ทำไมค่าน้ำตาลในเลือดถึงไม่ลง??
ถึงแม้ว่า สถิติผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง จะสูงขึ้นทุกปี แต่สถิติผู้ที่มีน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน) ก็สูงไม่แพ้กัน เรียกว่า จัดลำดับวิ่งมาสูสีกันทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะพบบ่อยมากที่สุด (ประเทศไทยเรา ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว) ผู้เขียน เคยได้ยินเพื่อนสนิทบ่นว่า “เผลอกินนิด กินหน่อย นี่ไม่ได้เลย น้ำตาลขึ้นตลอด” แล้วอยากทราบไหมว่า ผู้ที่เป็นเบาหวาน (น้ำตาลในเลือดสูง) สามารถควบคุมน้ำตาลได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกินยา ได้มั๊ย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวเลขปี 2562 ประชากรชาวไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากถึง 4.8 ล้านคน และมักเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมาจากวิถีชีวิตแบบเนือยนิ่ง โรคอ้วน และอายุที่มากขึ้น อัตราการเสียชีวิตชาวไทยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีมากถึง 200 รายต่อวัน คาดการณ์จะสูงมากขึ้นถึง 5.3 ล้านคนภายในปี 2583 ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ อาจทำให้เกิด ภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคความดัน โรคตา – ต้อกระจก, ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ชาตามปลายมือ ปลายเท้า ฯลฯ
โรคเบาหวาน = ภาวะผิดปกติของค่าน้ำตาลในเลือด
โรคเบาหวานนั้น เป็นภาวะความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือภาวะการดื้ออินซูอินในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลในเลือดได้อย่างเต็มที่ และเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย อาการที่เห็นชัด ๆ คือ อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย และถ้าน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ๆ แบบว่า ปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่รักษาให้ทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาวได้ (โอ้ อันตรายต่อสายตาอีกด้วย)
แล้วระดับน้ำตาลในเลือด ควรเป็นเท่าไหร่ ?
ข้อนี้ หลายท่านที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว น่าจะทราบดี แต่ผู้เขียน ขออนุญาตเขียนเพิ่มเติม (อีกครั้ง) สำหรับผู้ที่กำลังจะเป็นโรคเบาหวาน หรือกลุ่มเสี่ยง เพราะจะได้ทราบเพื่อเลี่ยงได้ ในกรณีคนปกติ (ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน) แพทย์จะวินิจฉัยตรวจจากระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเป็นหลัก โดยพิจารณาร่วมกับข้อมูลด้านอื่นประกอบด้วย เช่น ประวัติทางการแพทย์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการรับประทานในชีวิตประจำวัน โดยปกติการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Blood Glucose) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและน้ำเป็นเวลาอย่างต่ำ 8 ชั่วโมง มักตรวจในตอนเช้า โดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากอยู่ระหว่าง 100 – 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และเมื่อสูงกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
ในกรณีคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีเกณฑ์แสดงภาวะนี้แตกต่างกัน ดังนี้ :-
- ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 59 ปี ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 80 – 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่นโรคหัวใจ โรคไต หรือ โรคตับ ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ควรอยู่ระหว่าง 100 – 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
6 เหตุผล ค่าน้ำตาลในเลือด ไม่ลด สักที
-
ทานอาหารที่มีไขมันสูง
ผู้อ่านหลายท่านอาจแปลกใจว่า ทานอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้คอเลสเตอรอลสูง แล้วมันไปทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ได้อย่างไร ? อธิบายง่าย ๆ คือ อาหารทอด หรือ อาหารมัน ที่หลายคนชื่นชอบ นอกจากทำให้ไขมันในเลือดสูงแล้ว ไขมันยังส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ช้าอีกด้วย เพราะเจ้าตัวไตรกลีเซอไรด์ จะเข้าไปชะลอกระบวนการดูดซึมกลูโคสเข้าในเซลล์ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมคนที่ไขมันในเลือดสูง จะจูงน้ำตาลในเลือดสูงตามมาด้วย ฉะนั้น ควรเลี่ยงอาหารประเภท เฟรนช์ฟราย พิซซ่า กล้วยแขก ปาท่องโก๋ ขนมเทียน ขนมเปี๊ยะ ฯลฯ
-
หลบไปใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
ปกติดื่มกาแฟ จะใส่น้ำตาลก้อน ช่วงหลังเลี่ยงมาใส่สารให้ความหวานชดเชย เพราะคิดว่าน่าจะปลอดภัยกว่า แต่ทราบหรือไม่ว่า การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาล สามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าเดิมได้ หากเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ชนิดให้พลังงาน เช่น สารให้ความหวานกลุ่มฟรุกโทส เช่น มอลทิทอล ซอร์บิทอล ไซลิทอล เพราะสารเหล่านี้จัดเป็นคาร์โบไฮเดรต แม้ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้น้อยกว่าน้ำตาล แต่ก็จะถูกดูดซึมไปอยู่ในรูปกลูโคสอยู่ดี ซึ่งอาจมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นนั่นเอง ฉะนั้น เพื่อความชัวร์ ควรดูให้มั่นใจก่อนว่าเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดใด
-
ดื่มแอลกอฮอล์
วันก่อน ผู้เขียนเพิ่งเขียนในหัวข้อ ดื่มเหล้า ทำลายตับ แต่ก็ดื่ม หาอ่านได้เลย เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ย้ำว่าทุกชนิดเต็มเปี่ยมไปด้วยคาร์โบไฮเดรท ที่จะแปรสภาพเป็นน้ำตาล (ชัวร์) ยิ่งถ้าดื่มมาก น้ำตาลในเลือดยิ่งสูง ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวาน หรือแม้กระทั่ง ผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวาน เผลอดื่มเยอะเป็นประจำ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานเช่นกัน ยกตัวอย่าง ไวน์แดง 1 แก้ว มีน้ำตาล 1.2 กรัม (โชคดีผู้เขียน ไม่ชอบดื่ม รอดตัวหวุดหวิด)
-
ยาสเตียรอยด์
กลุ่มยาสเตียรอยด์บางชนิด ส่งผลกระทบโดยตรงกับระดับน้ำตาลในเลือด หากรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ แล้วหล่ะก็ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในร่างกายอีกด้วย
-
เครื่องดื่มเกลือแร่
เครื่องดื่มเกลือแร่ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของนักออกกำลังกาย หรือช่วงที่เรารู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย แม้กระทั่งเจออากาศร้อน ถ้าได้เครื่องดื่มเกลือแร่ มาดับกระหาย จะดีทีเดียว แต่ทราบหรือไม่ว่า เครื่องดื่มเกลือแร่ ทำให้เรารู้สึกสดชื่นก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเงาตามตัว และหากดื่มบ่อย ๆ จะทำให้น้ำหนักตัวขึ้นแบบไม่รู้ตัว
-
ความเครียด นอนไม่หลับ
หยิบข้อนี้ไว้สุดท้าย เพราะสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด คือความเครียด และเมื่อเครียดแล้ว ก็จะนอนไม่หลับ หรือหลับไม่เพียงพอ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง หากพักผ่อนน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมง จะส่งผลให้ความไวต่ออินซูอินลดลง 14 – 21% จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ถือเป็น 6 เหตุผลพบบ่อยที่ไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดลงได้สักที ในกรณีผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน อยู่แล้ว อย่างน้อยเราจะได้เลี่ยงได้ ส่วนคนปกติทั่วไป ก็ถือว่าเป็นการเลี่ยงความเสี่ยง หกข้อที่กล่าวมาข้างต้น เพราะโรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราอยู่กันได้ เปลี่ยนเบาหวาน ให้เป็นแรงขับเคลื่อนในการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทานอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
…………
(เครดิต : How to Prevent Diabetes : MedlinePlus, www.medlineplus.gov, Simple Steps To Preventing Diabetes, www.hsph.harvard.edu, www.podpad.com, www.i-kinn.com)