สำหรับหลายคนที่ชื่นชอบน้ำซุปเป็นชีวิตจิตใจ การได้ซดน้ำซุปอร่อย ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งความสุขที่ใครหลายคนโปรดปราน แต่ที่จริงแล้วน้ำซุปนั้นกลับทำร้ายสุขภาพไตของเราในระยะยาวหากกินในปริมาณที่มากเกินไป วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับน้ำซุปให้มากกว่าที่เคย
น้ำซุปทำมาจากอะไร
น้ำซุป เป็นน้ำที่ได้จากการต้มเคี่ยวระหว่างเนื้อสัตว์กับผักแตกต่างชนิดตามสูตรของผู้ผลิต มีส่วนผสมหลัก ได้แก่ หอมใหญ่ แคร์รอต เครื่องเทศ และสมุนไพรกลิ่นหอม โดยทั่วไปแล้วน้ำที่นำมาเคี่ยวนั้นจะมีชนิดที่แตกต่างกันไปตามกรรมวิธีในการผลิต ระยะเวลาและส่วนผสมที่ใช้ในการต้ม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ น้ำซุปและน้ำสต๊อก
น้ำซุปคืออะไร
เป็นน้ำที่ผ่านการนำมาต้มกับเนื้อสัตว์ โดยใช้ระยะเวลาต้มไม่นาน และที่สำคัญมีการปรุงรสเพื่อเพิ่มรสชาติให้เข้มข้น น่าทานยิ่งขึ้น น้ำซุปมีประเภทแยกย่อยออกไปอีก ดังนี้
- ซุปใส (Thin Soups) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- คอนซอมเม่ (consomme) เป็นน้ำซุปที่ใช้เนื้อไก่หรือปลาผสมรวมกับผักชนิดต่าง ๆ ทั้งนี้อาจต้มรวมกับน้ำสต๊อกด้วยก็ได้ การทำคอนซอมเม่จะต้องใช้เครื่องปรุงที่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่าง น้ำซุปใสเนื้อวัวจะต้องใช้น้ำสต๊อกสีน้ำตาลจากวัวกับเนื้อวัว หากเป็นน้ำซุปใสไก่จะต้องใช้น้ำสต๊อกไก่กับเนื้อไก่ ฯลฯ น้ำซุปใสคอนซอมเม่จะมีจุดเด่นอยู่ที่ความใสของน้ำซุปซึ่งเกิดจากไข่ขาวและเปลือกไข่ จนเกิดการตกตะกอนกับโปรตีนของเนื้อที่ไม่ละลายในน้ำและจับตัวเป็นฟองลอยอยู่บนผิวหน้า จากแล้วจึงใช้ผ้ามัสลินกรองอีกที
- บร็อธ (Broth) หรือน้ำต้มเนื้อส่วนมากจะใช้เนื้อสัตว์มาสับให้ละเอียด จากนั้นจึงนำไปต้มกับผักต่าง ๆ แล้วกรองเอาแต่น้ำ เนื่องจากน้ำซุปชนิดนี้มีลักษณะไม่ใส หลายคนจึงใส่เครื่องปรุงอื่นผสมลงไปด้วย เช่น ผักชีฝรั่ง ไก่สับ เนื้อสับ
- ซุปข้น (Thick Soups) เป็นน้ำซุปที่มีสีเข้มข้น ซึ่งอาจเกิดจากตัวเครื่องปรุง เช่น มันฝรั่ง ธัญพืช หรืออาจมาจากการใส่ไข่แดง หรือใช้ตัวทำให้ข้น
น้ำสต๊อกคืออะไร
เป็นน้ำต้มกระดูกที่เคี่ยวเป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยไม่ผ่านการปรุงรสใด ๆ น้ำสต๊อกมีประเภทแยกย่อยออกไปอีก ดังนี้
- น้ำสต๊อกไก่ ใช้ซี่โครงไก่ หรือเครื่องในของไก่ มาต้มและเคี่ยวประมาณ 2-3 ชั่วโมง จนกว่าจะได้น้ำใส ทั้งนี้อาจใช้เพียงส่วนขาหรือปีกไก่ก็ได้เช่นกัน
- น้ำสต๊อกปลา หรือน้ำกระดูกปลา อาจใช้ส่วนครีบ กระดูกกลางหลัง หรือหัวปลา นำมาต้มกับผักชีฝรั่ง หอมใหญ่ และพริกไทยเม็ด โดยปลาที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นปลาตาเดียวหรือปลาลิ้นหมาทั้งตัว น้ำสต๊อกชนิดนี้นิยมใช้ทำซอสราดเนื้อปลา
- น้ำสต๊อกสีน้ำตาล เป็นน้ำต้มกระดูกที่มีสีน้ำตาล ได้จากการอบกระดูกก่อนนำมาเคี่ยวและใส่ผัก เช่น หอมใหญ่ แคร์รอต มีเครื่องเทศคือ พริกไทยเม็ดต้น กระเทียมและเกลือ
- น้ำสต๊อกสีขาว ได้จากการเอากระดูกดิบ ๆ มาต้ม เช่น อาจเป็นกระดูกหน้าแข้งหมู วัว กระดูกสันหลังหรือกระดูกซี่โครงก็ได้ เคี่ยวรวมกับเครื่องเทศและผักเหมือนกับสต๊อกสีน้ำตาล กระดูกที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นกระดูกจากสัตว์ใหญ่
ปริมาณโซเดียมในน้ำซุป
เคล็ดลับความอร่อยของน้ำซุปส่วนใหญ่นั้นจะมาจากเครื่องปรุงรส ผงชูรส ซอสปรุงรส หรือแม้แต่ซุปก้อนก็ตาม ซึ่งส่วนผสมดังกล่าวมีปริมาณโซเดียมในปริมาณมาก ในซุป 1 ถ้วย อาจมีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,000 มิลลิกรัม ทั้งนี้ร่างกายของคนเราควรได้รับโซเดียมได้ไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 1 ช้อนชา (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ) หากทานน้ำซุปมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อไตในระยะยาวได้เช่นกัน
ข้อเสียจากการซดน้ำซุปมากเกินไป
หากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้เกิดโรคไตเสื่อม เมื่อไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะเกิดการคั่งของเกลือและน้ำภายในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้มีน้ำคั่งในปอดและเกิดการบวมน้ำตามมา ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงอันเป็นต้นตอของโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด สังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง หากพบอาการดังต่อไปนี้แสดงว่าร่างกายของคุณเริ่มเข้าสู่ภาวะไตเสื่อมถามหาแน่นอน
- ผิวหนังซีดหรือคล้ำขึ้น อาจมีอาการคันร่วมด้วย
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขี้หลงขี้ลืม ความจำไม่ดีดังเดิม ปวดศีรษะง่าย
- คัดจมูก จามง่าย เป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ
- กล้ามเนื้อกระตุก รู้สึกปวดไปทั่วร่างกาย
- ปลายมือปลายเท้าชา เนื่องจากปลายประสาทอักเสบ
- รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- มีเลือดออกบริเวณทางเดินอาหาร
- ปัสสาวะมีสีแดงหรือมีสีเข้มขึ้น ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยขึ้น ส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับและหลับได้ไม่สนิท
น้ำซุปผัก : ทางเลือกของน้ำซุปเพื่อสุขภาพ
สำหรับใครที่ชอบซดน้ำซุป แต่ไม่อยากได้โซเดียมเป็นของแถม วันนี้เราขอแนะนำน้ำซุปผักเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนรักซุป นอกจากจะควบคุมปริมาณโซเดียมได้แล้ว ยังได้คุณประโยชน์จากผักนานาชนิดอีกด้วย โดยผักที่นิยมนำมาทำเป็นน้ำซุปผัก ได้แก่
- กะหล่ำปลี อุดมไปด้วยใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัด จุกเสียดแน่นท้อง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หัวผักกาดขาว มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย เจ็บคอ เสียงแห้ง ไม่มีเสียง ช่วยลดความดันโลหิตและลดอุณหภูมิให้ร่างกายอยู่ในระดับคงที่ ผิวพรรณสดใส เปล่งปลั่ง
- ต้นหอม มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัด ป้องกันอาการท้องผูก ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงจากโรคกระดูกพรุนและโลหิตจาง
- รากผักชี มีสรรพคุณช่วยดับกลิ่นคาว เพิ่มความหอมให้น้ำซุป นอกจากนี้ยังช่วยไล่พิษไข้เหือด โรคหิด และอีสุกอีใส
- ขึ้นฉ่าย มีสรรพคุณช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ บรรเทาอาการท้องอืด แน่นท้อง
- กระเทียม มีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการอักเสบจากผื่นแดง ลดระดับไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ลดปัญหาผมร่วง
- เกลือ มีสรรพคุณช่วยช่วยกำจัดแบคทีเรียภายในช่องปาก ป้องกันภาวะขาดสารไอโอดีน ช่วยให้น้ำย่อยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เมล็ดพริกไทยดำ มีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อและปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการปวดท้อง ขับลมในลำไส้และในท้อง ช่วยให้เจริญอาหาร
บทความที่น่าสนใจ
โรคไตกินปลาอะไรได้บ้าง และรับประทานอย่างไรให้ปลอดภัย
ขนมสำหรับผู้ป่วยโรคไต มีขนมชนิดไหนบ้างที่ทานได้อย่างปลอดภัย