได้ชัดเจน นอกจากเป็นประเทศที่สะอาด และมีระเบียบวินัยที่เคร่งครัดแล้ว นั่นคือ ประชากร พนักงานบริการ ไม่ว่าจะเป็นบนรถไฟชินกาเซน คนขายตั๋วในสถานี คนขับแท็กซี่ หรือ แม้กระทั่งพนักงานบริการเสริฟอาหารในร้านอาหาร มักเป็นผู้สูงอายุ ที่มีอายุเกินราว 60 ปี !
สังคมสูงอายุญี่ปุ่น
อย่างที่เราท่านทราบดีแล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวสู่วัยผู้สูงอายุก่อนประเทศไทยหลายปีเลยทีเดียว ในวันนี้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก วันนี้ดิฉัน จะพามาดูกันว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในวันนี้เกี่ยวโยงกับสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจมากัน เพราะในวันนี้ ญี่ปุ่นมีผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี แล้วเกือบ 68,000 คน (อ้างอิง : www.npr.com)
ถ้าพูดถึงสังคมสูงอายุญี่ปุ่น ประเทศอันดับต้น ๆ ที่เรานึกถึงก็คือประเทศญี่ปุ่น เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ติดอันดับสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ปี 2513 (คือมีประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7%) และได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอายุโดยสมบูรณ์เมื่อปี 2537 (คือมีประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 20%) และมีแนวโน้มจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 39% ในปี 2593 และด้วยสาเหตุที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงอายุญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว เพราะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำติดต่อกันมาตลอด และเมื่อปี 2017 เป็นปีที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดของเด็กทารกต่ำสุดคือประมาณ 941,000 คน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ประมาณ 3% และในปี 2017 ที่ผ่านมาเช่นกัน ถือเป็นปีที่ญี่ปุ่นทำลายสถิติตัวเองกับการมีผู้สูงอายุ ที่มีอายุเกิน 100 ปี มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ประชากรอายุเกิน 100 ปีมากกว่าประเทศใด ๆ ในโลกใบนี้ !
นั่นเป็นสิ่งที่ดิฉันไม่แปลกใจเลยว่า มองไปทางใด เราจะเห็นผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรถไฟ คนขายของในห้างร้านในสถานีรถไฟ คนกวาดขยะ ตลอดเวลาทุกสถานที่ แต่สิ่งที่ใกล้ตัวและชื่นชมก็คือ โชเฟอร์คนขับรถแท็กซี่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ขับรถเร็วมาก (อย่างกะวัยรุ่นในบ้านเรา) ซิกแซก เข้าทางลัดนั่นโน่นนี่ จนลืมไปเลยว่า รถคันนี้ขับโดยผู้สูงอายุ J พวกเราเลยถึงที่หมายสบายผิดกัน ส่วนวันอื่น ๆ พวกเราก็ใช้บริการของรถไฟชินกาเซน ซึ่งแน่นอนพนักงานตรวจตั๋วบนรถไฟ ก็เป็นผู้สูงอายุเช่นกัน หรือแม้แต่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือ ศาลเจ้า ที่มักจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวสูงอายุ หรือแม้แต่สวนสาธารณะ ที่เราจะเห็นผู้สูงอายุ สูงวัย เดินเที่ยวออกกำลังกายกันได้เสมอ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ผู้สูงอายุ ยังมีเรี่ยวแรง และมีใจอยากทำงานอยู่ !
หย่าร้าง เมื่อสูงวัย
อ้างอิงตามหนังสือ อิคิไก ที่กล่าวว่า “การทำงานคือ คุณค่าของชีวิต” เคยทำงานมาตลอด แต่เมื่ออายุมากขึ้น สูงวัยขึ้น ไม่มีงานทำแล้วกลายเป็นไม่รู้จะทำอะไร อยู่บ้านก็เหงา ห่อเหี่ยว แถมบางทีอาจเกิดการหย่าร้างเมื่อสูงวัย เพราะว่าพอไม่มีงานทำ ก็อยู่บ้านเฉย ๆ ภรรยาที่คอยทำหน้าที่สนับสนุนสามีเวลาไปทำงาน พอมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งวัน เลยแปลก ไม่คุ้นวิถีชีวิตแบบนี้ บางทีก็รู้สึกว่าหน้าที่ภรรยาในการซัพพอร์ตสามีหมดแล้ว สามีไม่ได้ทำงานหาเงินเข้าครอบครัวอีกต่อไป ไม่รู้จะอยู่ทำไม การหย่าร้างจึงเกิดขึ้น ฉะนั้น การที่มีโอกาสได้ทำงานหลังวัยเกษียณจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง
ยอดขาย ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แรง ไม่หยุด !
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนสังคมผู้สูงอายุ ได้อย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ สินค้าประเภทผ้าอ้อมผู้สูงอายุ ขายดีมากกว่าผ้าอ้อมเด็กแรกเกิด ! สะท้อนให้เห็นชัดเจน ถึงความใหญ่ของกลุ่มสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสูงกว่าวัยอื่น ๆ อย่างชัดเจน
หนีไม่พ้น สุขภาพเสื่อมตามวัย
ไม่เพียงแต่ในประเทศญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังก้าวสู่ Aging Society ปัญหาสุขภาพ ความเสื่อมโทรมทางร่างกายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถือเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวาน โรคความดันสูง ฯลฯ และโรคที่เป็นสาเหตุทำให้สมรรถภาพร่างการเสื่อมถอย คือ ปวดหลัง ปวดคอ ข้อเสื่อม เหล่านี้เป็นต้น
(ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้าไดมารู (ย่านโอซาก้า) ยังคงหนาแน่นด้วยนักช๊อปกันทุกชั้น ถือเป็นห้างเก่าแก่ที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักกันดี และเป็นเคยเป็นห้างสรรพสินค้าที่ฮิตมากในบ้านเรา เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในนาม “ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู” ตั้งอยู่แถวราชดำริ (ปัจจุบันเป็นห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ)
ธุรกิจเกี่ยวกับ “สุขภาพ” บูมมากในญี่ปุ่น
ข้อนี้แทบไม่ต้องสงสัยเลย เพราะนอกจากเรื่องงานแล้ว ด้านการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน สังเกตได้เลย คนสูงอายุในญี่ปุ่นจะพยายามหาอะไรทำอยู่เสมอ เคยมีเพื่อนสนิทถามมาเหมือนกันว่า “แต่ละวัน นอกจากทำงานแล้ว คนสูงอายุญี่ปุ่น พวกเขาทำอะไรกัน” หากพวกเขาไม่ทำงานประจำ ก็จะพยายามหากิจกรรมทำ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น ทำกิจกรรมอาสาสมัคร เรียนรู้งานฝีมือ เรียนรู้วิธีการชงชา ไปจนถึงการออกกำลังกายแบบจริงจัง ที่ว่าออกกำลังกายแบบจริงจังนี่ เพราะว่า ไปดูได้เลยในฟิตเนสญี่ปุ่น ถ้าสังเกตุด้วยสายตา จะเห็นว่า อายุเฉลี่ยคนที่มาเล่นฟิตเนส ไม่น่าจะต่ำกว่า 50 ปี มีทั้งการเต้นแอโรบิก สเตป เต้นซุมบ้า แม้กระทั่งการลีลาศจังหวะช้า ๆ จนถึงเร็ว คาดว่าถือเป็นกลุ่มคนที่มีเวลามากที่สุด ทำให้ธุรกิจสุขภาพในญี่ปุ่นต่างพลอยฟ้าพลอยฝนดีไปด้วย เพราะมีตลาดของผู้สูงวัยจำนวนมาก
เหงา โดดเดี่ยว เสียชีวิต
แน่นอน เมื่อไร้ลูกหลาน ไร้ทายาท ความโดดเดี่ยวก็ถามหา ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งต้องอาศัยตามลำพัง และเสียชีวิตตามลำพังเช่นกัน คนที่พบศพเป็นคนแรก ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนบ้านระแวกเดียวกัน ซึ่งน่าหดหู่ โดดเดี่ยวมากจริง ๆ
ไม่เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกจะเริ่มมีคนวัยทำงานลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากตัวเลขของ HSBC พบว่า ประเทศเยอรมัน และจีน ต่างก็พบปัญหาเดียวกัน ส่วนด้านองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ญี่ปุ่นจะมีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) แซงหน้าเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรกในปี 2047 และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็นสองพันล้านคนในปี 2050 อย่างแน่นอน และญี่ปุ่นจะประสบปัญหาขาดกำลังซื้อ กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยตรงอย่างมาก ถ้ายังไม่มีนโยบายรับชาวต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นเพิ่ม
สำหรับประเทศไทยเราเองนั้น เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า พ.ศ.2564 ควรน่าจะมีการส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่า ในปัจจุบัน จะเริ่มมีบางองค์กรเริ่มแล้วเช่น ร้านหนังสือเครือข่ายซีเอ็ด แต่ถ้ามีหลายองค์กรร่วมกันมากกว่านี้ พร้อมกันรัฐบาลช่วยสนับสนุนมากขึ้น ก็จะดีไม่น้อยในการแก้ปัญหาได้ใช้สมรรถภาพการทำงานของผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ เพราะอย่าลืมผู้สูงอายุ ประสบการณ์ในการรับมือปัญหามีพร้อม อาจจะเป็นการทำงานร่วมกับคนวัยทำงานเพื่อเสริมจุดที่ด้อย จุดที่เด่น แชร์ส่วนที่ขาดร่วมกันได้ อาจจะทำเป็นสัญญาจ้างงานปีต่อปี แม้ไม่ใช่พนักงานประจำ แต่แรงงานสูงวัยยังมีส่วนช่วยให้เกิดผลิตผลบวก ที่ไม่ใช่ศูนย์ ยังสามารถสร้างรายได้ ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน และยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจ สุขภาพจิตดี อีกด้วย
(อ้างอิง : www.npr.com)
www.who.int/features/factfiles/ageing/en/
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
#KINN_Biopharma
#คินน์เพื่อชีวิตยืนยาวและยั่งยืน
บทความที่น่าสนใจ
ภัยใกล้ตัว น้ำตาลในเลือดสูง พุ่งสูงปรี๊ดด เหตุเพราะชานมไข่มุก !
4 โทษของน้ำตาล อันตรายที่มากับรสหวาน ควรหวานแค่ไหน ถึง (พอ) ดีต่อร่างกาย