” เชื้อดื้อยา ยาปฏิชีวนะ หรือกินไม่ครบ ระวังเชื้อดื้อยา ยาซื้อยากินเอง ยาปฏิชีวนะ เดี๋ยว “เชื้อดื้อยา” รักษาไม่หาย เชื้อดื้อยา ยาปฏิชีวนะ กินยาไม่ถูกโรค ระวังเชื้อดื้อยา” ช่วงนี้ได้ยินสปอตเพลงนี้ออกบ่อย ถือเป็นเพลงยอดฮิตที่จดจำง่าย หลานชายวัย 4 ขวบ ร้องคลอไปกับสปอร์ตวิทยุกันทุกเช้าระหว่างเดินทางไปโรงเรียน จริง ๆ แล้วเรื่อง “เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ” ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม และก็อย่างที่เพลงร้องว่า ซื้อยากินเอง หรือทานยากันไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง ดังนั้น เราต้อง “เช็คให้ชัด ก่อนทานยาปฏิชีวนะ” ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัญหา “เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ” ทำให้การติดเชื้อเพียงเล็กน้อยของแบคทีเรีย เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ แม้ในประเทศไทย ก็พบปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ สูงขึ้นทุกปี ผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ทุก ๆ ชั่วโมงในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาปฏิชีวนะเฉลี่ย 2 คน และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทย มากถึง 19,122 คน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนไทยสามารถหาซื้อยามารับประทานเอง ตามร้านขายยาได้ง่าย โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ หลายท่านอาจสงสัยแล้วว่า สาเหตุจริง ๆ ของการ ดื้อยา เริ่มต้นจากอะไร หรือยาต้านแบคทีเรียที่ทานกัน มันใช่ยาแก้อักเสบ มั๊ย ฯลฯ วันนี้ ดิฉัน จะมาอธิบายเพื่อเข้าใจอย่างง่าย ๆ กันนะคะ
เชื้อดื้อยา คืออะไร ?
คือเชื้อโรคที่ทนต่อยาปฏิชีวนะ เมื่อเจอยา เชื้อจะไม่ตาย ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ได้ผลดีเหมือนเดิม อาจต้องใช้เวลานานขึ้น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น (โดยไม่จำเป็น) แถมมีผลข้างเคียงของโรคมากขึ้น และเสี่ยงต่อการชีวิตอีกด้วย
สาเหตุคืออะไร ?
โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะหาซื้อง่ายตามร้านขายยาทั่วไป อีกทั้งเมื่อคนหรือสัตว์ขับถ่าย เชื้อแบคทีเรียดื้อยา อาจจะเข้าไปสู่ระบบบำบัดของเสีย ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัว
แล้วแบบไหนหล่ะ เรียกว่า ทานยาพร่ำเพรื่อ
“เป็นหวัด กินยาดักไว้ก่อน” หลายท่านชอบทานยาดักไว้ เพราะคิดว่า กันไว้ก่อน จะได้ไม่เป็นหนัก
วันก่อน เพื่อนต่างชาติยังชมชอบเมืองไทย ด้วยเพราะเขาหาซื้อยาปฏิชีวนะง่ายดายมาก แถมไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ด้วย (ไม่เหมือนในต่างประเทศ เข้มงวดมากในเรื่องนี้) และด้วยเพราะเราหาซื้อยารับประทานเองได้ง่าย จึงบางครั้งอาจจะเป็นการทานยาโดยไม่ตรงกับโรค เรามาดูกันว่า เหตุผลไหนบ้างที่เรียกว่า ทานยากันพร่ำเพรื่อ :-
- ทานยาปฏิชีวนะที่เหลือจากวันวาน (คราวก่อน)
- ทานยาปฏิชีวนะร่วมกับคนอื่น (แบบว่า มีอาการคล้ายกัน เลยแบ่งให้ทาน เพราะเข้าใจว่าน่าจะอาการดีขึ้น)
- ทานยาทุกครั้งที่รู้สึก เจ็บคอ เป็นหวัด ท้องเสีย (จัดยาทานเองเลย)
- มักซื้อยาทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ทานยาที่แพทย์สั่ง แต่..ทานไม่ครบ
- ขอร้องให้แพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะให้ (เผื่อป่วยครั้งหน้า อาการเดียวกัน จะได้มียาทาน)
ข้อแตกต่างอย่างไรบ้างหล่ะ กับการซื้อยาเอง กับ ไปพบแพทย์ให้จ่ายยา
ถือเป็นคำถามยอดฮิต พบบ่อย ทำบ่อย ซื้อเอง สะดวกกว่าเยอะ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล่ว ข้อแตกต่างของยาที่ซื้อจากเภสัชกร กับยาที่ได้จากแพทย์นั้น แตกต่างกันที่ “การวินิจฉัย” อธิบายง่าย ๆ คือ เภสัชกรจะไม่สามารถวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้แม่นยำเท่ากับแพทย์ ในขณะที่แพทย์เอง อาจจะไม่มีความรู้เรื่องการจ่ายยา เท่ากับเภสัชกร และนอกจากนี้ ยังมีตัวยาบางประเภท ที่คนทั่วไปนั้น มีความเข้าใจผิดอยู่คือ ยาต้านเชื้อแบคมีเรีย หรือ ที่เรียกว่า ยาแก้อักเสบ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะยาต้านแบคทีเรีย และยาแก้อักเสบนั้น แตกต่างกัน…
ดังนั้น หากผู้ป่วยซื้อยารับประทานเอง ก็มีโอกาสที่จะได้ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาต้านแบคทีเรียมา โดยที่เข้าใจว่าคือยาแก้อักเสบ ซึ่งทานแล้วหายได้ทุกโรค จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น นั่นเอง
แล้วยาต้านแบคทีเรีย มันใช่ ยาแก้อักเสบ หรือเปล่า ?
ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า สาเหตุของการอักเสบ เกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรียเลย เช่น การบาดเจ็บ เป็นต้น ดังนั้น ยาต้านแบคทีเรีย จึงไม่ใช่ยาแก้อักเสบ และนี่คือสาเหตุที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดอย่างมาก เพราะบางครั้ง เราทานยาต้านแบคทีเรีย เพราะเข้าใจว่า มันช่วยลดการอักเสบลงได้ ทำให้เกิดการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่สมเหตุผล จึงเป็นสาเหตุหลักให้เกิดการ ดื้อยา ในที่สุด !
แล้วปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ส่งผลร่างกายอย่างไร ?
ทราบไหมว่า ประเทศไทย มีคนติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา มากถึง 80,000 คนต่อปี และมูลค่าการใช้ต้านแบคทีเรียมากกว่า 10,000 ล้านบาท อัตราเสียชีวิตมากกว่า 38,000 คนต่อปี อยากจะบอกว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านแบคทีเรียมากกว่าคนในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ถึง 8 เท่า !
แล้วโรคไหนบ้างหล่ะ ที่ไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย
ข้อนี้ โดนใจหลายท่าน เพราะเราจะได้รู้ ถูกมั๊ย J
- โรคหวัด ไอ เจ็บคอ (หลายท่านเป็นบ่อย ช่วงอากาศเปลี่ยน)
ร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาต้านแบคทีเรียฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การกินยาต้านแบคทีเรีย จึงไม่รักษาโรคหวัด ไอ เจ็บคอ เลย อาการเจ็บคอส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดจากโรคหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ต้องกินยาต้านแบคทีเรีย ส่วนอาการเจ็บคอเพียงเล็กน้อย คือ ร้อยละ 20 เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และอาจต้องได้รับยาต้านแบคทีเรีย โดยเราต้องสังเกตจากการมีอาการอย่างน้อย 3 ใน 4 ข้อดังนี้
- ไม่ไอ
- มีไข้
- ต่อมทอนซินมีจุดขาวหรือเป็นหนอง
หากมีอาการครบ 3 ข้อบน แนะนำ ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องดีกว่าค่ะ
“เป็นไข้หวัดธรรมดา มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ ไม่ต้องทานยาต้านแบคทีเรีย”
- โรคท้องเสีย แบบเฉียบพลัน
ร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัส หรือ อาหารเป็นพิษ เพราะท้องเสียส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากแบคทีเรีย ท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจาก อาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลว หรือ ถ่ายเป็นน้ำ แต่ยาต้านแบคทีเรียใช้ได้ผลดีกับอาการท้องเสียที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ดังนั้นการทานยาต้านแบคทีเรียทุกครั้งที่ท้องเสีย เสี่ยงต่อการแพ้ยา และทำให้เชื้อดื้อยา อีกด้วย วิธีแนะนำที่ดีที่สุด คือ ดื่มน้ำเกลือแร่ ทดแทนเกลือแร่ที่เสียไป งดอาหารรสจัด และไม่ควรดื่มนม
- โดนบาดแผล
เช่นแผลถลอก แผลมีดบาด ไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยทำความสะอาดบาดแผล แผลจะไม่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเลย เพราะเมื่อแผลไม่ติดเชื้อ รักษาความสะอาดอย่างดี แผลก็หายเองได้ แต่ถ้ามีอาการบวม แดง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่า อาการดื้อยาในร่างกายของคนเรา สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ถึงแม้จะใช้ยาที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม แต่หากร่างกายได้รับยาที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการดื้อยา โดยไม่จำเป็น ช่วงนี้ บ้านเราก็รณรงค์เรื่องนี้กันมากขึ้น ต้องขอชื่นชมกับทุกหน่วยงานความรับผิดชอบ สำหรับผู้ที่สนใจสื่อความรู้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://atb-aware.thaidrugwatch.org
อากาศเย็นลงช่วงนี้ รักษาสุขภาพนะคะ พบกันใหม่ฉบับหน้า วันนี้ สวัสดีค่ะ
(เครดิต : สสส. , www.med.mahidol.ac.th, facebook.com/thai.antibiotic.awareness)
#KINN_Biopharma
#KINN_Holistic_Healthcare
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กิน ปาท่องโก๋เสี่ยงไขมันสูง สุขภาพแย่ ไขมันในเลือดพุ่งสูง !
7 อาหารลดน้ำตาลในเลือด ควบคุมอาหาร ป้องกันเบาหวานได้ชะงัด
ภัยใกล้ตัว น้ำตาลในเลือดสูง พุ่งสูงปรี๊ดด เหตุเพราะชานมไข่มุก !