สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคความดันสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน และไขมันในเลือดสูงจะต้องลด..ละ..เว้นอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันเพราะอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้ แต่ว่าน้ำมันปลาเองก็เป็นอาหารเสริมที่มีประโยชน์และมีการ “กล่าวอ้าง” สรรพคุณว่า สามารถลดไขมันในเลือดสูง ลดความเสี่ยงต่อโรคความดันและโรคหลอดเลือดอุดตันได้ … ซึ่งอาจทำให้บางคนรู้สึกสงสัยว่าจริงหรือไม่? วันนี้ I-kinn ก็มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “น้ำมันปลา” ว่ามีประโยชน์จริงมั้ย? และเหมาะที่จะให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงความดันสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน ไขมันในเลือดสูง ทานได้จริงอย่างที่สรรพคุณอ้างหรือเปล่า?
น้ำมันปลา ทำมาจากอะไร?
น้ำมันปลา (fish oil) เป็นสารอาหารที่สกัดมาจากปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาค็อด ปลาแซลมอน ปลาแอนโชวี ปลาแฮร์ริง ปลาแมกเคอเรล ปลาทูน่า และปลาซาร์ดีน โดยทั่วไปจะสกัดมาจากบริเวณหัว หนังและหางปลา โดยน้ำมันปลานั้นนิยมนำมาทานเพื่อบำรุงร่างกาย สามารถทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ประโยชน์ของน้ำมันปลาหลัก ๆ ก็จะมีดังนี้ …
เด็กกับน้ำมันปลา
เด็กที่ทานน้ำมันปลาเป็นประจำจะมีแนวโน้มว่าจะมีการพัฒนาระบบประสาทดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ทาน เพราะในน้ำมันปลามีกรดไขมันโอเมกา 3 สูงมาก และยังมีผลวิจัยบางชิ้นที่ระบุว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ทานน้ำมันปลาเป็นประจำจะช่วยพัฒนาการของทารกในครรภ์ ช่วยให้ทารกมีน้ำหนักตัวดีและอยู่ในครรภ์ได้นานจนครบกำหนดคลอด
น้ำมันปลาช่วยป้องกันมะเร็ง
การทานน้ำมันปลาเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้น้อยลง
น้ำมันปลากับการบำรุงสมองและหัวใจ
น้ำมันปลามีส่วนช่วยบำรุงและลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดี และช่วยให้หัวใจเต้นอย่างปกติ
น้ำมันปลากับโรคซึมเศร้า
มีการระบุผลการวิจัยไว้ว่า การทานน้ำมันปลาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าได้
ลดอาการปวดหัว
กรดน้ำมันปลาจะช่วยลดการหลั่งของฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้ลดอาการปวดหัว และปวดไมเกรนน้อยลง
น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลาต่างกันตรงไหน?
หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า “น้ำมันปลา” กับ “น้ำมันตับปลา” นั้นเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวกัน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่นะคะ เพราะน้ำมันปลาเป็นน้ำมันที่สกัดจากส่วนต่าง ๆ ของปลา เช่น หัวปลา หนังปลา และหางปลาทะล แต่น้ำมันตับปลาจะเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากตับของปลา ซึ่งถึงแม้ว่าทั้งสองชนิดจะอุดมไปด้วยโอเมกา 3 ชนิด, Docosahexaenoic acid (DHA) และ Eicosapentaenoic acid (EPA) เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือน้ำมันตับปลาจะมีวิตามินเอและวิตามินดีที่ช่วยบรรเทาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ ในขณะที่น้ำมันปลาไม่มีวิตามินชนิดนี้ ซึ่งถามว่าแล้วกินชนิดไหนดีกว่ากัน ก็จะตอบค่อนข้างยากเพราะทั้งสองชนิดไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาก็มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งคู่ แต่ถ้าหากผู้ทานมีภาวะขาดวิตามินเอและวิตามินดีก็ควรเลือกทานน้ำมันตับปลาจะตอบโจทย์มากกว่าค่ะ
ผู้ป่วยความดันสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน ไขมันในเลือดสูง กินน้ำมันปลาได้ไหม
ถึงแม้ว่าน้ำมันปลาจะเป็นอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของน้ำมันซึ่งดูเหมือนจะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยเหล่านี้ แต่น้ำมันปลานั้นไม่เป็นแบบนั้นค่ะ เพราะน้ำมันปลามีคุณสมบัติที่ช่วยลดไขมัน LDL ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ โดยมีผลวิจัยบอกว่า หากทานน้ำมันปลาเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยลดไขมันไม่ดีได้สูงสุดถึง 20- 50 % เลย แล้วยังช่วยเพิ่มปริมาณไขมันดี HDL ในร่างกายให้สมดุลและช่วยให้สุขภาพดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยความดันสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน ไขมันในเลือดสูงสามารถทานได้อย่างสบายใจเลยค่ะ
รู้สึกคลื่นไส้ เวียนหัว หลังทานน้ำมันปลาเกิดจากอะไร?
บางคนเมื่อทานน้ำมันปลาเข้าไปแล้วอาจจะรู้สึกคลื่นไส้ เวียนหัว และอาเจียน อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นจากอาการแพ้ปลาทะเลในผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงอาการแพ้ ควรหยุดการทานและพบแพทย์ทันที แต่ในกรณีที่ท่านไม่มีประวัติการป่วยแพ้อาหารทะเล อาจจะเกิดขึ้นจากร่างกายไม่คุ้นชินกับน้ำมันปลามาก่อน วิธีแก้คือให้เลี่ยงการทานน้ำมันปลาหลังอาหารทันที หรือ ลองลดปริมาณการทานน้ำมันปลาให้น้อยลงเพื่อให้ร่างกายคุ้นชินก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณทานแบบปกติ
ผู้ที่ไม่ควรทานน้ำมันปลา
- ไม่ควรให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ทานน้ำมันปลา
- ในกรณีเด็กเล็ก (อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป) ไม่ควรให้ทานน้ำมันปลาเกิน 50 กรัมต่อสัปดาห์ หรือควรให้ทานน้ำมันปลาชนิดหยดผสมกับนมแทน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้ปลาทะเล
ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันปลา
- ไม่ควรทานน้ำมันปลาควบคู่กับยาที่มีส่วนประกอบของแอสไพริน (Aspirin) หรือวาร์ฟาริน (Warfarin)
- ควรงดการทานน้ำมันปลาในกรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ใกล้คลอดบุตร และทันตกรรมฟันอย่างน้อย 14 วัน เพราะอาจจะทำให้เลือดไหลเยอะและแข็งตัวช้า
- ในกรณีที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด ควรงดการทานน้ำมันปลา
- ไม่ควรทานน้ำมันปลาเกินปริมาณที่กำหนด
- ก่อนเข้ารับการรักษาจะต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลผู้ซักประวัติทุกครั้งว่า กำลังทานน้ำมันปลาอยู่เพื่อจะได้เป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการรักษาได้
บทความอื่น ๆ ที่ชื่นชอบ
จับคู่อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่ควรกินคู่กัน ยิ่งกินยิ่งสุขภาพดี
ประโยชน์ของกิมจิ สุดยอดอาหารสุขภาพของคนเกาหลี
ปลาทูกับปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ต่างกันอย่างไร แบบไหนมีประโยชน์กว่ากัน