สิ่งที่ทุกหน่วยงานห้างร้านต้องโฟกัสอย่างมากในช่วงเวลาที่รายได้หายากแบบนี้คงไม่พ้นเรื่องการลดต้นทุนซึ่งหลายท่านที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยก็บอกตรงกันว่าในเวลาปกติก็โฟกัสแต่อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้วอย่างในช่วงเวลาแบบนี้ ว่ากันว่าการประหยัดได้ 1 บาทของบางบริษัท อาจจะมีมูลค่าพอๆ กับการหายอดขายให้ได้ 10-20 บาทเลยทีเดียว ซึ่งในเวลาแบบนี้อย่าว่าแต่จะหายอดเพิ่มเลย แค่ไม่ให้ลดก็คงเต็มกลืนแล้ว บางธุรกิจรายได้ไม่มีเลยซักบาทเพราะโดนสั่งปิด
การจะซื้อกระดาษซักรีม หมึกซักกล่อง ฝ่ายจัดซื้อก็ควรจะต้องดึงข้อมูลอดีตย้อนหลังมาเปรียบเทียบว่าการซื้อใช้นั้นคุ้มค่าและเป็นไปตามเทรนด์ไหม รวมถึงประหยัดได้กี่บาท การประหยัดได้เป็นหลักสตางค์นั้นได้ประโยชน์ 2 อย่างพร้อมกัน อย่างแรกก็คือการ cost down นั้นไม่ใช่การสนใจแต่ตัวใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะการประหยัดเล็กๆ น้อยๆ แต่พอเอามารวมกันคุณอาจจะประหลาดใจว่ามันมีมูลค่าสูงและควรจะทำมาตั้งนานแล้ว ส่วนอย่างที่สองก็คือเป็นการสร้างวัฒนธรรมการประหยัดและประสิทธิภาพในการทำงาน
ในบริษัทที่มีวัฒนธรรม cost down ที่เข้มแข็งมากๆ นั้นถ้าเข้าไปดูประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนักอาจทำให้คุณประหลาดใจถึงผลประกอบการและวิธีการในการทำงาน
อย่างไรก็ดีการประหยัด กับการเอาเปรียบ/ไม่มีน้ำใจนั้นไม่เหมือนกัน การประหยัดหรือ cost down ไม่ควรเกิดบนพื้นฐานของการไปเบียดเบียนผู้อื่นโดยเฉพาะพนักงานในบริษัท การประหยัดจึงควรพิจารณาให้ดีบนเส้นแบ่งระหว่างประสิทธิภาพกับสิ่งที่ไม่ควรทำให้ละเอียดถี่ถ้วน
การประหยัดอีกอย่างก็มาในรูปแบบของการลงทุน ได้เช่นกัน อย่างเครื่องพิมพ์ในรูปที่ผมเอามาแปะไว้ ราคาเครื่องประมาณครึ่งล้านถ้าดูแต่ตัวเงินอาจจะไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าไล่แต่ละบรรทัดค่าใช้จ่ายนั้นบริษัทผมต้องจ่ายค่าทำสติ๊กเกอร์และฉลากต่างๆ เดือนละเหยียบแสน ทีมงานจึงคำนวนออกมาพบว่าการลงทุนซื้อเครื่องนี้จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงได้เดือนละประมาณ 4-50,000 บาทเป็นต้น ซึ่งแนวคิดนี้หลายคนอาจจะมีคำถามย้อนว่าแล้วถ้าไม่มีสภาพคล่องพอจะไปลงทุนซื้อได้อย่างไร ก็อยากแนะนำว่าธนาคารหลายแห่งมีสินเชื่อในรูปแบบการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยสามารถกู้ไปซื้อเครื่องจักรมาได้ซึ่งอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ถ้าคำนวนให้ดีอาจจะพบว่าสุดท้ายช่วยให้ประหยัดไปได้หลายบาทต่อเดือนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี การคำนวนว่าจะประหยัดได้เท่าไหร่ก็จะคิดเฉพาะต้นทุนทางตรงหรือ direct cost อย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นกับดักที่ทำให้ตัวเลข cost down ออกมาดีเกินจริง เพราะในความเป็นจริงแล้วมันมีสิ่งที่เรียกว่า overhead cost รวมอยู่ด้วยซึ่งเป็นกับดักที่ผู้ประกอบการมักมองข้ามไปเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเวลาปกติเราจ้างข้างนอกผลิตส่งมาให้เราซื้อที่ราคาเป็นชิ้นๆได้เลย แต่การผลิตเองจะมีทั้ง fixed overhead เช่นค่าไฟ และ variable overhead เพิ่มขึ้นมาอย่างเช่นต้องกันเวลาคนไปคอยเฝ้าเครื่องด้วยหรือไม่เป็นต้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดประเภทในระบบบัญชีของแต่ละองค์กร
สุดท้ายนี้ก็อยากเน้นย้ำว่าการประหยัดไม่ควรตั้งอยู่บนการไม่แบ่งปันหรือเบียดเบียนสังคมเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของตนมาเป็นการประหยัดของตนเอง การประหยัดที่ดีคือเรายอมลำบากหน่อยแต่รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่นรวมถึงสังคมสามารถเดินควบคู่ไปด้วยกันได้ โดยเฉพาะในเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ เราอาจจะประหยัดในการทำงาน แต่ไม่ควรประหยัดในการเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือสังคมไปด้วยกันนะครับ
………………………
(Credit : Khun Thomas Hongpakdee)