เครื่องดื่มสุขภาพ น้ำตาลสูงที่หลายๆ คนไม่ทราบ … เนื่องจากเทรนด์การดูแลสุขภาพกลายเป็นกระแสนิยมของคนที่เอาใจใส่สุขภาพมาหลายปี ทำให้หลายท่านหันมาใส่ใจจริงจังกับการรับประทานอาหาร รวมถึงเครื่องดื่มต่าง ๆ มากขึ้น และทราบหรือไม่ว่า เครื่องดื่มที่เราชื่นชอบนั้น ดีต่อสุขภาพจริงหรือ ?
ไทยแลนด์ แดนติดหวาน
ภัยเงียบที่มาเยือนหลัก ๆ มาจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า ผู้ใหญ่ 1 ใน 10 เป็นโรคเบาหวาน โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานกว่า 371 ล้านคน สาเหตุเพราะบริโภคน้ำตาลสูงเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ในขณะที่มีข้อแนะนำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลทราย ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา จะเห็นได้ว่า เรามีการบริโภคน้ำตาลมากเกินกว่าข้อแนะนำต่อวันถึง 3 เท่า ผู้อ่านที่ไม่อยากอยู่กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ควรต้องลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานด้วยเช่นกัน อย่างที่เคยมีคำกล่าวไว้ว่า “คนไทยเป็นนักกินหวานที่สุดระดับหนึ่ง”
หยิบมา 5 เครื่องดื่มสุขภาพที่เราชื่นชอบนั้น เรามาดูกันว่าดีต่อสุขภาพจริงหรือ :-
ชนิดน้ำตาลแต่ละประเภท น้ำตาลแดง น้ำตาลทรายต่างกันอย่างไร เหมาะกับใคร
เครื่องดื่มสุขภาพ น้ำตาลสูง ยิ่งกินยิ่งอ้วน
-
น้ำผลไม้คั้นสด ๆ
เน้นคำว่า คั้นสด ๆ กันเลยทีเดียว ผู้อ่านหลายท่านเลือกดื่มน้ำผลไม้ เข้าใจว่า อย่างน้อยต้องดีต่อสุขภาพ เพราะดื่มแล้วชื่นใจ รสชาติหอม อร่อย ดื่มแล้วสดชื่น ทราบหรือไม่ว่าน้ำผลไม้ที่เราดื่มทุกวัน อาจไม่ใช่เครื่องดื่มสุขภาพอย่างที่เราเข้าใจ เพราะน้ำผลไม้ มีน้ำตาลสูงพอ ๆ กับน้ำอัดลม (กันเลยทีเดียว) โดยน้ำอัดลม 350 มิลลิลิตรที่ให้พลังงาน 140 แคลอรี่ จะมีน้ำตาล 40 กรัม ส่วนน้ำแอปเปิ้ล ในปริมาณเท่ากันที่ให้พลังงาน 165 แคลอรี่จะมีน้ำตาล 39 กรัม และแน่นอน การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมาก จะส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่ผู้มีสุขภาพดี ก็ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ก็อาจเสี่ยงทำให้น้ำตาลสูงขึ้น และที่สำคัญ ในน้ำผลไม้ มีกากใยอาหารน้อยกว่าเมื่อเทียบกับทานผลไม้สด และถ้าแย่ไปกว่านั้น น้ำผลไม้ที่ผ่านการแปรรูปหลายขั้นตอน จะไม่หลงเหลือกากใยเลย ในกรณี ต้องการลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ควรแนะนำทานผลไม้สด ดีกว่า เพราะแคลอรี่จะได้น้อยกว่าการดื่มน้ำผลไม้ (เพราะน้ำตาลสูง)
-
นมรสจืด
เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านเข้าใจมาโดยตลอดว่า “นมรสจืด” จะไม่มีน้ำตาล (เพราะชื่อก็บอกแล้วไง) เย็นนี้ ลองหยิบกล่องนมจืดที่ทานประจำ มาดูข้างกล่องกันดูนะคะ เพราะถ้าเราลองสังเกตข้างกล่อง เราจะพบว่า มีน้ำตาลอยู่ในนมรสจืดจริง ๆ โดยจะมีน้ำตาลประมาณ ครึ่งหนึ่งของน้ำอัดลมกันเลยทีเดียว น้ำตาลที่อยู่ในนมรสจืด ส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลแลคโตส (ปัจจุบันก็มีหลายยี่ห้อ ที่จะเขียนว่า Free Lactose) น้ำตาลแลคโตส เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 ชนิด คือ น้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลกาแลคโตส แลคโตส พบในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หลายท่านอาจแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose Intolerance) ด้วยภาวะลำไส้ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ ดังนั้นเมื่อร่างกายไม่สามารถย่อยที่ลำไส้ จึงเกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง ผายลมบ่อย ซึ่งการแพ้น้ำตาลแลคโตสในผู้ใหญ่พบได้มากถึง 65-70% ของผู้ใหญ่ทั่วโลก
-
น้ำผึ้ง
ถ้ารีดเอาน้ำผึ้งออกไป ส่วนประกอบของน้ำผึ้ง 95-99% จะเป็นน้ำตาลฟรุ๊คโตส (Fructose) และน้ำตาลกลูโคส (Glucose) เพราะถ้าเทียบน้ำผึ้งปริมาณแค่ 100 กรัม ให้พลังงานมากถึง 300 แคลอรี่ ซึ่งถือว่าสูงมาก ในเมื่อน้ำผึ้งมีทั้งน้ำตาลและให้พลังงานมากขนาดนี้ การดื่มน้ำผึ้งสามารถทำให้อ้วนและคอเลสเตอรอลสูงได้เช่นกัน แถมยังเสี่ยงต่อน้ำตาลในเลือดสูงอีกด้วย ดังนั้น ไม่ควรทานน้ำผึ้ง เกินวันละ 6 ช้อนชา
-
น้ำเต้าหู้
เครื่องดื่มที่ทำจากถั่วเหลือง ที่เรานิยมดื่มกัน หนึ่งในนั้นคือ น้ำเต้าหู้ หาซื้อง่าย ตลาดยามเช้ามีขายกันเยอะ แต่ทราบหรือไม่ว่า น้ำเต้าหู้ ที่ทำขายกันนั้น ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำตาลสูงมาก ซึ่งแน่นอนให้แคลอรี่สูง ยกตัวอย่างเช่น น้ำเต้าหู้บรรจุขวดสำเร็จ 320 มิลลิลิตร จะมีน้ำตาลประมาณ 7 กรัม ทางที่ดี แนะนำควรทำน้ำเต้าหู้ทานเอง จะดีที่สุด ด้วยการนำถั่วเหลืองมาบดปั่นกับน้ำเปล่า และคั้นกรองเอากากทิ้งไป และถ้าต้องการรสหวาน อาจจะใส่ หญ้าหวานแทนน้ำตาล ก็ได้
-
นมเปรี้ยว เครื่องดื่มสุขภาพ น้ำตาลสูง
นมเปรี้ยว หรือโยเกิรต์ ล้วนแล้วแต่มีระดับน้ำตาลสูงมาก ผลการศึกษานี้ ได้ระบุปริมาณน้ำตาลอย่างละเอียดวา เครื่องดื่มหมวดนมเปรี้ยวขนาด 450 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 14.63 ช้อนชา ขณะที่น้ำอัดลม ขนาด 325 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 8 – 8.5 ช้อนชา ซึ่งจะเห็นว่านมเปรี้ยวปริมาณน้ำตาลสูงเกือบเท่าหนึ่งของน้ำอัดลม หรืออธิบายง่าย คือ แค่ดื่มนมเปรี้ยว 1 ขวด ก็รับน้ำตาลเกินปริมาณพอดีของที่ควรได้รับทั้งวันแล้วค่ะ
เครื่องดื่มต่าง ๆ ในท้องตลาดส่วนใหญ่จะมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งแม้ว่าร่างกายจะสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ แต่ถ้าดื่มในปริมาณมาก และรับประทานอาหารอื่นน้อย ก็อาจทำให้ร่างกายขาดสมดุลทางโภชนาการได้ ควรเลี่ยง เครื่องดื่มที่มีรสหวาน พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
………………………………
(เครดิต : Are fruit smoothies Good For You?, www.healthline.com, 8 important benefits of Drinking Healthy Good For Health, www.thatsmyjamok.com, www.chiangmainews.com,
www.podpad.com, www.i-kinn.com)
บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง