จากประสบการณ์ของผมนั้น การขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรนั้นมีปัจจัยสำคัญๆ มากมาย แต่หากจะคัดมาเอาที่สำคัญ ผมขอยกมาแค่ 4 หัวข้อหลัก ประกอบไปด้วย 4 อย่างคือ
บรรยากาศ, วัฒนธรรม, ระบบ และ คน
ทีนี้ขอพาทุกคนมาไล่เรียงรายละเอียดของ 4 ปัจจัยไปด้วยกัน ดังนี้ครับ
บรรยากาศ:
การลงทุนสร้างมุมดีไซน์แบบสร้างสรรค์และบรรยากาศที่แตกต่างกันไปในออฟฟิศ จุดประสงค์ก็เพื่อไว้ผลักดันความครีเอทีฟของทุกคน และเค้นศักยภาพของมนุษย์ให้ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางครั้งการกลับบ้านหรือที่พักของแต่ละคนก็อาจกลับไปอยู่ภายใต้กรอบเดิมๆ ที่แต่ละคนมี แต่ทุกเช้าที่ก้าวเข้ามาในออฟฟิศ บรรยากาศและการตกแต่งจะ remind ทุกคนว่า การทำงานที่นี่ demand ความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่เคยเสมอ
การลุงทุนตกแต่งมุมต่างๆ นั้นไม่ได้ใช้เงินมาก แต่ใช้ไอเดียมากกว่า เช่นเดียวกับงานที่ถ้าใช้ความคิดให้มาก ก็จะใช้เม็ดเงินลงทุนน้อยลงแต่ให้ผลเป็นทวีคูณ
วัฒนธรรม:
หากจะมีปุ่มอะไรสักอย่างที่กดปิดความคิดสร้างสรรค์ได้เร็วที่สุด สิ่งนั้นคงไม่พ้นการมีวัฒนธรรมที่เป็น fixed mindset และไม่ส่งเสริมและเปิดรับความคิดแปลกใหม่จากทุกคน
วัฒนธรรมคือสิ่งที่ต้องสร้างผ่านการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ติดต่อกันจนกลายเป็นความเชื่อ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งด้านที่ดีหรือร้าย และวัฒนธรรมไม่สามารถสร้างได้ภายในเวลาข้ามคืนดังนั้นทุกองค์กรไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ หากไม่รู้ว่าจะเริ่มสร้างวัฒนธรรมอย่างไรแนะนำว่าควรเริ่มจากการทบทวนวิสัยทัศน์และกลยุทธขององค์กรเป็นสิ่งแรก เพื่อตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าองค์กรของเรามีความจำเป็นอย่างไรต่อสังคม
ผมอยากให้มองการสร้างวัฒนธรรมให้เหมือนการเขียนไดอารี่ครับ คือวัฒนธรรมที่ดีนั่นเกิดจากการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำติดต่อกันซ้ำๆ จนกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนรับรู้ได้ทันทีโดยอัตโนมัติ
ยกตัวอย่างเช่นนะครับ หากผู้บริหารประกาศว่าที่องค์กรของเรามีวัฒนธรรมที่ยอมรับความผิดพลาดได้เพื่อก้าวไปข้างหน้า แต่พอทีมงานทำผิดพลาดทีกลับถูกเรียกมาต่อว่าหรือแทบจะประจานกลางที่ประชุมให้อับอาย แบบนี้ถ้าทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ ไดอารี่วัฒนธรรมของคุณก็จะถูกเขียนไว้ว่าความผิดพลาดคือสิ่งที่บริษัทยอมรับไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าคุณจะประกาศไปอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทุกวันกลับทำอีกอย่างหนึ่งก็คล้ายกับการจดบันทึกไดอารี่วัฒนธรรมของเราไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราจดนั้นคือตัวสะท้อนความเป็นความจริงขึ้นมาคร้บ
ระบบ:
การมีระบบที่ดีเป็นเหมือนการส่งเสริมและให้รางวัลแก่คนทำงานในองค์กรไปโดยปริยาย และจะช่วยให้ไอเดียด้านความคิดสร้างสรรค์ได้รับการสนับสนุนอย่างมีพลังมากขึ้น
ระบบที่ดีไม่ได้หมายความต้องเริ่มจาก 1 ไป 2 ไป 3 เท่านั้น แต่ต้องเอื้อให้สามารถข้ามจาก 1 ไป 3 หรือ 5 ได้ทันทีผ่านระบบการอนุมัติที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความรวดเร็วนี่แหละครับคือตัวเร่งชั่นดีที่จะทำให้คนในองค์กรอยากที่จะคิดค้นและนำเสนอไอเดียความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมามากขึ้น ซึ่งก็จะตรงข้ามกับการที่ถ้าองค์กรมีขั้นตอนที่มากเกินไปหรือไม่มีระบบขั้นตอนอะไรที่ดีมากพอก็จะเป็นการลดทอนกำลังใจของคนทำงานให้อยากนำเสนออะไรใหม่ๆ ขึ้นมา
คน:
ทั้งสามอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างบน นั้นแทบจะไม่มีค่าอะไรเลยหากปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องของบุคคลากรหรือ “คน” นั้นไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ
การให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คน” นั้นไม่ได้หมายความว่าต้องยกยอปอปั้น หรือต้องเสาะหาคนที่เก่งที่สุดมาทำงาน เพราะอย่างแรกอาจจะไม่เหมาะ ส่วนอย่างที่สองอาจจะไม่ไหวสำหรับองค์กรส่วนใหญ่
การให้ความสำคัญกับคนนั้นคือการที่เราควรต้องให้ความสำคัญไปกับการเสาะหาและคัดเลือกสมาชิกในทีมที่เหมาะสมและเข้ากันได้กับงานและทีม ในขณะเดียวกันก็ต้องคัดออกสมาชิกที่อาจจะไม่เหมาะกับงานและเข้ากันไม่ได้กับทีม
การเข้ากันได้กับทีมในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเป็นคนเห็นดีเห็นงามไปด้วยกันทั้งหมดตลอดเวลานะครับ แบบนั้นองค์กรคงแข่งขันได้ยาก แต่ทีมที่ดีคือทีมที่สามารถโต้แย้งกันได้อย่างสร้างสรรค์โดยมีผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้งแล้วยังสามารถเดินหน้าทำงานเป็นทีมต่อไปด้วยกันได้ภายใต้ความขัดแย้งทางไอเดียแต่ไม่ขัดแย้งในเชิงส่วนตัว
การคัดเลือกสมาชิกที่เหมาะสมเข้าสู่ทีม และคัดเลือกคนที่ไม่เหมาะออกจากทีมนับเป็นศิลปะขั้นสูงสุดที่จะช่วยให้องค์กรทุกรูปแบบสามารถที่จะก้าวไปข้างหน้าฝ่าคลื่นลมได้อย่างแข็งแรงมากพอที่ถึงแม้จะไม่สามารถขึ้นไปสู่ยอดสุดของอุตสาหกรรมได้ด้วยปัจจัยทางด้านทุนและแต้มต่อต่างๆ แต่ก็พอที่จะฝ่าคลื่นลมทางการแข่งขันให้สามารถสร้างคุณค่าแก่วงการที่ตัวเองเป็นผู้เล่นอยู่ได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนพอตัวครับ