ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ทำให้หลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิด เมื่อวานตลาดนัดจตุจักรเปิดทำการแล้ว
ผมนั่งทำแผนเพื่อการประชุมของทีมบริหารของบริษัทของผมที่จะประชุมในวันพรุ่งนี้ โดยใช้ข้อมูลที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาเป็นพื้นฐาน
โดยมีโจทย์คือ ในฐานะ SME นอกจากเอาชีวิตของมนุษย์ให้รอดแล้ว เราจะเอาชีวิตของบริษัทให้รอดอย่างไรด้วย เพราะถ้าวางแผนรับมือไม่ดีพอ เราอาจชะล่าใจแล้วทำให้แผนรับมือทั้งรายรับและจ่ายไม่สอดคล้องกัน ซึ่งถ้าพลาดไปซักช่วงก็มีโอกาสเจ็บยาว
นาทีนี้ สังคมค่อนข้างจะมั่นใจว่าเราผ่านได้แน่ เห็นได้จากการกดดันรอบด้านไปที่รัฐบาลให้ธุรกิจกลับมาดำเนินอีกครั้ง เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจหลังปิดเมืองนั้นรุนแรงมาก
ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ นำเสนอภาพจำลองสิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้โดยแบ่งออกเป็น 3 การคาดการณ์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ต้องคุมไม่ให้การระบาดมีจำนวนสูงเกินความสามารถของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะรองรับผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะห้อง ICU
ทั้ง 3 การคาดการณ์ไล่เรียงตามในรูปนะครับ
การคาดการณ์ที่ 1: “ทุบด้วยค้อนแล้วให้ฟ้อนรำ”
คือเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นรัฐก็จะออกมาตรการ lockdown ที ในภาพนี้แปลว่า การรับมือของบริษัทห้างร้านจะต้องรู้ไว้เลยว่า ทุกการเปิดนั้นคือการเปิดชั่วคราวเสมอ และเมื่อมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเด้งกลับขึ้นมาที่ X คน ทางการจะออกคำสั่งมาตรการฉุกเฉินกลับมาอีกแน่นอน กลับไปกลับมาแบบนี้ โดยสถานการณ์นี้จะลากยาวไปอีกเป็นปี หรือจนกว่าจะมีวัคซีนออกมา
การรับมือ 1: บริษัทน่าจะตีเส้นรายได้ที่คาดว่าจะทำได้ในช่วงเวลากำลังเปิด, เปิดแล้ว, กำลังปิด, ปิดแล้ว และเอารายจ่ายตีเส้นคู่กัน เพื่อดูว่าในระหว่างการต้องเอาตัวรอดไปอีกปีกว่าๆ นั้น จะมีช่วงไหนบ้างที่จะสาหัสแน่นอน และผลรวมเป็นเท่าไหร่ เพื่อสุดท้ายคำนวนโมเดลการผสมระหว่างเงินสดในมือ เงินกู้ และการเพิ่มทุนเพื่อบริหารการจัดการกระแสเงินสดและผลประกอบการ
การคาดการณ์ที่ 2: “ไข้หวัดสเปน”
คือการเสียชีวิตนั้นเกิดในการระบาดระลอก 2 มากกว่า 1 เนื่องจากครั้งแรกเมื่อมีการระบาดคนจะกลัวและระวังตัวมาก แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ผู้คนก็ชะล่าใจว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ พอสุดท้ายการระบาดครั้งที่ 2 กลับมาจึงกลายเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงที่เกินกว่าจะรับมือได้ หลังจาก lockdown อีกครั้งเมื่อกลับมาผู้คนได้เรียนรู้ความรุนแรงแล้วจึงไม่ประมาทอีกรวมถึงทางการก็เข้มงวดในมาตรการโดยแทบไม่ผ่อนคลายอีกเลย
การรับมือ 2: หากการกลับมาระบาดเป็นไปตามโมเดล 2 นี้ เศรษฐกิจจะถึงขั้นพินาศยับกว่าครั้งที่ 1 อีกแน่นอน ซึ่งมาตรการ lockdown มีโอกาสรุนแรงถึงขั้นบังคับให้อยู่บ้านแบบอู่ฮั่น ในโมเดลนี้ต้องตีเส้นรายได้ของบริษัทเกือบเท่ากับ 0 และต้องมีแผนการจัดการค่าใช้จ่ายให้ดี เพราะประเทศอาจจะเกิดการเข้าสู่ recession ของธุรกิจขนาดใหญ่ระยะยาว มีโอกาสที่อาจต้องคิดถึงการปรับรูปแบบของธุรกิจอย่างถาวร
การคาดการณ์ที่ 3: “ดีที่สุด”
เป็นโมเดลที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ให้นิยามว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในระหว่างทุกโมเดลที่หากไม่มีวัคซีนออกมา สถานการณ์จะคล้ายกับเมื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ระบาด เมื่อมีคนติดถ้าอาการไม่หนักก็พักอยู่บ้าน พอหายก็กลับไปทำงาน รัฐก็ไม่ต้อง lockdown ทุกธุรกิจสามารถดำเนินได้ปกติ
การรับมือ 3: เตรียมความพร้อมขององค์กรและทีมงานให้ดีที่สุดเหมือนเข้าเส้นออกตัว เมื่อเสียงนกหวีดดังนั่นคือเวลาที่ทีมต้องวิ่งให้สุดแรง เพื่อกลับตัวจากช่วงเวลา lockdown ให้ได้
ทั้ง 3 โมเดลจะเห็นได้ว่า ทุกๆ บริษัทโดยเฉพาะ SME ต้องใช้เวลาที่เกิดการ lockdown จากการแพร่ระบาด เตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุดที่จะต้องรับมือไม่ว่าสถานการณ์จะออกหน้าไหน
ความยากของเรื่องนี้คือ จะสร้างสมดุลย์ระหว่างการจัดการเกมรับและเกมบุกอย่างไร เนื่องจากหากรอเล่นเกมบุกเพราะคาดว่าจะเปิดเมืองไปยาวๆ แล้วหากเกิดการปิดอีกครั้งจากการระบาดระลอก 2 บริษัทคงจะต้องบอบช้ำอีกครั้งจากการตัดค่าใช้จ่าย และไม่มีอะไรการันตีได้ว่าบริษัทที่ปรับตัวจากปัญหาครั้งแรกได้ดีจะชัวร์ว่ารอดได้ในครั้งต่อๆ ไป
ในขณะที่ถ้าเล่นเกมรับมากไป ในช่วงเวลาที่กลับมาเปิดเมืองก็อาจจะวิ่งไม่ทันกับการแข่งขันและการตอบโต้ของคู่แข่งเพราะไม่ได้เตรียมการเอาไว้มากพอ
ในการบริหารจัดการ ธุรกิจเล็กก็มีปัญหาแบบเล็ก ธุรกิจใหญ่ก็มีปัญหาแบบใหญ่ การอยู่ต่างอุตสาหกรรมก็มีตัวแปรไม่เหมือนกัน วิธีที่คนอื่นใช้ก็อาจจะไม่เหมาะกับเรา วิธีของเราก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับคนอื่น
ผมคิดว่า จาก 3 โมเดลนี้ แสดงภาพชัดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงแห่งสงคราม ที่มีฆ่าศึกบุกเข้ามาทิ้งระเบิดและไล่ยิงเราได้เสมอหากไม่ระวัง มากกว่าแค่การรับมือโรคระบาด มันไม่ใช่แค่ไข้หวัด หรือโรคระบาดทั่วไปที่สำหรับคนทำธุรกิจจะสามารถใช้วิธีคิดว่าเดี๋ยวรัฐจะรับมือให้เพราะเราจ่ายภาษีไปแล้วได้
เราไม่สามารถพึ่งรัฐบาลทั้งหมดว่าจะช่วยทำให้เราชนะสงครามนี้ได้ หากการระบาดเป็นอย่างโมเดล 1 และ 2
การวางแผนรับมือเลยต้องมองทั้งไกลและใกล้ๆ หนักและเบา โดยใช้ตัวเลขบางตัวมาเป็นตัวกำหนดการเลือกใช้กลยุทธขององค์กร เช่นหลังจากนี้หากมีการระบาดเพิ่มขึ้นกี่วันหรือกี่คนติดต่อกัน เราจะรู้ได้ด้วยตนเองว่ามาตรการ lockdown จะกลับมาอีกครั้ง
คงจะดีกว่าถ้าเราเตรียมใจไว้เลยว่าจากนี้ไปอีก 1 ปีกว่าๆ จะไม่สามารถมีวันไหนที่ภาคธุรกิจเราจะชะล่าใจกับการเตรียมความพร้อมได้อีกแล้ว
สุดท้ายขอฝากคำทิ้งท้ายไว้ว่า
“Only the paranoids survive” และ
“what doesn’t kill u make u stronger”
ครับ
#โธมัสพิชเยนทร์
#คิดแบบSTARTUP
#ทำอย่างSME
#มีระบบแบบมหาชน