น้ำสมุนไพร เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มชนิดนี้ แน่นอนว่าทุกคนจะนึกถึงคุณประโยชน์ของมันได้อย่างมากมาย เนื่องจากสมุนไพรส่วนใหญ่นั้นจะมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบรรเทาอาการป่วยต่าง ๆ ของเราได้อย่างชะงัด อย่างไรก็ตามค่ะ สิ่งที่ตามมากับสมุนไพรคือรสชาติที่อาจมีความขมเกินกว่าจะสามารถทานได้แบบเพียว ๆ ดังนั้น น้ำที่มาจากสมุนไพรบางชนิดอาจถูกเพิ่มน้ำตาลลงไป เพื่อทำให้ดื่มง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ แต่ถึงอย่างนั้น การเติมในน้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะก็ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากเติมในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งผลเสียดังกล่าวจะมีอะไรบ้าง บทความนี้ I-Kinn มีคำตอบมาฝากค่ะ
น้ำสมุนไพร มีน้ำตาลเยอะไหม ต้องดื่มอย่างไรจึงจะปลอดภัยและได้ประโยชน์
จากที่กล่าวไปค่ะว่าน้ำสมุนไพรมีอยู่มากมายหลากหลายอย่าง บางชนิดจะมีรสเฉพาะ ทั้งขมและเฝื่อน ทำให้ดื่มยาก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าน้ำเพื่อสุขภาพชนิดนี้อาจจะต้องมีการเพิ่มเติมน้ำตาลเพื่อทำให้รสชาติของมันดีขึ้นและทานได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเอง ซึ่งการเติมน้ำตาลเช่นนี้ก็ถือเป็นดาบ 2 คมค่ะ เพราะข้อดีคือทำให้รสชาติหวานขึ้น ทานง่าย แต่ข้อเสียที่ตามมาก็คืออาจกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิก ได้อีกด้วย ดังนั้นผู้บริโภคควรระมัดระวังในการรับประทานเป็นอย่างยิ่งค่ะ
น้ำตาลในน้ำสมุนไพร มีปริมาณมากแค่ไหน ต้องกินอย่างไรจึงจะไม่เสี่ยงโรค?
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่า ใน 1 วัน เราควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 25 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชา ปริมาณเพียงเท่านี้ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้และไม่ทำให้เกิดโทษ ซึ่งก็ไม่แปลกที่กลุ่มผู้รักสุขภาพส่วนใหญ่จะหันมาดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรกันอยู่มาก เพราะนอกจากน้ำตาลจะน้อยแล้วก็ยังส่งผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย แต่สิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องจริงหรือ?
จากบทความ มันมากับอาหาร : น้ำตาลกับน้ำสมุนไพร ของสำนักพิมพ์ ไทยรัฐ ออนไลน์ ได้ระบุถึงผลการสุ่มตัวอย่างเครื่องดื่มสมุนไพรจาก 5 ร้านเจ้าดังเพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำตาลว่ามีอยู่ปริมาณเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งผลก็คือ
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด
น้ำสมุนไพร ร้าน (กรัม/100 มิลลิลิตร) (กรัม/1 ขวด)
น้ำกระเจี๊ยบ จากร้านแผงลอย ย่านหนองแขม 10.19 30.57 กรัม
น้ำลำไย จากร้านแผงลอย ย่านอรุณอมรินทร์36 14.60 43.80 กรัม
น้ำเก๊กฮวย จากร้านแผงลอย ย่านจรัญสนิทวงศ์ 11.96 35.88 กรัม
น้ำเก๊กฮวย จากร้านแผงลอย ย่านคลองหลวง 8.16 20.40 กรัม
น้ำใบบัวบก จากร้านย่านบางกะปิ 4.81 10.58 กรัม
ซึ่งทั้ง 5 ตัวอย่างนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่มาจากการสุ่มเท่านั้นนะคะ ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีปริมาณที่ต่างกันออกไป อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้เช่นกันค่ะ
อันตรายจากน้ำสมุนไพร นอกจากปริมาณน้ำตาลแล้ว มีอะไรบ้าง?
อันตรายจากสมุนไพรนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายอย่างด้วยกันค่ะ เช่น
อันตรายจากสารเจือปนในสมุนไพร
ในกรณีนี้มีผลวิจัยจากทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ยาสมุนไพร เพื่อหาสารเจือปนที่จะเป็นอันตราย พบว่า ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของ arsenic 60% และสาร steroids กว่า 30% นอกจากนั้นยังมีสารอันตรายอื่น ๆ อีกมากมาย
อันตรายที่เกิดจากโรคที่ขาดการรักษา
เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหืด ซึ่งแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ช่วยได้เพียงการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันโรคแทรกซ้อน บางคนอาจทานยาจนเบื่อ เลยหยุดทานยา และหันมารักษาด้วยสมุนไพรแทน แต่สมุนไพรหลายชนิดอาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคอย่างที่คิด จึงทำให้อาการของโรคดังกล่าวไม่ได้รับการรักษาจริง
อันตรายที่เกิดจากฤทธิ์ของสมุนไพรโดยตรง
สมุนไพรหลายชนิดจะมีสารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรงปะปนอยู่ ถ้าได้รับเข้าไปจะทำให้เกิดอาการจากพิษนั้น ๆ เช่น มะเกลือ ผลของมันเมื่อแก่เต็มที่จนมีสีดำ อาจจะมีสาร naphthalene ซึ่งเป็นพิษต่อประสาทตาโดยตรง หรือ ยี่โถ เราพบว่า มีพิษอยู่ในใบของมัน หากได้รับสารนี้จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง และอาจหยุดได้
วิธีดื่มเครื่องดื่มสมุนไพร ดื่มอย่างไรให้ปลอดภัย ไร้กังวลเรื่องน้ำตาล
แม้ว่าเครื่องดื่มสมุนไพรจะมีสรรพคุณต่าง ๆ มากมาย แต่ถ้าดื่มสมุนไพรมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน อย่างการดื่มสมุนไพรทุกวันอาจทำให้ได้รับสารที่เป็นยามากจนเกินไป ร่างกายจึงอาจขับสารที่เป็นยาออกไม่หมดเหลือทิ้งไว้ในร่างกาย ทำให้จากร่างกายที่มีความสมดุลอยู่แล้ว ถูกปรับสมดุลใหม่ให้แย่กว่าเดิมได้ ดังนั้นเครื่องดื่มสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ควรดื่มเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน แต่ให้เลือกดื่มเมื่อมีอาการต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อลดสารที่อาจตกค้าง และเป็นการจำกัดปริมาณน้ำตาลของการดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรแต่ละครั้งด้วยค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
5 สมุนไพรจีน ยอดฮิต แนะวิธีเลือกยาจีนอย่างไร ให้ได้ผลดีที่สุด ?
ชนิดน้ำตาลแต่ละประเภท น้ำตาลแดง น้ำตาลทรายต่างกันอย่างไร เหมาะกับใคร