ระยะทางจากสนามบินไปถึงอมก๋อยนั้นขับรถประมาณ 4 ชม.กว่าๆ แต่ระยะทางไม่ใช่ปัญหาเท่าเส้นทางที่ขึ้นเขาแล้วต้องผ่านไม่รู้กี่โค้ง ซึ่งตอนที่ผมไปเมื่อหลายปีก่อนทางที่ใช้ขับขึ้นไปคงเรียกว่าถนนไม่ได้เพราะไม่มีการปูเส้นทาง บางโค้งล้อปัดกับหินกรวดสะบัดให้คนนั่งลุ้นว่าจะตกเขาไหมเอาบ่อยๆ เพราะรวมๆ แล้วก็น่าจะเป็นร้อยโค้งได้อยู่ นักเรียนบนเขาอย่างอำเภออมก๋อยนั้นความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัดขาดแคลน แต่ถามว่าหน้าตาอมทุกข์ไหมต้องบอกว่าไม่เลย อาจจะเป็นเพราะด้วยวิถีชีวิตที่โรงเรียนและชุมชนนั้นอยู่ร่วมกัน ทุกวันจึงใช้ชีวิตด้วยการอยู่กับครอบครัว ไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อน กลับบ้านนอน วนไปแบบนี้ ชุมชนต่างๆ นั้นก็จะใช้ชีวิตอยู่รอบๆ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาชีพทำสวน หาของป่า และเกือบทุกคนก็จะรู้ดีว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ต้องห้ามของทางการ ส่วนคุณครูนั้นถ้าโชคดีหน่อยก็ได้มาอยู่กับโรงเรียนในชุมชนที่ไม่ลำบากจนเกินไปนัก คือมีอาคารเรียน มีสาธารณูปโภคพื้นฐานคือน้ำไฟครบ
แต่ยังมีครูอีกหลายคนที่เสียสละอย่างยิ่ง ไปอยู่กับชุมชนที่ขาดแคลนแม้กระทั่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน น้ำไฟไม่มี อาคารเรียนมีก็เหมือนไม่มี นักเรียนก็อยู่ห่างไกล ในหลายพื้นที่ครูต้องใช้วิธีขับรถเครื่องวิ่งเวียนสอนตามหย่อมชุมชนที่ให้เด็กๆรวมตัวกันรอครูไปนั่งสอน ถ้าเอาความลำบาก ครู, นักเรียน และโรงเรียนที่ว่านี้คือลำบากจริงๆ และการจะเรียนให้สูงถึงขั้นมัธยมก็ยังยากมากๆ คุณครูกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ยอมเสียสละที่จะเผชิญความลำบากเพื่อประโยชน์ของเด็กๆ อย่างแท้จริง การเข้าถึงของความช่วยเหลือนั้นมีไม่กี่ทาง การรองบประมาณจากทางการก็ได้ส่วนหนึ่ง แต่หลายโรงเรียนนั้นพัฒนาได้ด้วยการที่ผู้อำนายการโรงเรียนต้องสื่อสารสิ่งที่โรงเรียนขาดแคลนออกมาผ่านโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อให้โลกภายนอกส่งน้ำใจและความช่วยเหลือเข้าไปได้ หรือที่ทางการเรียกว่าการขอรับบริจาค ผมเองที่ได้ไปช่วยเหลือโรงเรียนตามในภาพนี้ก็เพราะได้เห็นโพสบนอินเตอร์เน็ทของผู้อำนายการที่อายุยังไม่มากแต่ถูกส่งตัวมาประจำพื้นที่ ว่าโรงเรียนที่ท่านอยู่ประจำการนั้นขาดแคลนสนามเด็กเล่นดีๆ ให้เด็กๆ ที่ต้องเล่นกลางดินกลางทรายไปวันๆ
หลังจากตัดสินใจว่าจะช่วยสร้างสนามเด็กเล่นตามที่ผอ.ว่า ผมก็เปิดเรี่ยไรจากเพื่อนๆ ที่สนใจเพิ่มอีกนิดหน่อย จากนั้นก็ปรึกษาผอ.ว่าให้ช่วยหาคนที่จะสามารถเอาอุปกรณ์ขึ้นไปส่งได้บนอมก๋อย ส่วนผมก็แค่ขับรถตามขึ้นไปช่วยในการติดตั้ง ประเทศไทยเรายังมีโรงเรียนและเด็กนักเรียนอีกจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ๆ ขาดแคลนอย่างมากทั้งปัจจัยพื้นฐานและความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนเพื่ออ่านออกเขียนได้ และการศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลนั้น กุญแจที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสียงออกมาจากบุคคลากรที่ประจำอยู่ในพื้นที่ เพราะหากไม่มีเสียงส่งออกมา คงเป็นเรื่องยากมากที่โลกภายนอกจะสามารถรู้และส่งความช่วยเหลือเข้าไปถึงเองโดยอัตโนมัติ สภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลของประเทศเรานั้นเป็นมาแบบนี้หลายสิบปี ไม่ว่าจะคนซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น เหรียญคริปโตราคาทะลุล้าน รถอีวีกำลังเข้ามาแทน หรือเมืองไทยวางแผนจะไปดวงจันทร์
แต่โรงเรียนและนักเรียนที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานนั้นไม่เคยหายไปได้เลยจากระบบการศึกษาของเรา ถ้ารัฐไม่สามารถกระจายทรัพยากรได้เองอย่างมีประสิธิภาพมากพอ จะเป็นไปได้ไหมที่จะทำตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) แทนในการรวมฐานข้อมูลของโรงเรียนและจำนวนนักเรียน จัดทำเป็นข้อมูลแบบเปิด แล้วให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำข้อมูลขนาดใหญ่นั้นมากระจายความช่วยเหลืออีกทางผ่านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อให้จัดการกระจายความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นว่ามีคนในประเทศที่เรียนสูงสุดได้แค่ป.6 หรือไม่รู้จักองค์ความรู้สมัยใหม่ที่จะช่วยพัฒนาวิถีชีวิตให้ดีขึ้น เพราะการพัฒนาประเทศมีพื้นฐานสำคัญคือการศึกษา มันคงจะดีมากหากอีกยี่สิบปีผ่านไปแล้วน้องผู้หญิงที่มีชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงในรูปที่ผมอุ้มอยู่นี้ถ้าเธอและเพื่อนๆ จะสามารถเรียนจบชั้นมหาวิทยาลัยและเลือกที่จะทำงานหรือดูแลชุมชนของพวกเธอได้เองโดยไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้านเกิด คนละไม้คนละมือรวมๆ กันมากๆ ก็เป็นหลายแสนหลายล้านมือ และนั่นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของน้องๆ เหล่านี้ได้จริงๆ ช่วยกันเถอะครับ เพื่อวันข้างหน้าที่หวังว่ามันจะดีขึ้น
……….