“เจ็บหน่วง ๆ นั่งท่าไหน ก็รู้สึกไม่สบายตัว แล้วถ้าต้องก้มตัวนี่ ยิ่งเจ็บมาก”
เพื่อนสนิทผู้เขียนได้บ่นอาการไม่สบายตัว และสันนิษฐานว่า “น่าจะเป็นไส้เลื่อน เพราะเมื่อปลายปีที่แล้วไปพบหมอ หมอบอกว่า ถ้าเจ็บมากขึ้น ให้มาพบอีกครั้ง” ถ้าพูดถึง “ไส้เลื่อน” ผู้อ่านหลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าเกิดขึ้นได้เฉพาะเพศชาย แต่ความเป็นจริงแล้ว เพศหญิงก็สามารถเป็นไส้เลื่อนได้เช่นกัน แล้วไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง จะมีอาการอย่างไร เจ็บส่วนไหน ไส้เลื่อน สามารถเป็นได้ที่บริเวณใดของร่างกายบ้าง ? ก่อนที่เราจะเจอคำตอบ ผู้เขียนจะพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ไส้เลื่อน” กันก่อน
โรคไส้เลื่อน เกิดจากอะไร ?
โรคไส้เลื่อน เป็นภาวะที่สามารถพบบ่อยได้แทบทุกวัย ทั้งเพศชายและเพศหญิง ไส้เลื่อน (Hernia) คือภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะใดก็ตามที่อยู่ในช่องท้อง เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่ง (ที่เคยอยู่) เดิมผ่านรู หรือตัวผ่านบริเวณเนื้อหรือพังผืดที่เกิดความอ่อนแอ (หย่อนยาน) ไปอยู่ยังอีกตำแหน่งหนึ่ง และในบางกรณีสามารถเกิดขึ้นจากแรงดันที่มากผิดปกติในช่องท้อง เช่น ไอ จาม ยกของหนัก (เพื่อนผู้เขียน ยกของหนักบ่อย) ทำให้ลำไส้หรือกลุ่มไขมันในช่องท้องบริเวณนั้น เลื่อนออกมาจากตำแหน่งที่เคยอยู่
ผู้หญิงเป็นไส้เลื่อนได้มั๊ย ?
ไส้เลื่อน เกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย แต่พบบ่อยในเพศชาย เนื่องจากบริเวณขาหนีบของผู้ชาย จะมีช่องถุงอัณฑะที่อ่อนแรงได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเกิดไส้เลื่อนได้มากกว่า ส่วนไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการยกของหนัก รวมถึงการผ่าตัด หรือ ผ่าคลอดเนื่องจากตั้งครรภ์ จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องอ่อนแรงจนเกิดไส้เลื่อนได้
แล้ว อาการไส้เลื่อน เป็นอย่างไรหล่ะ ?
ในช่วงแรก มักจะไม่ค่อยแสดงอาการเจ็บปวดใด ๆ ให้เราเห็นชัดเจน ต้องอาศัยจากการสังเกตภายนอกเป็นหลัก เช่น มีก้อนลักษณะตุง นูน ยื่นออกมาบริเวณที่ผ่าตัด หรือ บริเวรขาหนีบ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา จะเริ่มมีอาการจุก ไปจนถึงเจ็บปวดบริเวณที่มีก้อนตุงนูนออกมา จนถึงขั้นปวดมาก ปวดแสบ ปวดร้อน ซึ่งเป็นอาการในระดับรุนแรงต้องได้รับการผ่าตัดด่วน
ไส้เลื่อน เกิดบริเวณใดได้บ้าง ?
บริเวณที่พบบ่อยมากที่สุดคือ ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบทั้งซ้ายและขวาหรือถุงอัณฑะ จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ไส้เลื่อน เกิดขึ้นได้ในเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ปกติแล้ว ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของร่างกาย เช่น ไส้เลื่อนบริเวณตำแหน่งที่เคยผ่าตัด ไส้เลื่อนบริเวณสะดือที่เคลื่อนตัวเป็นก้อนนูนออกมาบริเวณกลางหน้าท้องหรือบริเวณสะดือ
การรักษาไส้เลื่อน
โดยส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยรักษาด้วยการผ่าตัด โดยมีปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณามีดังนี้ :-
- การผ่าตัดแบบเปิด
โดยแพทย์จะทำการผ่าที่บริเวณหน้าท้อง แล้วดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปอยู่ตำแหน่งเดิม จากนั้นแพทย์จะใส่วัสดุคล้ายตาข่าย เพื่อเสริมความแข็งแรง วิธีการผ่าตัดแบบนี้ ถือเป็นวิธีการที่นิยมใช้มากที่สุด
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง
เป็นการผ่าตัดโดยผ่านกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ แผลผ่าตัด จึงมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก สามารถฟื้นตัวได้เร็ว แต่ก็มีข้อเสีย คือ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีแรก และผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำที่บริเวณเดิมได้
มีวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคไส้เลื่อน มั๊ย
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อลดอาการท้องผูก
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ไม่อ้วนเกินไป
- เลี่ยงการยกของหนัก เพราะทำให้เกิดการเบ่ง มีแรงดนในช่องท้องสูง
- ลดการไอ ด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอย่าง โรคหวัด การสูบบุหรี่
ถึงแม้ว่า โรคไส้เลื่อน เป็นโรคที่คุณผู้ชายหลายคนหนักใจ เพราะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าผู้หญิง แต่ถ้าสังเกตถึงสาเหตุ จะเห็นว่า โรคไส้เลื่อน เกิดจากการพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยสำหรับผู้ชายที่ใช้ชีวิตเต็มที่เมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมย่อมมา รวมถึงผู้ชายสายสตรองทุกวัย ที่ชื่นชอบการมีกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แบกถุงกอล์ฟ ปีนเขา เล่นเวท โดยมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ บวกกับเพิ่มโอกาสการเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้ ที่มีความหย่อนยานขาดความแข็งแรง แนะนำเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญ จะได้รับการรักษาโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน อาการปวดมีมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ อายุมากขึ้น ความเสื่อมเพิ่มขึ้น รักษาสุขภาพกันนะคะ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
………………..
(เครดิต : Do I need Surgenry for Hernia?, www.webmd.com/digestive-disorders/need-surgenry-hernia, Surgery for Hernia Repair, www.myclevelandclinic.org, www.ramamahidol.ac.th, thonburihospital.com,www.i-kinn.com