กินปลากระป๋องทุกวัน เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องเคยพบกับประสบการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะใกล้สิ้นเดือนหรือเป็นเพราะปลากระป๋องเป็นเมนูสิ้นคิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าเจ้าเมนูปลาอัดกระป๋องแบบนี้กลายเป็นอาหารอันโอชะของเราเกือบจะหลาย ๆ ครั้งในชีวิตเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดหัวข้อมาเป็นคำถามที่ว่า กินปลากระป๋องในทุก ๆ วัน แล้วจะเป็นอะไรไหม หลาย ๆ คนก็คงเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมคะว่า คำตอบของคำถามนี้จะออกมาในรูปแบบไหนกันแน่ วันนี้ I-Kinn มีคำตอบมาฝากค่ะ
กินปลากระป๋องทุกวัน อันตรายไหม สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้หรือเปล่า?
เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่าปลากระป๋องเป็นอาหารที่มีราคาไม่แพงคือเพียงกระป๋องละ 10 กว่าบาทและยังหาซื้อได้ง่าย นั่นจึงทำให้ปลากระป๋องเป็นอาหารประจำของคนจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งสำคัญที่หลาย ๆ คนยังไม่ทราบก็คือ ปลากระป๋อง นั้นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร และถ้าหากกินในปริมาณที่มากจนเกินพอดีจะส่งผลอย่างไรบ้าง ในบทความนี้เรามาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันค่ะ
ปลากระป๋อง คือ…
ปลากระป๋อง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก “ปลา” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก โดยปลาที่นิยมใช้ผลิตปลากระป๋อง ได้แก่ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล ซึ่งอาจนำมาแปรรูปด้วยการบรรจุในน้ำเกลือ น้ำมันพืช ซอสมะเขือเทศ น้ำแร่หรืออื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งการจัดจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปชนิดนี้คือธุรกิจอาหารที่มีตลาดกว้างขวางเนื่องจากเป็นสินค้า ที่ซื้อง่ายขายคล่องเพราะมีราคาถูกตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นค่ะ
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มันกลายเป็นเมนูสุดโปรดของใครหลาย ๆ คนจนสามารถกินเจ้าเมนูกระป๋องชนิดนี้ได้ในทุก ๆ วัน แต่อย่าลืมว่ากว่าเนื้อปลาทะเลเหล่านี้จะถูกบรรจุลงกระป๋อง ต้องผ่านหลายกระบวนการ รวมทั้งเสี่ยงที่จะเกิดสารอันตรายที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยสารนั้นเรียกว่า “ฮีสทามีน”
“ฮีสทามีน” คืออะไร เกิดจากอะไร และอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
สารฮีสทามีน เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายในอาหาร (Food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (Chemical hazard) หากบริโภคเข้าสู่ร่างกายจะทําให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ ซึ่งพิษของฮีสทามีน เรียกว่า สคอมโบรทอกซิน (Scombrotoxin) นั่นเองค่ะ
Scombrotoxin เกิดจากการย่อยสลายกรดอะมิโน ฮีสทิดีนของแบคทีเรียโดยใช้เอนไซม์ Histidine decarboxylase มีอยู่มากในโปรตีนเนื้อปลา เช่น ปลาทูน่า (Tuna) ปลาแมกเคอเรล (Mackerel) ในระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิสูง จะทําให้จุลินทรีย์เกิดการเจริญเติบโตและทําให้เนื้อปลาเกิดการเน่าเสีย โดยปริมาณแบคทีเรียที่สร้างสารฮีสทามีน (Histamine forming bacteria) ที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้สารฮีสทิดีนเปลี่ยนเป็นฮีสทามีนในปริมาณที่สูงมากขึ้นด้วย
ข้อดี ข้อเสียของปลากระป๋อง มีอะไรบ้าง?
แน่นอนว่ามีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสีย ซึ่งอาหารสำเร็จรูปชนิดนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้ค่ะ
ข้อดี
หากพูดถึงข้อดีของปลากระป๋องนั้น ปลากระป๋อง ถือเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีสารอาหารสำคัญสำหรับกระดูกถึง 16 ชนิด รวมถึงน้ำซอสมะเขือเทศ มีสารไลโคปินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างดี ปลากระป๋อง จึงเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกได้ดีชนิดหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระดูกพรุน ทั้งนี้ ยังมีสารอาหาร ได้แก่ “ทอรีน” กรดอะมิโนที่พบมากในปลาและสัตว์น้ำ สารตัวนี้จำเป็นสำหรับสุขภาพของประสาท กล้ามเนื้อ และเกล็ดเลือด หากร่างกายได้รับ “ทอรีน” ไม่พอในเด็ก อาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง โดยเฉพาะเด็กที่ดื่มนมวัวอีกด้วย
ข้อเสีย
อย่างไรก็ตามค่ะ แม้ปลากระป๋องจะมีประโยชน์ในด้านของคุณค่าทางอาหาร แต่ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ของอาหารกรด ที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลและสูญเสียมวลกระดูก หากบริโภคมากเกินไป จึงควรบริโภคให้ได้ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม
กินปลากระป๋องต้องอุ่นไหม?
คำถามโลกแตกของใครหลาย ๆ คนว่าหากจะรับประทานปลากระป๋องในแต่ละครั้ง เราจำเป็นต้องอุ่นหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เมนูที่มักจะนำไปประกอบอาหารกันมักจะเป็นเมนู ยำปลากระป๋อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องอุ่น ซึ่งคำตอบก็คือ สามารถทานได้เลยโดยไม่ต้องอุ่นค่ะ แต่หากใครอยากรับประทานแบบอุ่น ๆ ก็ต้องเทปลากระป๋องใส่จานเซรามิกแล้วนำเข้าไมโครเวฟได้ตามปกติ เน้นว่าต้องเทใส่จานก่อนนะคะ เพราะหากอุ่นทั้งกระป๋องจะเกิดสารอันตรายผสมรวมไปกับอาหารและทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ค่ะ
กินปลากระป๋อง กระดูกผุ หรือไม่ มีผลข้างเคียงต่อกระดูกจริงหรือเปล่า?
แท้จริงแล้ว “ปลากระป๋อง” มีสารอาหารจำเป็นสำหรับการเสริมสร้างกระดูกถึง 16 ชนิด จึงจัดได้ว่าเป็นอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อกระดูกอย่างหนึ่ง ข้อดีของ “ปลากระป๋อง” คือ การรับประทานปลาทั้งกระดูก ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มากกว่าการทานเนื้อปลาเพียงอย่างเดียว (สำหรับปลาชนิดเดียวกันและปริมาณน้ำหนักของปลาเท่ากัน) เช่น ได้รับแคลเซียมมากกว่า 30 เท่า ได้รับวิตามินดีและวิตามินชนิดอื่นมากกว่า รวมถึงได้รับแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ โปรตีนและไขมันมากกว่า ดังนั้นสามารถหมดกังวลเรื่องกระดูกผุหรือกระดูกพรุนได้ค่ะ
เด็ก กินปลากระป๋องได้ไหม?
นักโภชนาการได้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับคำถามนี้เอาไว้ค่ะว่า คนที่ควรระวัง คือ คนที่แพ้อาหารทะเล ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งวัยนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกินปลากระป๋อง รวมทั้งคนที่เป็นภูมิแพ้อาหารทะเลบางอย่างก็ต้องระวัง ส่วนอาการแพ้ก็ขึ้นอยู่กับการบริโภคมาก ๆ มีทั้งผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายท้องร่วมด้วย นั่นเอง ดังนั้นควรระมัดระวังในการรับประทานไว้เป็นพิเศษด้วยนะคะ
โรคไต กินปลากระป๋อง ได้ไหม?
ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวังอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เพราะหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็จะขับออกมาทางปัสสาวะ แต่ถ้าหากไตผิดปกติก็จะทำให้ฟอสฟอรัสสะสมอยู่ในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง ซึ่งปลากระป๋องก็รวมอยู่ในอาหารจำพวกนี้ด้วยค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลปลากระป๋องที่ I-Kinn นำมาฝากในวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุก ๆ คนและผู้ที่ชื่นชอบรับประทานปลากระป๋องนะคะ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ แม้ว่าปลากระป๋องหรืออาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ จะสามารถทานได้โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ แต่ผู้บริโภคควรรับประทานให้อยู่ในปริมาณที่พอดีเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพนะคะ
บทความที่น่าสนใจ
ปลาทูกับปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ต่างกันอย่างไร แบบไหนมีประโยชน์กว่ากัน
กินปลาอะไรดีที่สุด ควรเลือกปลาทะเลหรือปลาน้ำจืดดีกว่ากัน