“อายุมากขึ้น โรคภัยจะเริ่มถามหา” ถือเป็นคำกล่าวที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้เลย และผู้เขียนเชื่อว่าผู้หญิงหลายคน คงกลัวความเปลี่ยนแปลงจากอายุที่มากขึ้น เลข 3 มาสู่เลข 4 อย่ากลัวเลยค่ะ เพราะไม่มีใครหยุดเวลาได้ ก้าวสู่เลข 4 ให้มองว่า เรากำลังก้าวสู่ความมั่นคงด้านการเงิน การงาน และความรัก และแน่นอนริ้วรอยแห่งประสบการณ์ (ย่อมมาแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้) เมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 ปี ร่างกายก็จะเสื่อมถอยลง ประกอบทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย แล้วยังมี “ความเครียด” สะสมที่เพิ่มขึ้นทุกวันโดยที่เราไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเสียด้วยสิ ! วันนี้ ผู้เขียน ขอหยิบโรคประจำวัย 40+ มาแชร์กัน ดังนี้ค่ะ
โรคประจำวัย 40+ มีอะไรบ้าง?
-
โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease)
เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของไขมัน,คอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ และอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด และแน่นอน เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว ย่อมทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานอย่างปกติ การที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างปกตินั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุให้หัวใจขาดเลือด อาการที่ตามมาคือ อาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือถ้ารุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ไขมันในเลือด (คอเลสเตอรอล) โดยที่ไขมันในเลือดมีมากเกินไปอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยไขมันในเลือดแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ LDL (ไขมันเลว) คือตัวการปิดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ และ HDL (ไขมันดี) ทำหน้าที่นำไขมันเลวออกจากเซลล์ต่าง ๆ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ความดันเลือดสูง การที่มีความดันเลือดสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก จนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว นำสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ
- น้ำตาลในเลือดสูง การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ให้เซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งทำให้อวัยวะร่างกายเสื่อมสภาพ จนก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้
ความเครียด ถือเป็นปัจจัยของทุก ๆ โรคเลยทีเดียว สภาพจิตใจที่มีความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
-
โรคเบาหวาน
แต่ละคนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานไม่เท่ากัน ผู้ที่มีคุณพ่อคุณแม่ พี่น้อง เป็นเบาหวาน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนอื่น โรคเบาหวาน เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เมื่อระดับน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้ จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับปกติ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันเลือดสูง (สังเกตได้เลยว่า โรคต่าง ๆ มากันเป็นแพจเกจเลยทีเดียว)
สาเหตุของโรคเบาหวาน
กลไกการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในซับซ้อน (มากกว่ากลไกการควบคุมระดับไขมันในเลือด) อธิบายง่าย ๆ คือ
เมื่อร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้ตับอ่อนสร้างสารที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเกิดโรคแทรกซ้อนจากการที่น้ำตาลในเลือดสูงตามมาด้วย
-
โรคอ้วน
ด้วยเวลาที่เร่งรีบ ทำให้อาหารที่นิยมในหมู่หนุ่มสาวออฟฟิศ หนีไม่พ้นอาหารจำพวก ฟาสต์ฟู้ดที่มีแป้งและไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่ว่าจะเป็น หมูทอด ไก่ทอด เฟรนฟายด์ น้ำอัดลม ปาท่องโก๋ กล้วยแขก ยิ่งถ้าใครไม่มีเวลาไปออกกำลังกายหรือ เล่นกีฬาแล้วล่ะก็ มีสิทธิ์เป็นโรคอ้วนได้อย่างไม่ต้องสงสัย และแน่นอน โรคอ้วน ไม่ได้หมายถึงการที่มีน้ำหนักตัวหรือไขมันที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างเดียว แต่คือการที่ดัชนีมวลกายและปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมากจนเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะจูงโรคอื่น ๆ มาอีกเพียบ (เมื่อปีที่แล้ว ไทยเรา ก็มีการรณรงค์เรื่องโรคอ้วน มีคลิปวีดีโอรณรงค์กันมากมาย)
วิธีการดูแลสุขภาพเพื่อให้เกิดโรคอ้วน คือ เน้นเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ลดทานแป้ง ลดน้ำตาล และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล รวมถึงเบียร์ และเครื่องดื่มแอลกฮอล์ด้วย
-
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบ หรือ การระคายเคืองในเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งแน่นอน สาเหตุมาจากการทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือลืมทานอาหารบางมื้อ จนทำให้คนวัยทำงานเป็นโรคกระเพาะกันเยอะ โดยจะมีอาการปวดท้องกลางท้องช่วงบน ลักษณะการปวดคือ รู้สึกปวดแน่น หรือแสบร้อน ซึ่งถ้าหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมในการทานอาหาร อาจทำให้เกิดเรื้อรังจนเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้ วิธีการแก้ไขง่าย ก็คือ ควรเน้นทานอาหารให้เป็นเวลา เพื่อให้ระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เวลาที่หิว และไม่มีเวลาออกไปหาอาหารทาน เน้นให้พกขนมปัง แซนวิช ง่าย ๆ มารองท้องก่อนเพื่อป้องกันโรคกระเพาะอาหารถามหา
-
โรคออฟฟิศซินโดรม
ถือเป็นโรคที่มนุษย์ออฟฟิศเป็นกันเยอะทีเดียวค่ะ (รวมถึงผู้เขียนด้วย) ออฟฟิศซินโดรม คืออาการที่มักเกิดขึ้นมนุษย์ทำงานออฟฟิศที่ต้องนั่งหน้าคอมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ จนส่งผลกระทบต่อระบบกระดูก ระบบกล้ามเนื้อ ไปจนถึงระบบย่อยอาหารและการมองเห็น อาการที่เห็นเด่นชัด คือ ปวดตึงที่บ่า หลัง หนักขึ้นอาจเกิดอาการระบบประสาทถูกกดทับซึ่งนำไปสู่โรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้ วิธีการดูแลไม่ให้เป็นออฟฟิศซินโดรม คือต้องเน้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ แล้วขณะทำงาน ถ้านั่งท่าไหนเป็นเวลานาน แนะนำช่วยขยับเปลี่ยนท่า หรือเปลี่ยนไปเดินเข้าห้องน้ำ เดินไปแผนกอื่นบ้าง เพื่อคลายเส้นไปในตัวค่ะ
และนี่คือ 5 โรคประจำวัย 40+ ที่เพื่อน ๆ วัยนี้จะได้ปรับพฤติกรรมเพื่อจะได้มีสุขภาพดี ทำงานอย่างมีความสุข เน้นการเลือกรับประทานอาหาร และอย่าลืมออกกำลังกาย ง่าย ๆ เพียงเท่านี้ ชีวิตก็มีสุข พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
……….
(เครดิต : Heart health at any age 40,50,60 and beyong, www.heart.org.com , 40+ be cautions of heart valve degeneration, vejthani.com/2020/03/heart-valve-degeneration, www.frank.co.th , www.i-kinn.com)
บทความที่น่าสนใจ
คอเลสเตอรอลสูงเกิน 200 ต้องทานยามั๊ย ?