ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาวะผิดปกติที่คนเราจะมีระดับความดันเลือดสูงกว่าระดับปกติ ถือเป็นสภาวะที่ต้องควบคุม เพราะด้วยความดันในเลือดสูงนั้น จะนำพาให้เกิดความเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง นำไปสู่สภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด การอุดตันของหลอดเลือด และแน่นอน ถ้าผู้อ่านท่านใด ที่มีความดันในเลือดสูงเป็นประจำ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาเพียบ เช่น โรคสมองเสื่อม โรคอัมพาต และโรคหัวใจวาย เป็นต้น หลายท่านทราบกันอยู่แล้วว่า โรคความดันเลือดสูง อยู่ในโรคกลุ่ม NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการเคยชินกับการดำเนินชีวิต ผู้อ่านหลายท่านอาจเริ่มมีคำถามแล้วว่า โรคกลุ่ม NCDs นั้นมีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ
มารู้จักโรคกลุ่ม NCDs
NCDs ย่อมาจาก Non-C=communicable diseases คือโรคกลุ่มที่ไม่ติดต่อ เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อ แม้มีการสัมผัส คลุกคลี ต่าง ๆ และแน่นอน อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น โรคกลุ่ม NCDs เป็นโรคที่เกี่ยวกับนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคกลุ่มนี้ จะค่อย ๆ สะสมอาการ และค่อย ๆ ทวีอาการรุนแรงขึ้น และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยด้วย
แล้วโรคกลุ่ม NCDs มีโรคอะไรบ้างหล่ะ ?
คุณหมอบางท่าน อาจจะเรียกโรคกลุ่ม NCDs ว่าเป็นโรคที่เราสร้างขึ้นมาเอง เนื่องจากโรคในกลุ่มนี้เกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ ไม่ชอบออกกำลังกาย หรือพฤติกรรมการทานอาหาร ชอบทานเค็มจัด หวานจัด มันจัด พอรับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไป แน่นอนจะเกิดการสะสมในร่างกาย ทำให้เป็นสาเหตุของโรคความดันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ แถมมาด้วยไขมันในเลือดสูงด้วย และโรคเบาหวาน
แล้วโรคความดันเลือดสูง สำคัญอย่างไร ?
สำคัญมากเลยค่ะ คุณผู้อ่าน เนื่องจากผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งมักจะไม่มีแสดงอาการใด ๆ ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวจริง ๆ และกว่าจะรู้ว่าตัวเองมีความดันในเลือดสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมองตีบเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา บางครั้งถึงขั้นเสียชีวิตได้ และการที่เรารู้ตัวว่า เป็นโรคความดันในเลือดสูงแต่เนิ่น ๆ เราก็สามารถควบคุมให้ความดันเลือดที่สูง กลับมาสู่ระดับปกติได้ เมื่อกลับมาสู่ปกติได้เร็ว ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ที่จะตามมา
ชนิดของความดันในเลือดสูง
ก่อนที่ผู้เขียนจะพาไปพบชนิดของความดันในเลือดสูง เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ที่เรียกว่า ความดันเลือดสูง นั้นอยู่ในระดับที่เท่าใด ในปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่า ในภาวะปกติผู้ที่มีความดันเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นผู้ที่มีความดันในเลือดสูง และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อม ความเสื่อมในที่นี่ หมายถึง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบ ได้มากถึง 4-5 เท่า และมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบถึง 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ
เราสามารถแบ่งชนิดความดันในเลือดสูงได้ 2 ชนิด
-
ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธ์ และโดยส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมโดยตรง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ภาวะโรคอ้วน และพฤติกรรมที่นิยมชอบทานอาหารเน้นเค็มจัด ชอบดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
-
ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ
ซึ่งแน่นอน มักเป็นผลมาจากที่ป่วยเป็นโรคอื่นมาก่อน และต้องทานยารักษาโรคอื่น เช่น โรคไตวายเรื้อรัง เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต รวมไปจนถึง คนที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ (คนที่ใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นประจำ จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงด้วย)
รู้ได้อย่างไรว่า กำลังเป็นโรคความดันในเลือดสูง
จะพอมีอาการบ้าง ถ้าเราจับสังเกต เช่น
- ปวดศีรษะตุบ ๆ บริเวณท้ายทอย
- ตาพร่ามัว
- มีเลือดกำเดาไหล
- เหนื่อยง่าย
- เจ็บหน้าอก
ถ้าเป็นโรคความดันในเลือดสูง นาน ๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
ถือเป็นคำถามที่พบบ่อย (ที่บอกว่าพบบ่อย เพราะคนไทยเป็นความดันในเลือดสูงเยอะมากค่ะ) เพราะถ้าเรามีความดันเลือดสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ใยดี ไม่สนใจและไม่รักษาอย่างถูกต้อง หรือปล่อยทิ้งไว้ จนความดันเลือดสูง เกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดหลอดเลือดตีบ หรือ หลอดเลือดอุดตัน หัวใจวาย ได้
วิธีป้องกัน ความดันในเลือดสูง
- ลดปริมาณเกลือแกง หรือ โซเดียมในอาหาร โดยจำกัดการใช้เกลือ ในการปรุงอาหาร หรือเครื่องปรุงอาหารบนโต๊ะ ก็เลี่ยงอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง หรืออาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น พวกอาหารกระป๋อง อาหารกินเล่น ฯลฯ
- เน้นการทานผักสด ผลไม้ หรือพวกธัญพืช ปลา นมไขมันต่ำ ถั่ว
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์
- ออกกำลังกาย ให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ อย่างน้อย 3-6 วันต่อสัปดาห์ (วันละ 15-20 นาที) พร้อมควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ลดความเครียด
จะเห็นได้ว่า โรคความดันในเลือดสูง สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตใหม่ เน้นการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร ไม่เค็มจัด ไม่หวานจัด เลี่ยงอาหารที่ต้องรับประทานกึ่งสุกดิบ และเน้นทานผักผลไม้ พักผ่อนให้พอเพียง อย่างผู้เขียนเอง ก็เน้นทานอาหารคลีน คลีนในที่นี่ ก็ทำเองง่าย ๆ ค่ะ เช่น สุกี้ผักล้วน อกไก่ต้ม ไข่ต้ม ทานข้าวให้น้อย (เพราะอาจอ้วน) เพียงเท่านั้น เราก็สามารถควบคุมความดันเลือดในร่างกายเราให้ปกติได้ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
……………
(credit : www.thaibreastcancer.com/970/, www.phukethospital.com/th, 14 ways to lower your blood pressure, www.healthline.com, www.nhs.uk, high blood pressure (hypertension) – treatment, www.i-kinn.com)
Anonymous
January 28, 2021ขอบคุณสำหรับข้อมูล 🙂
Siriphorn Ariya
January 29, 2021ขอบคุณค่ะ ติดตามงานเขียนได้ที่ https://www.i-kinn.com นะคะ 🙂