จากรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก ทุกปีมีประชากรประมาณ 17 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23 ล้านคนในปี 2573 และสาเหตุที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด นั้นคือ “ไขมันในเลือดสูง” ถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของโรค โดยพบว่า อาหารเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการบริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ออกกำลังกายน้อยลง (หรือไม่ชอบการออกกำลังกาย) แถมมีความเครียดมากขึ้น
สาเหตุหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดงตีบ แคบ มากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
และทราบหรือไม่ว่า ถ้าปล่อยให้คอเลสเตอรอลสูง เพิ่มความเสี่ยง 6 โรคร้ายดังนี้
- โรคหัวใจขาดเลือด
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ
- สมองขาดเลือด
- อัมพฤกษ์
- อัมพาต
แต่วันนี้ ผู้เขียน จะหยิบมาเฉพาะโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ ประเดิมเป็นอันดับแรกก่อน (โรคที่เหลือ สามารถติดตามอ่านได้ค่ะ) ด้วยเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ถือเป็นอีกหนึ่งที่มีความรุนแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองลงมาจากโรคมะเร็ง
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- เจ็บแน่นหน้าอก
- เหนื่อยง่ายขณะออกแรง
- หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเรื้อรัง
- ความดันเลือดต่ำ
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้น
- เพศชายเป็นได้มากกว่าเพศหญิง หากในวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับเพศชาย
- ประวัติครอบครัว
ปัจจัยที่ควบคุมได้
- ไขมันในเลือดสูง
- น้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวาน)
- ความดันเลือดสูง
- ไม่ออกกำลังกาย
- กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์
- ความเครียด
ไขมันในเลือดสูง กระทบต่อหลอดเลือดหัวใจตีบ อย่างไร ?
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะหากปล่อยทิ้งไว้หรือรู้ตัวช้า ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามเวลา เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยเสี่ยง ไขมันจะเริ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้หลอดเลือดตีบหรือแคบลง ส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หากปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดการปริแตกของหลอดเลือด เกล็ดเลือดหลุดเข้าไปอุดตันทางเดินของหลอดเลือด และเมื่อมีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ เกินร้อยละ 50 คนไข้จะเริ่มมีอาการแสดง
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- หากหลอดเลือดตีบเพียงบางส่วน รักษาด้วยยา
- หากหลอดเลือดตันมาก รักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ
- หากไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้ รักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ
ดูแลตัวเอง ให้ห่างจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- หลีกเลี่ยงทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่นเครื่องในสัตว์ อาหารซีฟู้ด อาหารทอดจมน้ำมัน อาหารพวกแป้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารเค็มจัด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
จะเห็นได้ว่า เพียงแค่เรามีวินัยในการเลือกทานอาหาร เลี่ยงอาหารทอดที่จมน้ำมัน อาหารของหวาน เราก็สามารถลดความเสี่ยงที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูง และแน่นอน การลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันได้สารพัดโรค จริง ๆ ค่ะ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
……………………………….
(เครดิต : www.i-kinn.com)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อันตรายจากยาพาราเซตามอล กินมากไปเสี่ยงไตพัง