“ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน กลไกการหนาตัว การตีบของหลอดเลือดแดง จะเกิดเร็วขึ้น และนำพาไปสู่ภาวะแทรกซ้อน”
ปัจจุบัน โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง เป็นปัญหาที่สำคัญ และมีอัตราเกิดสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีในคนไทย โรคเบาหวานมีหลายประเภทและแต่ละชนิดก็มีการรักษาที่แตกต่างกันไป และแน่นอน โรคเบาหวานชนิดที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาจจะมีอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงมาก จนรั่วออกมากับปัสสาวะ ทำให้บางท่าน อาจเคยได้ยินว่า ผู้ป่วยเป็นเบาหวานปัสสาวะแล้ว มีมดขึ้น มดมาตอม นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการหิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย ทั้งนี้ ถ้าผู้ป่วยเบาหวานระดับในน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ก็อาจไม่แสดงอาการ ทำให้หลายท่าน ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน และมาพบแพทย์ครั้งแรก โดยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานไปแล้ว
ความดัน — เบาหวาน — ไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
ด้วยเพราะไลฟ์สไตล์การทานอาหารปิ้ง ย่าง น้ำหวาน ขนมกรอบ พอไปตรวจสุขภาพ ก็อาจทำให้พบว่าในบางครั้งเกินมาตรฐาน แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย และคิดว่าไม่ได้ร้ายแรง กินยา ควบคุมอาหาร พอผ่านไปสักระยะก็เลิกควบคุมอาหาร เพราะคิดไปเองว่า ดีขึ้นแล้ว จัดหนักอาหารเหมือนเดิม แต่ทราบหรือไม่ว่า โรคที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ควบคุมได้ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
ความดันเลือดสูง ทำให้ระบบหัวใจทำงานหนัก
เมื่อไหร่ที่ระดับความดันเลือดสูง จะส่งผลให้หัวใจต้องบีบตัวมากขึ้น เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดโรคหัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาตัว และแข็งตัว ส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด และหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ แตก ทำให้เป็นอัมพาตได้เช่นกัน
ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
คนไทยเป็นภาวะไขมันในเลือดสูงเยอะมาก ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมากมาย เพราะระดับไขมันในเลือด มีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ดังนั้นผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง จึงโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้
ตรวจเลือด ช่วยให้รู้ข้อมูลละเอียด
ทราบหรือไม่ว่า เลือดที่ถูกเจาะไปตรวจในห้องแลปนั้น บอกอะไรบ้าง ? โดยอย่างแรก คือ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ที่นอกจากจะช่วยให้ทราบถึงสุขภาพโดยรวมของผู้เป็นเจ้าของเลือด มีภาวะเลือดจาง ภาวะติดเชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงภาวะขาดสารอาหาร ยังจะช่วยให้ทราบถึงระดับไขมันในเลือด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ มีข้อมูลในการวินิจฉัยถึงภาวะไขมันในเลือดสูง โดยดูจากระดับไขมัน ที่เรียกว่า คอเลสเตอรอล ซึ่งก็ยังสามารถแบ่งได้อีกเป็นไขมันดี และไขมันเลว และค่าไตรกลีเซอไรด์
เป็นเบาหวาน ยิ่งต้องระวังระดับไขมันในเลือด
ถือเป็นคำถามที่พบบ่อย ถ้ากินยาลดไขมันในเลือดแล้ว ระดับน้ำตาลลดด้วยไหม ? อธิบายว่า ปัญหาระดับไขมันในเลือดสูงระหว่างคนปกติกับคนที่เป็นเบาหวาน จะแตกต่างกัน โดยไตรกลีเซอไรด์สูงเล็กน้อย หรือ ปานกลาง หรือเกินกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด และสมองขาดเลือด แต่ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก ๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ส่วนภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูง ในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะไขมันเลว LDL ถ้าผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีไขมันในเลือดสูง LDL สูง ก็จะไปสะสมตามหลอดเลือดแดง แล้วหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ป่วยเบาหวาน กลไกการหนาตัว และตีบของหลอดเลือดเส้นเลือดแดง จะมีความไวมากกว่าในผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน ทำให้ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันตามอวัยวะต่าง ๆ หลอดเลือดสมองตีบตัน จะมีภาวะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต มีภาวะทำให้แขน ขา อ่อนแรง หรือมีอาการชา ทำให้เป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้
ภาวะอ้วน ดื้ออินซูลิน
ภาวะอ้วน คือปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และมีความสัมพันธ์อย่างมากเกี่ยวกับภาวะดื้ออินซูลิน
ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี เสี่ยงสูงหลอดเลือดหัวใจ
การควบคุมน้ำตาลที่ไม่ดีพอ หรือปล่อยให้ระดับน้ำตาลสูงเกินไป เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่จะช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือด ลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดความหนืดของหลอดเลือดแดง ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของเลือดช้า และเมื่อมีน้ำตาล และ ไขมันไปเกาะติดผนังหลอดเลือดสะสมเป็นปริมาณมากขึ้น จะทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหากคราบไขมันสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดแตกออก และกลายเป็นลิ่มเลือด จะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หากเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินหรือโรคเบาหวานร่วมกับระดับไขมันในเลือดที่สูงด้วย จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ หรือ โรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดการหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยเบาหวาน อาจช่วยชะลอการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด เน้นการเลือกทานอาหาร และออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลระดับน้ำตาล จะดีที่สุดค่ะ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
.…………………………….
(เครดิต : A Guide to Living with Diabetes and high Cholesterol, www.healthline.com, How High Blood Sugar Affects Your Cholesterol Level, www.verywellhealth.com, www.sukumvithhospital.com, www.ram-hosp.co.th, www.i-kinn.com)