โรคไตกินโอวัลตินได้ไหม นับว่าเป็นเครื่องดื่มที่ใครหลาย ๆ คนโปรดปรานกันเลยก็ว่าได้ค่ะกับ “โอวัลติน” เครื่องดื่มสีน้ำตาลรสหวานเข้มข้นที่ไม่ว่าใคร ๆ ก็ต้องเคยได้รับประทานกันทั้งสิ้น เพราะนอกจากเด็ก ๆ จะทานเพื่อรองท้องก่อนเข้าเรียนหรือก่อนนอนได้แล้ว ผู้ใหญ่ก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน เพราะโอวัลตินให้ทั้งความอร่อยและประโยชน์อย่างมากมาย อย่างไรก็ตามค่ะทุกคนทราบไหมคะว่า แม้จะมีประโยชน์แค่ไหน แต่เจ้าเครื่องดื่มที่ดูไม่มีพิษมีภัยชนิดนี้กลับเป็นเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยโรคไตต้องระวังเป็นอย่างมาก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น I-Kinn มีคำตอบค่ะ
โรคไตกินโอวัลตินได้ไหม ส่งผลอันตรายอะไรหรือเปล่า?
จากที่กล่าวไปค่ะว่า “โอวัลติน” เป็นเครื่องดื่มที่ทุกเพศทุกวัยชื่นชอบและมักรับประทานเพื่อรองท้องก่อนทำกิจกรรมในระหว่างวันเสมอ แต่ทำไมมันจึงกลับเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามที่ผู้ป่วยโรคไตต้องพึงระวังเป็นอย่างมาก ในบทความนี้ I-Kinn มีคำตอบมาฝากค่ะ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก “โรคไต” กันก่อนคร่าว ๆ นะคะ เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นค่ะ
โรคไต คือ…
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าไตมีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดภาวะเลือดจางและขาดวิตามินได้ โดยโรคร้ายนี้มีอยู่หลายชนิด และที่พบได้บ่อย ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง และไตวาย เป็นต้น
จะเป็นโรคไตได้ ไม่ใช่แค่ต้องระวัง “โซเดียม” เท่านั้น
“กินเค็มมาก ๆ ” หรือ “กินเกลือมาก ๆ ” ระวังเป็นโรคไต… เป็นประโยคที่พวกเรามักได้ยินกันใช่ไหมคะ ซึ่งไม่แปลกค่ะ เพราะโซเดียมเป็นภาพจำของสารที่ได้มาจากการทานอาหารที่มีรสเค็มหรือเกลือนั่นเอง แต่ทุกคนทราบไหมคะว่า การที่คนเราจะเป็นโรคไตได้นั้นไม่ได้มีแค่ โซเดียม เท่านั้น ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแต่ยังมี “ฟอสฟอรัส” ที่เป็นอีกหนึ่งสารตัวฉกาจที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงค่ะ
ผงชูรสอันตรายจริงไหม จริงหรือไม่ กินผงชูรสมากเกินไปแล้วผมร่วง หัวล้านเร็ว
“ฟอสฟอรัส” คืออะไร ทำไมผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง
ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ทำงานร่วมกับแคลเซียม มีหน้าที่เป็นโครงสร้างของกระดูกและฟัน และมีหน้าที่อื่น ๆ เช่น กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อ ปกติเมื่อฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย ส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึม อีกส่วนหนึ่งที่เหลือในเลือดจะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ประสิทธิภาพในการขับฟอสฟอรัสจะลดลง ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของฟอสฟอรัสในเลือด
แม้จริง ๆ แล้วฟอสฟอรัสจะเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยส่วนใหญ่มันจะถูกเก็บไว้ในกระดูกของเราถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นจะถูกเก็บไว้ที่กล้ามเนื้อและเลือดค่ะ ซึ่งในคนปกติหากได้รับฟอสฟอรัสเกินก็จะสามารถขับทิ้งทางไตโดยออกมาในรูปของปัสสาวะ แต่คนที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพก็จะมีการคั่งของฟอสฟอรัสในเลือด ซึ่งการที่มีฟอสฟอรัสสะสมในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง กระดูกบางและเปราะ หลอดเลือดแดงแข็งและนอกจากนี้ฟอสฟอรัสจะไปจับตัวกับแคลเซียมส่งผลให้มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังได้นั่นเองค่ะ
สรุปแล้ว ทำไมผู้ป่วยไตจึงไม่ควรดื่ม โอวัลติน?
เหตุผลก็เพราะ เครื่องดื่มชนิดนี้จัดอยู่ในเครื่องดื่มที่มีฟอสฟอรัสสูงนั่นเองค่ะ ซึ่งจากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าฟอสฟอรัสนั้นเป็นสารที่จำเป็นต่อผู้ที่มีร่างกายปกติจริง เนื่องจากมีส่วนช่วยในการทำงานของร่างกายหลาย ๆ อย่าง แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ค่ะว่ามันเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีภัยต่อผู้ป่วยโรคไตอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมระยะที่ 3-5 หรือระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนย คุกกี้ ขนมปัง ไอศกรีม กาแฟผง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง โอวัลติน ไมโล โกโก้ โคล่า เป๊ปซี่ กาแฟใส่นม เบียร์ น้ำแร่ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด งา ทองหยิบ ทองหยอด ไข่แดง เมล็ดพืช แมลงต่าง ๆ เป็นต้น
เมนู-อาหารผู้ป่วยโรคไต เมนูไหนทานได้ เมนูไหนทานไม่ได้
ทาน “ฟอสฟอรัส” อย่างไรให้ปลอดภัย
วิธีที่ดูจะทำได้ง่ายที่สุดนั่นคือ การจำกัดฟอสฟอรัสจากอาหารค่ะ ซึ่งสมาคมโรคไตได้ให้ข้อมูลไว้ว่าหากระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงมากกว่า 4.8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะต้องมีการจำกัดฟอสฟอรัสให้ต่ำกว่า 800 มิลลิกรัม/วัน โดยอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงและควรจะงดหรือจำกัดปริมาณในช่วงที่มีฟอสฟอรัสสะสมในเลือดมากนั้น ได้แก่
- ไข่แดง
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม
- เมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้ ถั่วกวน
- อาหารที่ใช้ยีสต์หรือผงฟู เช่น ขนมปังปอนด์ แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท
- อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูปและน้ำอัดลมจำพวกโคล่าก็ควรจะงดในช่วงที่มีฟอสฟอรัสสะสมในเลือดสูงด้วยเช่นกันค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลที่ I-Kinn นำมาฝากในวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อ่านทุก ๆ คนนะคะ ท้ายที่สุด สำหรับผู้ป่วยโรคไต วิธีเบื้องต้นที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ก็คือการควบคุมอาหารของตนเองนะคะ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ทางที่ดีควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ที่ให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการให้แก่ผู้ป่วยโรคไตได้จะดีที่สุดค่ะ เพื่อสุขภาพนะคะ
บทความที่น่าสนใจ
โรคไตกินปลาอะไรได้บ้าง และรับประทานอย่างไรให้ปลอดภัย
กินพริกน้ำปลาแบบไหนให้ปลอดภัย ลดการสะสมโซเดียม ถนอมไต