ใกล้ปีใหม่เทศกาลรื่นเริง แน่นอน ต้องมีงานสังสรรค์เลี้ยงปีใหม่ เลี้ยงรุ่น เลี้ยงโต๊ะแชร์ เลี้ยงเลื่อนตำแหน่ง เลี้ยงสอบเข้าได้ อื่น ๆอีกเพียบ นี่ยังไม่นับเลี้ยงลูก (ที่เพิ่งคลอดใหม่ พอดี เพื่อนผู้เขียนเพิ่งได้ลูกชายและลูกสาวกันหลายคู่อยู่ ดีใจกันยกใหญ่) ดูเหมือนช่วงท้ายปี จะเน้นรับประทานอาหารเยอะเชียว คุณผู้อ่านหลายคนที่มีโรคประจำตัว ย่อมต้องเลือกทานอาหาร เลี่ยงที่หวานจัด มันจัด เผ็ดจัด แต่วันนี้ ผู้เขียนขออนุญาติโฟกัสในเรื่องโรคเบาหวาน ซึ่งถือเป็นโรคที่ติดอันดับหนึ่ง มาหลายปีซ้อน และยังมีแนวโน้มอัตราเกิดสูงขึ้นทุกปี ! และโรคเบาหวาน ถือเป็นโรคที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุอีกด้วย
องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความของ “สุขภาพ” คือ สถานะการมีสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย และอารมณ์ ไม่เพียงแต่การปลอดโรคเท่านั้น
โรคเบาหวาน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาทางเพศเพิ่มขึ้นได้ แน่นอนว่า เกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยพบได้ในเพศชาย 30% และเพศหญิงถึง 40% และมีการคาดการณ์ว่า จำนวนเพศชายที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะเพิ่มขึ้นเป็น 170 ล้านคนในป 2568 เลยทีเดียว ถ้าสังเกตตามมวลเปอร์เซ็นต์ด้านบน จะพบว่าเพศหญิงมีปัญหามากกว่าเพศชาย แต่เป็นเพราะเพศชายจะกังวลและมาพบแพทย์ได้บ่อยกว่าเพศหญิงนั่นเอง
ผู้ชายทุก ๆ 6 ใน 10 คนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีปัญหา ED หรือปัญหาทางเพศ ( ED ย่อมาจากคำว่า Erectile Dysfunction) ความหมายคือ ความบกพร่องของการแข็งตัวขององคชาต นี่คือความหมายที่ตรงที่สุด อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่ปัญหา ED มีมากถึงร้อยละ 50-90 โดยพบว่า ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ หรือเป็นเบาหวานมานาน มีอาการมือชา เท้าชา จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นถึง 3 เท่า
การเป็นโรคเบาหวานทั้งประเภท 1 และ ประเภท 2 ยังสามารถส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ กระทบตรงถึงการเบื่อเซ็กซ์ และการมีความต้องการทางเพศต่ำลง จนไปถึงการติดเชื้อในช่องคลอด และภาวะการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่เพียงแต่เรื่องเซ็กซ์ ยิ่งกว่าไปกว่า คนที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีแนวโน้มที่จะมีปัญหากับระบบปัสสาวะ เช่นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และการติดเชื้อเหล่านั้น ก่อให้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
เพราะอะไรโรคเบาหวาน ถึงส่งผลต่อภาวะ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ?
ขออนุญาตอธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ เลยว่า ในภาวะปกติ การทำงานของระบบสืบพันธุ์ทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เป็นปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท และฮอร์โมนการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย ต้องอาศัยระบบการไหลเวียนเลือดเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มักจะมีปัญหาทางเพศ เพราะเส้นประสาทและเส้นเลือดฝอยได้รับการเสียหาย ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะเพศได้น้อยลง เท่านั้นยังไม่พอ รวมถึงการรักษาระดับของน้ำตาลกลูโคส (Glucoregulation) ยังส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนทางเพศ พร้อมกับการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน สามารถส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนในร่างกาย จึงส่งผลโดยตรงต่อความต้องการทางเพศลดลง !
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้มากกว่าทั่วไป
- ระบบไหลเวียนเลือด ในภาวะปกติ สารไนติกออกไซด์ จะทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัว เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศ แต่ในผู้ป่วยเบาหวาน มีการลดลงของสารไนตริกออกไซด์ ที่นำเลือดไปสู่อวัยวะเพศน้อยลง
- ระบบฮอร์โมนเพศชาย เทสโตสเตอโรน พบว่า ผู้ป่วยเบาหวาน 1 ใน 3 ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำให้การแข็งตัวของอวัยเพศไม่เต็มที่
- ระบบประสาท ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้มีอาการชา และระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดลดลง
การแก้ไขที่ต้นเหตุ
- ควบคุมโรคเบาหวาน
หยิบเป็นอันดับแรกเลย ควรควบคุมระดับน้ำตาล และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแดง ไม่ว่าจะเป็น ความดันในเลือด ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
- เน้นการออกกำลังกาย
มีงานวิจัยยืนยันว่า การออกกำลังกาย ทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นได้ คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะลดความเสี่ยงดังกล่าวได้
- ควบคุมน้ำหนัก
โดยเน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ พวกไฟเบอร์ ผักและผลไม้ และงดทานอาหาร และผลไม้ที่มีรสหวานจัด
จะเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศที่เกิดจากโรคเบาหวาน ทั้งเพศหญิง และเพศชาย ก็คือการควบคุมระดับของน้ำตาลกลูโคสในเลือด เพราะถ้าหากน้ำตาลในเลือดสูง ไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อแล้ว ยังเป็นสาเหตุนำพาโรคหัวใจและความดันมาอีกด้วย ปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงอีกไม่กี่วัน ฝากผู้อ่านดูแลสุขภาพกันนะคะ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และอย่าลืมออกกำลังกาย พบกันใหม่ ปีหน้า สวัสดีค่ะ
(เครดิต : ), หมอชาวบ้าน
KINN_Holistic_Healthcare
บทความที่น่าสนใจ
4 โทษของน้ำตาล อันตรายที่มากับรสหวาน ควรหวานแค่ไหน ถึง (พอ) ดีต่อร่างกาย