มั่นใจว่าสาว ๆ ทั้งหลายที่กำลังควบคุมอาหาร มักชื่นชอบและเป็นปลื้มหากเห็นตัวเองมีน้ำหนักบนตราชั่งลดลง ถ้าลดลงอย่างมีนัยยะว่าเพราะการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าน้ำหนักลดแบบฮวบฮาบ ก็ต้องเอะใจว่าเกิดอะไรขึ้น หรือปริมาณการทานอาหารเยอะมาก แต่น้ำหนักเท่าเดิม และอาจมีอาการไม่พึงประสงค์ตามมา เช่นหัวใจเต้นเร็วผิดปกติกลางดึก จนต้องตื่น หรือเหนื่อยง่าย เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายเราไม่ปกติแล้วนะ และถ้าบางครอบครัวคุณพ่อ หรือคุณแม่เป็นไทรอยด์ ก็แนะนำว่าควรเช็กร่างกายตัวเองทุกปี เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นไทรอยด์ได้
ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ?
ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและมีความสำคัญอย่างมากในร่างกายทีเดียว โดยต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สำคัญคือการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย แถมยังมีส่วนช่วยในการควบคุมกระบวนการเผาผลาญต่าง ๆ กระตุ้นการเต้นของหัวใจ รักษาอุณหภูมิในร่างกายและการหลั่งเหงื่อ จะเห็นว่า ต่อมไทรอยด์ดูแลทุกระบบในร่างกายเรานั่นเอง หากต่อมไทรอยด์ทำงานหนักผิดปกติ มีภาวะของต่อมไทรอยด์โต ก็จะส่งผลให้ร่างกายแปรปรวนตามมา
ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากอะไรล่ะ ?
ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Overative Thyroid) สาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาในร่างกายของเราเอง ที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์มีมากเกินความจำเป็น ก็จะส่งผลให้มีอาการผิดปกติในอวัยวะต่าง ๆ ได้หลาย ๆ อย่าง เราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกตินี้ว่า ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เหงื่อออกง่าย และหงุดหงิด ฉุนเฉียว ซึ่งโรคไทรอยด์ อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด
-
ไฮเปอร์ไทรอยด์
คือโรคไทรอยด์ ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายเร็วกว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายก็คือ น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย มีประจำเดือนน้อยลง ความจำไม่ดี กระสับกระส่าย ผมร่วง หัวใจเต้นผิดจังหวะ มือสั่น แขนขาไม่มีแรง
-
ไฮโปไทรอยด์
คือโรคไทรอยด์ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่น้อยเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายช้ากว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายคือ น้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว ขี้หนาว ง่วงนอน อ่อนเพลีย ผมร่วง เป็นตะคริวง่าย รอบตาบวม หน้าบวม
อาการของไทรอยด์เป็นพิษ มีอะไรบ้าง ?
อาการของไทรอยด์เป็นพิษ อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาการที่พบได้ มีดังต่อไปนี้ :-
- น้ำหนักตัวลด
- ชีพจรเต้นเร็ว จังหวะไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น
- อารมณ์แปรปรวน
- อ่อนเพลีย
- มีอาการสั่น โดยเฉพาะมือ
- ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย
- ต่อมไทรอยด์บริเวณคอบวม หรือโตขึ้น
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
มีอาการแสดงที่พบบ่อยคือ
- อาการผมร่วง ในหลายคนอาจมีผมร่วงมาก บางครั้งร่วงเป็นกระจุกเวลาสระผม อาการผมร่วงในผู้ที่เป็นโรคนี้ พบได้บ่อยและก่อให้เกิดความกังวลต่อภาพลักษณ์ ซึ่งหากรักษาต่อมไทรอยด์ให้กลับมาทำงานปกติ ผมจะกลับมาหนาเหมือนเดิม
- อาการแขนขาไม่มีแรง เกิดจากระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน หรือจากพิษของไทรอยด์ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อระบบกล้ามเนื้อ
- ความผิดปกติของผิวหนัง มักเกิดบริเวณหน้าแข้ง อาจเกิดขึ้นพร้อมกับความผิดปกติของตา ผิวหนังที่เป็นจะหนาขึ้นเป็นผื่น หรืออาจจะเกิดขึ้นบริเวณใดก็ตามที่ได้รับแรงกดหรือเสียดสีมาก เช่นที่เท้าจากรองเท้าเสียดสี หรือหัวไหล่จากการแบกของ เป็นต้น
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ไทรอยด์เป็นพิษ หรือไม่เป็นพิษ ?
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย สอบถามอาการ และตรวจสอบประวัติการรักษา รวมทั้งวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างการตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Function Test) หรือการอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
ลักษณะการดำเนินของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
พบว่าโรคนี้มีระยะเวลากำเริบของโรค (ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยยา) โดยมากประมาณ 1-2 ปี และมีระยะสงบ (ที่สามารถหยุดยาได้) และอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ กลับมาเป็นซ้ำอีก โรคนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันไวเกิน เกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารพวกแอนติบอดี ซึ่งปกติต้องสร้างมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค แต่ในผู้ที่เป็นโรคนี้แอนติบอดีที่สร้างขึ้นมา จะเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากขึ้น เมื่อใดที่ร่างกายสร้างสารแอนติบอดีน้อยลง โรคจะสงบลงเอง
วิธีการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ
-
รักษาด้วยยา
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ คือยาที่ออกฤทธิ์ลดการสังเคราะห์ฮอร์โมน ทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยลง ทำให้เมตาบอลิซึมของร่างกายลดลง อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการมีเมตาบอลิซึมสูง ก็จะหายไป เช่น ใจสั่น เหนื่อย ผอมลง โดยมากจะให้ยา 1-2 ปี แล้วหยุดยา ร้อยละ 30-40 ของผู้ป่วยมักหยุดยาได้ ส่วนที่เหลือไทรอยด์จะกลับเป็นพิษขึ้นอีกภายในระยะเวลา 1 ปีหลังหยุดยา ซึ่งสามารถรักษาด้วยการกินยาต่อไป หรือใช้วิธีอื่นรักษาได้
-
การรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นวิธีการรักษาดั้งเดิม การตัดต่อมไทรอยด์โดยมากตัดออก 30% ของขนาดเดิม ทำให้ขนาดเล็กลง ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในเลือดมีปริมาณลดลง ทำให้เมตาบอลิซึมของร่างกายไม่มากเกินไป
-
การกินแร่ไอโอดีนกัมมันตภาพรังสี
แร่รังสีไอโอดีน 131 เป็นสารกัมมันตภาพรังสีของธาตุไอโอดีน เมื่อทิ้งไว้ไอโอดีน 131 จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นไอโอดีน 128 ในกระบวนการนี้จะปล่อยกัมมันตภาพรังสีเบต้าออกมา เพื่อทำลายเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียงต่อมไทรอยด์ จะทำหน้าที่นำแร่ไอโอดีน 131 เข้าไปเป็นองค์ประกอบในการสร้างฮอร์โมน T3 และ T4 และจะถูกทำลายช้า ๆ ด้วยรังสีเบต้าของแร่นี้ เหมือนเป็นการผ่าตัดทำลายต่อมไทรอยด์ด้วยแร่รังสี นั่นเอง
เป็นไทรอยด์เป็นพิษ ออกกำลังกายได้ไหม ?
หากเป็นกิจวัตรทั่วไป เช่นเดินขึ้นบันได การเดิน ไม่มีข้อจำกัด แต่หากต้องการออกกำลังกายที่มีความหนักมากขึ้นเช่น High Intensive Interval Training หรือ การออกกำลังกายที่มีการแข่งขัน (Competitive Exercise) ควรมีการเฝ้าระวังการเต้นของหัวใจ หรือแนะนำให้งดไปก่อนจนกว่าโรคจะมีการควบคุมที่ดีขึ้น
ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากร่างกายของเราเอง ดังนั้นไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตัวเอง หากมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา แล้วพบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
…………………………………
(เครดิต : รพ.พญาไท, รพ.สินแพทย์ และ www.i-kinn.com)