ช่วงนี้ อากาศร้อนอบอ้าวมาก บางวันถึง 40 องศากันเลยทีเดียว ถ้าได้เครื่องดื่มเย็น ๆ ใส่น้ำแข็งด้วยหล่ะก็ จะดีไม่น้อย ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดื่มน้ำธรรมดาบางคนว่าไม่ชื่นใจเท่าต้องกินน้ำแข็ง ถือเป็นสิ่งที่หลายคนเลือกนำมาดื่มกันเพื่อคลายความร้อน แต่รู้หรือไม่ว่า ในน้ำแข็งที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะมาจากอุณหภูมิ ลักษณะ หรือสารปนเปื้อนที่มากับน้ำแข็ง วันนี้ ผู้เขียน จะพามาดูความเสี่ยง หรือ ภัยที่อาจเกิดจากการกิน “น้ำแข็ง” รวมถึงวิธีการเลือกซื้อน้ำแข็งอย่างปลอดภัยมาฝากกันค่ะ
รู้หรือไม่ กินน้ำแข็งแล้ว ต้องใช้พลังงานกี่แคลอรี่กว่าจะอุ่นเท่าอุณหภูมิในร่างกาย
เรากินน้ำแข็ง เพื่อเติมความสดชื่น คลายความร้อนให้กับร่างกาย แต่ทราบหรือไม่ว่า น้ำแข็ง 1 กรัม ต้องใช้พลังงาน 80 แคลอรี่ ในการละลายให้เป็นน้ำที่ 0 องศา กว่ามันจะอุ่นขึ้นจนถึง 37 องศาเท่าอุณหภูมิร่างกาย ต้องใช้พลังงานมากทีเดียว เปรียบเสมือนไปเดินตากฝนมา ถ้าไม่มาก ก็จะมีไข้ต่ำ ๆ แต่คนที่มีไข้อยู่แล้ว อาจถึงกับต้องกับต้องไปหาหมอได้ สำหรับคนปกติ อาจะจะไม่ซีเรียสเท่าไหร่ แต่สำหรับนักกีฬา นั่นคือความพ่ายแพ้ในเกมส์นั้นเลยทีเดียว เพราะนักกีฬา ต้องการความพร้อมสมบูรณ์ที่สุดในวันลงแข่ง
กิน “น้ำแข็ง” กับปัญหาสุขภาพ
- อาการเสพติด “น้ำแข็ง” หรือ Pagophagia เป็นหนึ่งในรูปแบบของโรค Pica หรือโรคเสพติดการรับประทานของที่ไม่ใช่อาหาร หรือ ไม่มีคุณค่าทางอาหาร โรคนี้อาจเกิดจากความเครียด อาจเป็นความผิดปกติทางจิตทีมักเกิดร่วมกันกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ โดยการเคี้ยวน้ำแข็งอาจไม่ได้ทำให้เกิดโรคนี้ แต่โรคนี้ อาจทำให้เกิดการเคี้ยวน้ำแข็ง หากติดการเคี้ยวน้ำแข็ง ต่อเนื่องกว่าหนึ่งเดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิฉัยโรค
- ภาวะเลือดจาง
ภาวะเลือดจาง เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก กระตุ้นให้ร่างกายอยากรับประทานน้ำแข็ง เนื่องจากน้ำแข็ง อาจช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ซึ่งหากมีสัญญาณของภาวะเลือดจาง จากการขาดธาตุเหล็ก เช่น อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือเบื่ออาหาร แนะนำปรึกษาแพทย์ เนื่องจากภาวะโรคเลือดจาง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อหัวใจได้
- โรคติดเชื้อ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า คนไทย จำนวนไม่น้อยที่กินน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีกระบวนการผลิตน้ำ ที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้หลายชนิด เช่น โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ ฯลฯ
เพราะอะไร คนจีน ไม่กินน้ำแข็ง ?
ไม่ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวแค่ไหน แต่คนจีนไม่นิยมกินน้ำแข็ง อย่าว่าแต่จะกินน้ำแข็งเลย หาคนขายน้ำแข็ง ก็ไม่มี ผู้เขียนเคยไปเยือนจีน อยากดื่มน้ำหวานใส่น้ำแข็ง ยังหายากมาก ต้องเข้าร้านอาหารที่ใหญ่หน่อย สั่งเครื่องดื่ม และขอน้ำแข็งด้วย ซึ่งพนักงาน ก็ให้น้ำแข็งเพียง 1 ก้อนสี่เหลี่ยมไว้ในแก้วดื่มน้ำแก้วโตมาก (คิดดู) ที่จีนเขาใส่น้ำแข็งมาให้น้อยมาก พอให้ได้รู้สึกเย็นก็พอ ต่างกับบ้านเราที่อัดน้ำแข็งมาให้พูนแก้วเลย คนจีนไม่นิยมกินน้ำแข็ง อาจเพราะด้วยสุขภาพ คนจีน เชื่อว่า น้ำเดือด ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มากับน้ำก๊อก เราจึงเห็นคนจีน นิยมดื่มชาร้อน ๆ
กรมอนามัย เผย โควิดโรงงานน้ำแข็งทำเสี่ยง
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนยิ่งเจริญชัย (อธิบดีกรมอนามัย) ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำแข็งทุกแห่งต้อง ยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคโควิด – 19 ด้วยการคัดกรองผู้ปฏิบัติง่นก่อนมาทำงานในระดับเข้มข้น นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้บริโภคควรเลี่ยงการซื้อน้ำแข็งโม่ หรือ บด มาบริโภค เนื่องจากในกระบวนการผลิตตั้งแต่การถอดซอง ออกมาเป็นก้อนน้ำแข็ง การตัดเป็นก้อนเล็ก ๆ จนถึงการโม่ บด บรรจุใส่ถุงหรือกระสอบเพื่อส่งขาย มีโอกาส สัมผัสกับคนงาน สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำแข็ง
เลือกซื้อน้ำแข็งอย่างไร ให้ปลอดภัย
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพจากการกินน้ำแข็ง จึงควรเลือกซื้อตามวิธีการดังนี้ :-
- เลือกกินน้ำแข็งที่มีฉลากจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เท่านั้น
- เลือกซื้อน้ำแข็งที่บรรจุในถุง หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และอยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยฉีกขาด
- เลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด มีลักษณะใสทั้งก้อน ไม่มีรูพรุนด้านใน ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และไม่มีรสชาติแปลก
- หลีกเลี่ยงการกินน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหารร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแช่อาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก หรือ ขวดน้ำ เนื่องจากการบรรจุภัณฑ์ของอาหารเหล่านั้น อาจมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรค และสารเคมี
………………..
(เครดิต : Eating Ice : is it bad for you ?, www.healthline.com ,Is eating ice good or bad for health? , สารอโศก อันดับที่ 257 กุมภาพันธ์ 2556/ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต, www.pobpad.com, กรมอนามัย, www.i-kinn.com)