โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคใกล้ตัวที่เชื่อหรือไม่ว่า ตลอดชั่วชีวิตของคนเราหนึ่งคน จะมีโอกาสเป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ มากถึงร้อยละ 1 – 15 โดย นิ่ว สามารถเกิดขึ้นได้ในอวัยวะที่มีการสัมผัสกับปัสสาวะโดยตรง คือ ไต กรวยไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ แน่นอน คุณผู้อ่าน ย่อมเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่ต้องกลั้นปัสสาวะกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ขณะอยู่ในที่สาธารณะบ้าง หรือ กำลังทำงานติดพันอยู่บ้าง และเกิดปวดปัสสาวะ ทำให้ต้องกลั้นปัสสาวะจนหน้านิ่วคิ้วขมวด แต่รู้หรือไม่ว่า คนที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้น มีอาการตรงกันข้ามเลยค่ะ ไม่ได้ต้องอด ต้องกลั้น แต่อย่างใด แย่ไปกว่านั้นคือ เบ่งอย่างไรก็ไม่ออก หรือ ออกบ้าง แต่ยากเย็นแสนเข็ญมาก แค่คิดก็ทรมานแทนแล้ว ดังนั้น ในบทความนี้ ขอนำ คุณผู้อ่าน มาพบกับ ท่านนายแพทย์ ภัทร์ ศักดิ์ศิริสัมพันธ์ – อนุสาขา ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยาขั้นสูง และปลูกถ่ายไต ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในเรื่องนิ่วในทางเดินปัสสาวะ กันนะคะ
เรามาดูกันนะคะ ว่าการที่เรานั่งทำงานเฉย ๆ ในแต่ละวัน หรือ การกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ จะเป็นปัจจัยให้เกิดได้ไหม อย่างไร
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิด โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- เพศ เพศชาย มีโอกาสเกิดนิ่วได้มากกว่าเพศหญิง ถึง 2 เท่า
- อายุ นิ่วจะพบมากสุดในอายุ 40 – 60 ปี และพบไม่บ่อยในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี
- เชื้อชาติ ข้อนี้มีผลวิจัยด้วยค่ะ ว่าชนต่างชาติกัน มีโอกาสเป็นนิ่วต่างกัน ชนผิวขาว ชาวละติน ชาวเอเชีย และอเมริกัน-แอฟริกัน ตามลำดับ
- ฤดูที่เปลี่ยนไป พบ นิ่ว ในช่วงฤดูร้อนมากกว่า ฤดูอื่น ๆ
- อาชีพ โดยส่วนใหญ่อาชีพที่ต้องสัมผัสกับความร้อน จะเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วมากขึ้น เช่น พ่อครัว แม่ครัว พนักงานโรงงานหลอมเหล็ก เป็นต้น
- อาหารการกิน ถือว่ามีส่วนสำคัญเช่นกัน นิ่วจะเกิดมากขึ้นในคนที่ชอบทาน เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ และอาหารที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น มันฝรั่ง หัวผักกาด ฯลฯ
- การดื่มน้ำ การดื่มน้ำปริมาณมากมีผลช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้ ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย จะมีโอกาสเป็นนิ่วได้มากกว่า
เมื่อเราทราบถึงปัจจัยแล้ว คุณผู้อ่านอยากจะทราบถึงอาการ ว่าอาการจะเป็นอย่างไร มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ
สัญญานเตือน โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
อาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ อาจจะมีอาการ หรือ ไม่มีอาการก็ได้ ในกรณีที่มีอาการนั้น จะเกิดจากสาเหตุหลัก ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ :-
- อาการปวด
ถ้านิ่ว อุดกั้นปัสสาวะภายในไต จะมีอาการปวดตื้อ ๆ ที่บริเวณไต คือ ตรงบริเวณบั้นเอวเยื้องไปทางด้านหลัง ถ้านิ่วมาอุดกั้นที่ท่อไต ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบั้นเอว หรือ ท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งแบบทันทีทันใด และปวดรุนแรงมาก เริ่มแรกอาจปวดมากสลับกับปวดเบาเป็นพัก ๆ อาจมีปวดร้าวไปที่ตำแหน่งอื่นได้ เช่น ท้องน้อย หัวหน่าว ขาหนีบ
- อาการอักเสบ
หรืออาจเป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ส่วนบน ได้แก่ การติดเชื้อที่ไต หรือ กรวยไต จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณบั้นเอวเยื้องไปทางด้านหลัง และอาจมีปัสสาวะขัด
- อาการอื่น ๆ
อาจมีปัสสาวะมีเลือดปน มองเห็นเป็นสีแดง หรือ ชมพูคล้ายน้ำล้างเนื้อ อาจมีลิ่มเลือดปนอยู่ หรือ มีนิ่วหลุดออกมาขณะปัสสาวะ อาจเห็นเป็นเศษหินเล็ก ๆ เม็ดกรวด หรือ เม็ดทราย หลุดมากับปัสสาวะ
5 วิธีป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- แนะนำดื่มน้ำให้มาก ๆ จะดื่มมากเท่าใด ให้ดูจากปริมาณปัสสาวะที่ออกตลอดวัน อธิบายง่าย ๆ คือ แนะนำให้ดื่มน้ำจนกระทั่งปัสสาวะออกมามากว่า 2 ลิตรต่อวัน
- ดื่มน้ำผลไม้ที่มีส่วนประกอบของซิตรัส เช่น น้ำมะนาว และน้ำส้ม ช่วยป้องกันนิ่วได้เป็นอย่างดี
- ลดปริมาณการทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ให้น้อยลง
- จำกัดอาหารที่มีเกลือโซเดียมให้น้อยลง โดยการลดการทานเค็ม นั่นเอง
- เรื่องน้ำหนักตัว ก็มีส่วนเช่นกัน พยายามลดน้ำหนักตัวลง ไม่ให้อ้วน มีงานวิจัยมาแล้วว่า ดัชนีมวลกาย (body mass index BMI) ที่เพิ่มขึ้น รอบเอวที่ใหญ่ขึ้น และน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วสูงเลยทีเดียว
ถือเป็นโรคที่พบบ่อยในคนวัยทำงาน และเราสามารถป้องกันได้อย่างง่าย ๆ และถูกวิธี ตามที่กล่าวเบื้องต้น ช่วงนี้ อากาศเย็นมาเยือนแล้ว ดูแลสุขภาพกันนะคะ พบกันใหม่ฉบับหน้า สุขสันต์วันลอยกระทง นะคะ สวัสดีคะ
(เครดิต : นพ.ภัทร์ ศักดิ์ศิริสัมพันธ์)
#KINN_Holistic_Healthcare
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 อาหารลดน้ำตาลในเลือด ควบคุมอาหาร ป้องกันเบาหวานได้ชะงัด
ภัยใกล้ตัว น้ำตาลในเลือดสูง พุ่งสูงปรี๊ดด เหตุเพราะชานมไข่มุก !