“ข้าวแช่” อาหารตำรับชาววังประจำหน้าร้อนของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จุดเด่นของเมนูนี้คือ เมื่อทานเข้าไปแล้วช่วยคลายความร้อน ทานแล้วรู้สึกหอมชื่นใจ ซึ่งในเมนูข้าวแช่นั้นนอกจากจะช่วยให้ดับความร้อนรุ่มจากอากาศให้เย็นสบายขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์มากมายที่คาดไม่ถึงอีกด้วยค่ะ
ประวัติของ “ข้าวแช่”
ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักเมนู “ข้าวแช่” ในฐานะเมนูชาววังของไทยแต่ความจริงแล้วข้าวแช่นั้นไม่ได้มีต้นกำเนิดจากชาวไทยแท้ๆ ค่ะ เพราะตามหลักฐานจากหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 2 ของมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวไว้ว่า ข้าวแช่นั้นมีต้นกำเนิดมาจากชาวมอญ ณ ชุมชนวัดม่วง จังหวัดราชบุรี ชาวมอญโบราณมักจะปรุงข้าวแช่ไปถวายพระในช่วงวันสงกรานต์เพื่อบูชาเทพเทวดา ตำรับเก่านั้นการปรุงข้าวแช่จะต้องปรุงกลางแจ้งโดยบริเวณนั้นจะต้องมีการปักราชวัติฉัตรธง เมื่อหุงข้าวให้มีลักษณะเป็นตาปลา (หรือข้าวยังไม่บานดี) ก็จะเทน้ำออก เกลี่ยข้าวลงบนผ้าขาวบางแล้วใช้น้ำเย็นราดข้าวให้เย็น ล้างซ้ำๆ ทั้งหมด 7 ครั้ง จากนั้นจะย้ายข้าวใส่ในหม้อดินเพื่ออบหม้อดินให้มีกลิ่นหอม 3 วัน 3 คืน ก่อนจะนำไปถวายพระหรือนำมารับประทาน โดยเครื่องเคียงของตำรับชาวมอญนี้จะมีเพียง 7 ชนิด คือ ลูกกะปิทอด ปลาป่นหวาน กระเทียมดองผัดไข่ ผักกาดหวานผัด ยำขนุนอ่อน ยำปูเค็มและมะม่วงเปรี้ยวดิบหั่นเป็นเส้น
ซึ่งวิธีการทำแบบตำรับดั้งเดิมนั้นจะค่อนข้างแตกต่างจากข้าวแช่ตำรับชาววังหรือข้าวแช่เสวย ซึ่งในตำรับวังบ้านหม้อจะนิยมปรุงข้าวแช่ทำบุญเลื้ยงพระเพื่ออุทิศกุศลถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร หรือ องค์ต้นราชสกุล “กุญชร” ในวันที่ 16 เมษายนของทุกปี ตำรับไทยมักจะใช้ข้าวหอมมะลิชนิดข้าวเก่ามากกว่าข้าวใหม่ น้ำแช่ข้าวสำหรับทานนั้นก็จะต้องถูกตระเตรียมมาอย่างดี (บางตำราจะมีการพักน้ำเตรียมล่วงหน้าถึงครึ่งปีในโอ่งมังกรเนื่องจากจะให้ความหวานเย็นชื่นใจกว่าน้ำที่แช่ในอ่างแบบอื่น) ตักน้ำใส่ดอกมะลิและใบเตยสดที่ต้องเด็ดเฉพาะดอกที่ยังตูมอยู่ การเด็ดต้องระมัดระวังไม่ให้ช้ำ (เพราะถ้าดอกช้ำเมื่อนำไปลอยจะทำให้น้ำเหม็นเขียว) ลอยปิดฝาไว้ 1 คืน จากนั้นนำไปอบควันเทียนอย่างดีจนหอมกรุ่น
เครื่องเคียงของข้าวแช่เสวยของไทยจะมีเยอะกว่า คือ ลูกกะปิทอด พริกหยวกสอดไส้ ปลายี่สนผัดหวาน เนื้อเค็มฝอยผัดหวาน หัวหอมสอดไส้ ผักกาดเค็มผัดหวาน ปลาแห้งผัดหวาน หมูสับกับปลากุเลา ผักสดเช่น ฟัก แฟง แตง บวบ ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาด ใบบัวบก ขี้เหล็ก สะเดา มะระ ซึ่งหากยกตั้งเป็นเครื่องเสวยผักทั้งหมดจะถูกแกะสลัก ผักที่เป็นเถายาวก็จะมัดจัดเป็นคำๆ ไว้อย่างสวยงาม
วิธีทานข้าวแช่ที่ถูกต้อง
ก่อนจะทานข้าวแช่ควรตจะต้องศึกษาวิธีทานข้าวแช่ที่ถูกต้องก่อน เพื่อจะได้เพิ่มอรรถรสเวลาทาน และสามารถทานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง คือ
- การทานเครื่องเคียงข้าวแช่ สามารถทานเครื่องเคียงได้หลายๆ อย่างเพื่อเพิ่มรสชาติได้ แต่ไม่ควรทานเครื่องคาวและหวานสลับกัน ควรเริ่มทานจากของคาวก่อน แล้วค่อยไล่ไปของหวาน
- ห้ามตักอาหารใส่ลงไปในชามข้าวเพราะจะทำให้น้ำมันจากอาหารลอยในชาวทำให้ดูไม่น่ากินและเสียรสชาติ ควรตักหรือหยิบเครื่องเคียงเข้าปากแล้วค่อยตักข้าวตามเข้าไป
- เพิ่มความสดชื่นด้วยการตักน้ำลอยตามเข้าไป ทานแกล้มกับผักสด ช่วยให้เจริญอาหาร
ประโยชน์จากข้าวแช่
ข้าวแช่มีองค์ประกอบมากมายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ลูกกะปิทอด พริกหยวกสอดไส้ ปลายี่สนผัดหวาน เนื้อเค็มฝอยผัดหวาน หัวหอมสอดไส้ ผักกาดเค็มผัดหวาน ปลาแห้งผัดหวาน หมูสับกับปลากุเลา และผักสมุนไพรนานาชนิด เช่น ฟัก แฟง กระชาย ขมิ้น หอมแดง พริกชี้ฟ้า แตง บวบ ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาด ใบบัวบก ขี้เหล็ก สะเดา มะระ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้มีคุณสมบัติบำรุงและฟื้นฟูร่างกาย อุดมไปด้วยโปรตีนที่มีประโยชน์ ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ที่สึกหรอ ช่วยบำรุงเลือดให้ไหลเวียนสะดวก ช่วยขับลม ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคต้อกระจก บำรุงผิวพรรณ บำรุงสมอง รักษาโรคหวัด ช่วยบำบัดอารมณ์เครียด ช่วยให้สดชื่นคลายร้อนจากหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี .. รู้อย่างนี้แล้ว วันไหนอากาศร้อนอบอ้าวจนทนไม่ไหว ลองทานข้าวแช่กันดูนะคะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กินปลาอะไรดีที่สุด ควรเลือกปลาทะเลหรือปลาน้ำจืดดีกว่ากัน