“พี่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ค่ะ เพิ่งเริ่มรู้ตัวว่าเป็นมาได้ 4 เดือนเอง โดยมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ ร่างกายแทบไม่มีแรงค่ะ น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย แบบผิดสังเกต เลยไปหาหมอ ปรากฏน้ำตาลขึ้นสูง 300” ผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า สาเหตุโรคเบาหวานคืออะไร เจ้าตัวเบาหวานนี่มันมีกี่ชนิด และคนปกติ ระดับน้ำตาลในเลือด ควรจะเป็นเท่าไหร่ และทราบหรือไม่ว่า ถ้าเบาหวานขึ้นสูงมาก จะมีอาการ “เบาหวานขึ้นตา” อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นอันตรายที่เกิดจากโรคเบาหวาน แต่ก่อนที่เราจะลงลึกไปในรายละเอียด ผู้เขียนจะพามาดูสถิติคนเป็นเบาหวานในประเทศไทยกันก่อน โรคยอดฮิตติดอันดับในประเทศไทย อย่าง “โรคเบาหวาน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานนท์ – นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “สถานการณ์ประเทศไทย ตอนนี้ มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ราว 5 ล้านคน หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ได้ว่า 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อปี และพบผู้ป่วยเบาหวาน 3.5 ล้านคน โดยมีมูลค่าการรักษามากถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย โดยในจำนวนนี้ มีเพียง 1 ใน 3คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในประเทศไทย สูงมากถึง 200 รายต่อวัน !
แล้วโรคเบาหวาน มีกี่ชนิดหล่ะ ?
โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามนี้เลยค่ะ :-
-
เบาหวานประเภทที่ 1
พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานในคนไทย โดยประเภทนี้ เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะขาดอินซูลิน นั่นเอง มักพบมากใน เด็ก , วัยรุ่น
-
เบาหวานประเภทที่ 2
ประเภทนี้สิ พบบ่อยมาก ! ประมาณร้อยละ 95 เลยในคนไทย และพบมากในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุเกิดจากตับอ่อน ไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เบาหวานประเภทที่ 2 นี้ หากขาดการรักษาที่ถูกวิธี ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังได้ ซึ่งอันตรายเฉียบพลันได้เช่นกัน
-
เบาหวานประเภทที่ 3
ถือเป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (แน่นอน พบบ่อยในเพศหญิง)
-
เบาหวานประเภทที่ 4
เป็นเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นความผิดปกติของพันธุกรรม หรือ โรคจากตับอ่อน เป็นต้น
ฮอร์โมนอินซูลิน มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร
ด้วยเพราะโรคเบาหวาน เป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญอาหารซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน จึงส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนเจ้าตัวอินซูลิน ถือเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย เพราะโดยปกติแล้ว พวกเราต้องทานอาหารทุกวัน ภายหลังทานอาหารแล้ว ระบบร่างกายภายในจะเปลี่ยนแป้ง โปรตีน ให้เป็นน้ำตาล และหากไม่มีอินซูลิน ก็จะส่งผลให้ร่างกาย ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และยังทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน
ใครบ้าง เสี่ยงเบาหวาน ?
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเอเชีย
- ผู้ที่มีความดันเลือดสูง
- อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป (แต่ปัจจุบัน วัยรุ่น ผู้อายุน้อย ก็มีสิทธิเป็นเบาหวานได้เช่นกัน)
- ไม่ออกกำลังกาย
- ดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์
- ชื่นชอบการสูบบุหรี่
- ผู้ที่มีไขมันชนิด HDL น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ ไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง (High Cholesterol)
แล้วระดับน้ำตาลในเลือด ควรเป็นเท่าไหร่ ?
ในกรณีคนปกติ (ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน) แพทย์จะวินิจฉัยตรวจจากระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเป็นหลัก โดยพิจารณาร่วมกับข้อมูลด้านอื่นประกอบด้วย เช่น ประวัติทางการแพทย์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการรับประทานในชีวิตประจำวัน โดยปกติการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Blood Glucose) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและน้ำเป็นเวลาอย่างต่ำ 8 ชั่วโมง มักตรวจในตอนเช้า โดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากอยู่ระหว่าง 100 – 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจจะอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และเมื่อสูงกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
ในกรณีคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีเกณฑ์แสดงภาวะนี้แตกต่างกัน ดังนี้ :-
- ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 59 ปี ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 80 – 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่นโรคหัวใจ โรคไต หรือ โรคตับ ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ควรอยู่ระหว่าง 100 – 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
7 สาเหตุโรคเบาหวานเรื่องที่ต้อง “รู้งี้” ก่อนน้ำตาลในเลือดสูงปรี๊ดด
-
ความเครียด
หยิบมาเป็นข้อแรกเลย เพราะหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ความเครียด นั่นเอง ! เพราะเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาก และเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ จะกระตุ้นให้ร่างกายให้ปล่อยพลังงานออกมากในรูปแบบของน้ำตาล สังเกตยิ่งเครียด ยิ่งน้ำตาลในเลือดสูงปรี๊ดเลยค่ะ
-
นอนไม่หลับ
ถือเป็นปัญหาคลาสสิคที่เจอกันทุกบ้าน เพราะแน่นอนด้วยวัยที่มากขึ้น ด้วยภาระความรับผิดชอบที่สูงขึ้น และด้วยความเครียด จะทำให้นอนหลับได้อย่างไร ถูกมั๊ย ? มีงานวิจัยพบว่า หากนอนไม่หลับน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมง จะส่งผลให้ความไวต่ออินซูลินลดลง 14 – 21% จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถ้าเราพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล มากขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเมื่อสุขภาพทรุดโทรม สุขภาพจิต ก็จะไม่ดีตามไปด้วย
-
ชื่นชอบอาหารทอด อาหารมัน ๆ
อาหารประเภททอด หรือ อาหารที่มัน ๆ ส่งผลเสียให้กับร่างกาย เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายต้องเสี่ยงกับภาวะไขมันในเลือดสูงแล้ว ไขมันยังส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ได้ช้าอีกด้วย เพราะไขมันไตรกลีเซอไรด์ จะเข้าไปชะลอกระบวนการดูดซึมกลูโคสเข้าในเซลล์ อาหารจำพวก หมูทอด ไก่ทอด ปลาทอดมัน เฟรนฟราย พิซซ่า ที่มีคาร์โบไฮเดรทสูง ทำให้เกิดปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงแน่นอน
-
ดื่มแอลกอออล์ เหล้า เบียร์ ไวน์
นักดื่ม ทั้งหลายทราบดีว่า การดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากทำลายตับแล้ว ยังเป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูงด้วย เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (ย้ำว่า ทุกชนิดนะคะ) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ยิ่งถ้าดื่มมาก น้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูง ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานโดยตรง และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์แดง 1 แก้ว มีน้ำตาล 1.2 กรัม ส่วนเบียร์ก็มีปริมาณน้ำตาลสูง ภายหลังดื่มแล้ว ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมากทีเดียว
-
เครื่องดื่มเกลือแร่
เครื่องดื่มเกลือแร่ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเวลารู้สึกเหนื่อย หรือช่วงภาวะอากาศร้อน สังเกตดูได้เลย ภายหลังเราดื่ม จะรู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ มีน้ำตาลสูงมาก โดยเครื่องดื่มเกลือแร่ 1 ขวดปริมาณ 250 มิลลิลิตร จะมีน้ำตาลอยู่ถึง 1.7 ช้อนชา หรือประมาณ 7 กรัม ซึ่งดื่มแล้วสดชื่นก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระดับน้ำตาลที่สูงเท่าตัว
-
ยาสเตียรอยด์
ข้อนี้ ยกตัวอย่างใกล้ตัวผู้เขียนเลย คือคุณแม่ผู้เขียนเอง ซึ่งท่านป่วยเป็นรูมาตอยด์ (ภูมิคุ้มกันตัวเองบกพร่อง) ท่านต้องฉีดยาสเตียรอยด์ ทุก 2 เดือน สังเกตคุณแม่ได้อย่างชัดเจนเลยว่า ภายหลังฉีดสเตียรอยด์ ท่านจะรู้สึกสดชื่น อยากทานอาหาร ครั้นพอเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อวัดน้ำตาล ปรากฏน้ำตาลเกิน 150 ทีเดียว อันนี้คือประสบการณ์จากคนใกล้ตัวของจริง ที่ยาสเตียรอยด์ มีผลทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ยังอาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อีกด้วย
-
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
ข้อนี้ หลายคนเลี่ยงทานน้ำตาล แต่ทานสารให้ความหวานชงในกาแฟ หรือปรุงอาหาร ทดแทนกันเยอะเลย การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ส่งผลให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นกว่าเดิมได้ หากเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดให้พลังงาน ได้แก่ สารให้ความหวานกลุ่มฟรุกโทส เพราะสารเหล่านี้ จัดเป็นคาร์โบไฮเดรท แม้ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้น้อยกว่าน้ำตาล แต่ก็ถูกดูดซึมไปอยู่ในรูปของกลูโคสอยู่ดี ซึ่งอาจมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้เช่นกัน
จากเหตุผลข้างต้น จะเห็นว่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้สุขภาพทั้งคนป่วยเบาหวาน หรือคนทั่วไป ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้ ดังนั้น หากต้องการลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง จะดีที่สุด พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
…………
(เครดิต : Risk factors for prediabetes, www.healthline.com, Cause of Diabetes – What cause Diabetes ?, www.diabetes.co.uk, www.pobpad.com, www.phukethospital.com, www.i-kinn.com)