ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มซึ่งทำให้เกิดความสนุกสนาน ครึกครื้น แต่ก็ทำให้สติสัมปชัญญะลดน้อยลง และการดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีผลเสียต่อร่างกาย เพราะถ้าดื่มมากเกินไป ก็อาจนำผลเสียมาสู่ “ตับ” ได้เช่นกัน ตามสถิติในประเทศไทยด้วยโรคมะเร็งตับ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2563 ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยข้อมูลว่า มะเร็งตับ พบในเพศชายมากเป็นอันดับหนึ่ง ของมะเร็งทั้งหมดในคนไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 คน ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ ซึ่งพฤติกรรมของการดื่มเหล้า – ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ให้เกิดมะเร็งตับได้ พูดได้เลยว่า “ตับ” เป็นจิ๊กซอตัวสำคัญเป็นที่ช่วยวัดระดับการมีสุขภาพที่ดีของร่างกายเสียด้วยซ้ำ อวัยวะอย่าง “ตับ” เปรียบเสมือนเป็นลีดเดอร์ (หัวหน้า) ที่คอยบัญชาการ และให้ความช่วยเหลืออวัยวะอื่น ๆ เพราะตับ เป็นอวัยวะที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อีกทั้ง หน้าที่ของตับ ก็ไม่มีอวัยวะชิ้นอื่น มาทำหน้าที่แทนกันด้วยสิ ! พูดได้ว่า นักดื่มหลายท่าน ควรมีช่วง “พักตับ” นั่นคือคำตอบว่า เราควรหันมาดูแล “ตับ” ของเรากันบ้างนะคะ
ดื่มเหล้า ทำลายตับ ได้อย่างไร?
“ตับ” ทำหน้าที่อะไรบ้าง ?
บางท่านถึงกับเอ่ยว่า “อ๋อ ตับหรอ รู้จัก อร่อยด้วยนะ ตับหมูใส่ในก๋วยเตี๋ยว ทานประจำ” แล้วเจ้าตัวตับ ทำหน้าที่อะไรบ้าง วันนี้ ผู้เขียนจะพามาดูหน้าที่ตับกันค่ะ
-
เปลี่ยนโครงสร้างของสารอาหารต่าง ๆ ให้เป็นสารที่ร่างกายต้องการ
หนึ่งในหน้าที่ของตับที่สำคัญ ก็คือ ช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างสารอาหารบางชนิด ให้อยู่ในรูปที่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายนำไปใช้ได้เลย เช่น ตับ ทำการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคส ให้กลายเป็นสารอาหารที่ชื่อว่า ไกลไคเจน จากนั้นจะนำไกลโคเจนมาสะสมเก็บไว้ที่ตับ และเมื่อใดที่ระดับน้ำตาลในร่างกายต่ำลง หรือเมื่อร่างกายต้องการพลังงาน ตับก็จะเปลี่ยนเจ้าตัว ไกลโคเจน ให้กลับไปอยู่ในรูปของกลูโคส เพื่อพร้อมนำไปใช้หล่อเลี้ยงร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้อีกครั้ง โห้…น่าทึ่ง !
-
ช่วยเป็นแหล่งสะสมเสบียงสารอาหารไว้ใช้ยามจำเป็น
ข้อนี้ก็ว้าวว มากเช่นกัน เพราะหนึ่งในหน้าที่ของตับอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การสะสมสารอาหาร ไว้ให้ร่างกายดึงออกมาใช้ในยามจำเป็น หรือ ในยามที่ต้องการพลังงาน อย่างที่กล่าวไว้ในข้อแรก ว่าตับจะสะสมทั้งไกลโคเจน ที่แปลงมาจากน้ำตาลกลูโคส รวมจนถึงธาตุเหล็กที่เกิดจากการสลายตัวของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อนำกลับมาใช้สร้างฮีโมโกลบินอีกครั้ง นอกจากนี้ ตับ ยังเป็นแหล่งสะสม Vitamin B12, Vitamin A, Vitamin D และทองแดง เป็นต้น
-
ช่วยสร้างน้ำดี
ตับช่วยสร้างน้ำดี ซึ่งจะทำการลำเลียงน้ำดีเหล่านั้นไปตามท่อน้ำดี โดยมีจุดหมายปลายทาง คือ ลำไส้เล็ก และจะทำหน้าที่ในการช่วยย่อยสลายสารอาหารประเภทไขมันที่ลำไส้เล็ก และในเวลาเดียวกัน ตับก็ใช้ท่อน้ำดีเป็นช่องทางจำกัดของเสีย และสิ่งมีพิษที่ตับเก็บไว้ ให้ออกไปพร้อมน้ำดี ตามทางเดินอาหารพร้อมกับกากอาหารนั่นเอง
-
ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา
โดยตับ ทำหน้าที่กำจัดสารพิษและของเสียต่าง ๆ ในร่างกาย อธิบายง่าย ๆ คือ จะกำจัดสารพิษที่ลำไส้ดูดซึมเข้าไปนกระแสเลือด และเมื่อสารพิษเหล่านั้น เดินทางมายังตับ ตับ ก็จะทำลายทิ้งทันที หรือถ้าหากทำลายไม่ได้ ตับก็จะส่งสารพิษนั้น ออกไปทางระบบขับถ่ายของเรา
ดื่มเหล้า ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงปรี๊ดด
ผู้อ่าน ส่วนใหญ่มักจะเทความสนใจไปที่ไขมันเลว LDL แต่เจ้าตัวไตรกลีเซอไรด์ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน ไตรกลีเซอไรด์ คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นในตับ มีขนาดเบา บาง และเล็กมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคน บ่นว่า นั่งอยู่เฉย ๆ ร่างกายก็ผลิตไตรกลีเซอไรด์ได้ เพราะเจ้าตัวไตรกลีเซอไรด์สามารถเพิ่มพูนได้จากอาหารที่เรากินเข้าไป อาหารประเภทไขมัน อาหารประเภทอาหารทอด ผัด ที่ใช้น้ำมันประกอบอาหารเยอะ และไม่เพียงแค่ ในอาหารการกินประเภทไขมัน การดื่มเหล้า หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง เพราะเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะไปกระตุ้นตับให้ผลิตไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น 4 เท่า และยังทำให้การเคลื่อนย้ายไขมันออกจากเลือดได้ช้ากว่าปกติด้วย ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง พบบ่อยมากใน “นักดื่ม” ก็มีโอกาสเสี่ยงไตรกลีเซอไรด์สูง อีกทั้งแอลกอฮอล์ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับ ที่อาจนำไปสู่โรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ ( ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง อันตรายไหม อ่านรายละเอียดได้)
ขณะดื่มเหล้า แนะควรคิดถึง “ตับ” บ้าง เรามาดูกันว่าโรคตับ ที่เกิดจากการดื่มเหล้า มีอะไรบ้าง :-
-
โรคมะเร็งตับ
ข้อมูลจากงานวิจัยยังระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 8 ของโลกที่พบมะเร็งตับสูงที่สุด โดยมีอัตราของการพบผู้ป่วยมะเร็งตับอยู่ที่ 21 รายต่อประชากร 100,000 คน สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งตับประกอบไปด้วย การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง และการดื่มเหล้า – ดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสม สมัยก่อนผู้อ่านอาจเคยได้ยินว่า หากกินเหล้ามาก ๆ จะเป็นตับแข็ง แล้วอาจเชื่อไปอีกว่า เมื่อเป็นตับแข็งแล้วก็จะเป็นมะเร็งตับ หรือบางท่านเข้าใจว่าเป็นโรคเดียวกันเสียด้วยซ้ำ คนที่มีภาวะไขมันพอกตับมาก ๆ (Fatty Liver) เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน โรคมะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับ ซึ่งเกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกร้าย สาเหตุที่พบบ่อยของโรคมะเร็งตับ คือ การดื่มเหล้าแอลกอฮอล์เป็นประจำและเป็นเวลานาน
-
โรคไขมันพอกตับ
หยิบไว้เป็นลำดับที่สอง เพราะโดยทั่วไป โรคไขมันพอกตับ ไม่แสดงอาการทางร่างกาย หรือ หากมีอาการ ก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่นอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา และโดยส่วนใหญ่ การตรวจพบโรคไขมันพอกตับ จึงมักพบช่วงที่เราไปตรวจร่างกายประจำปี โรคไขมันพอกตับ มักมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับเพศ ปริมาณ และระยะเวลาสะสมที่ดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic Fatty Liver Disease)
-
โรคตับอักเสบ
เกิดจากภาวะอักเสบที่เกิดบริเวณตับ แต่สาเหตุที่พบบ่อยมักเกิดจากการการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมถึงภูมิคุ้มกันทำลายตับเอง ทำให้ตับเกิดควาเสียหายจนเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา หากตับอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้
-
โรคตับแข็ง
ถือเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ โดยปกติเนื้อตับจะนุ่ม แต่ถ้ามีอาการอักเสบ หรืออันตรายต่อตับ เนื้อตับจะถูกทำลายกลายเป็นพังแผดลักษณะคล้ายแผล ซึ่งจะทำให้ไปเบียดเนื้อตับที่ดี จะทำให้เลือดไปเลี้ยงตับน้อยลง และถ้ามีการทำลายเซลล์ตับเรื้อรังจนมีพังผืดเกิดขึ้นมาก เนื้อตับที่เคยนุ่มจะค่อย ๆ แข็งขึ้น จนกลายเป็นตับแข็ง ในที่สุด สาเหตุที่พบบ่อยของโรคตับแข็ง มักจะเกิดจากการดื่มเหล้าจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้การดื่มเหล้า ทำลายตับอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเมื่อแอลกอฮอล์ในเหล้า เมื่อดื่มไปนาน ๆ จะทำให้เกิดผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ จึงเกิดภาวะตับอักเสบ และ เรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง ในที่สุด
วิธีการดูแลตับ
- เน้นรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่นเนื้อปลา น้ำมันถั่วเหลือง ช่วยทำให้อินซูลินทำงานดีขึ้น และลดการอักเสบของตับ และเน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ควรรับประทานในสัดส่วนที่พอดี เน้น ข้าวกลอง ธัญพืชที่ไม่ขัดสี หรือขัดสีน้อย รับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ (400 กรัมต่อวัน)
- พักดื่มบ้าง การดื่มสุรา เหล้า เบียร์ แอลกอฮอล์ต่าง ๆ นั่นส่งผลโดยตรงต่อตับ เพราะหน้าที่ของตับคือ กรองสารพิษแอลกอฮอล์ออกจากเลือด ตับจึงรับบทบาทหนักขึ้นเพิ่มขึ้น ทำงานหนักขึ้น เพราะแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของไขมันพอกตับ อีกด้วย ฉะนั้น เมื่อการดื่มเหล้า ทำลายตับ วิธีแก้ง่าย ๆ คือ พักตับ หยุดดื่ม (ทำได้มั๊ย)
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นคำว่า “สม่ำเสมอ” โดยอย่างน้อย 30-40 นาที ต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงของการดื้ออินซูลิน และยังช่วยลดระดับไขมันเลว และเพิ่มไขมันดี อีกด้วย
- พักผ่อน หลับให้สนิท การพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเวลากลางคืนเป็นช่วงที่ทุกส่วนร่างกายต้องพักผ่อนและฟื้นฟูตัวเองจากที่ทำงานหนักมาทั้งวัน และตับ ก็ต้องการพักผ่อนเช่นกัน หากเราอดนอน บ่อยๆ นั้นเท่ากับว่า ตับก็ต้องทำงานหนักตลอดเวลา ขาดเวลาฟื้นฟูตัวตับเอง
สำหรับนักดื่มตัวยง คงจะเข้าใจแล้วว่า ดื่มเหล้า ทำลายตับได้อย่างไร จากนี้ก็ต้องลดการดื่มลงนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดี (กว่า) และปลอดภัยให้ร่างกายแบบยั่งยืน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย เน้นการทานอาหารที่มีไขมันน้อย ออกกำลังกายบ้าง ก็จะทำให้ตับเราแข็งแรงได้แน่นอน พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
………..
(เครดิต : Naturebiomed.com,The Stage Of Liver Disease – American Liver Foudation, www.liverfoundation.org, www.webmd.com, Liver Disease, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, กองทุนวิจัยมะเร็งโลก, หมอชาวบ้าน, www.sainlouis.or.th, www.i-kinn.com)