ผักต้มมีประโยชน์อย่างไร เมื่อพูดถึง “ผัก” แน่นอนค่ะว่าภาพจำของมันที่เราทุก ๆ คนจะนึกถึงก็คือคุณประโยชน์ต่าง ๆ ที่เราจะได้รับเมื่อรับประทานมันเข้าไป ซึ่งผักนั้นมักจะเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารของใครหลาย ๆ คนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัด แกง หรือต้ม ก็ต่างเป็นที่ชินตาของเราเสมอ ผักนั้นเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ด้วยสารพัดวิธี โดยเฉพาะการ “ต้ม” ซึ่งเป็นวิธีที่ถือว่าง่ายที่สุดจึงเป็นวิธีที่นิยมที่สุด แต่การต้มให้ผักนั้นยังคงมีวิตามินและคุณประโยชน์อยู่ควรต้มอย่างไร และระหว่างผักสดกับผักต้มเราควรรับประทานแบบไหนดีกว่ากัน ในบทความนี้ I-Kinn มีคำตอบค่ะ
ผักต้มมีประโยชน์อย่างไร ต้มอย่างไรให้ไม่เสียคุณประโยชน์จากผัก
ในทางวิทยาศาสตร์ การทำให้ผักสุกด้วยขั้นตอนบางอย่างอาจเปลี่ยนปริมาณและโครงสร้างของสารอาหารภายในผักได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสารอาหารย่อมส่งผลต่อผู้ที่รับประทานผักเข้าไป แล้วผลของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร มาติดตามไปพร้อม ๆ กันค่ะ
ผักดิบกับผักต้มต่างกันอย่างไร?
แม้จะเป็นผักเหมือนกัน แต่เมื่อถูกนำไปประกอบอาหารด้วยการต้มก็ทำให้ผักมีข้อแตกต่างกันอยู่ค่ะ คือ
ผักดิบ-ผักสด
ผักสด เป็นผักที่มีโภชนาการทางอาหารครบ 100% ดีกว่าผักแบบต้มสุก แต่อันตรายกว่าผักต้มสุก เพราะผักสดมักมีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีต่าง ๆ ทางการเกษตร หากล้างไม่สะอาดอาจได้รับสารเคมีที่ตกค้างและหากทานเป็นประจำมันจะเข้าไปสะสมในร่างกายและเกิดอันตรายในอนาคตซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ผักบางชนิดหากทานแบบสุกจะดีกว่า เช่น มะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกจะทำให้ร่างกายได้รับไลโคปีนไปใช้ได้ดีกว่ากินแบบดิบ, ถั่วงอก, กะหล่ำ, ถั่วฝักยาว, หน่อไม้ เป็นต้น
ผักต้ม
ผักต้มสุกคือผักที่ผ่านกระบวนการทำให้สุกด้วยการ ต้ม นึ่งหรือลวก อาจมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าผักดิบแต่การต้มสุกจะช่วยลดสารพิษที่อยู่ในผักได้ แต่ไม่ควรต้มนานเพราะจะทำให้โภชนาการและสารอาหารที่อยู่ในนั้นลดน้อยลง แต่ก็มีผักบางชนิดที่ควรทานแบบดิบ ๆ เช่น หัวหอม, พริกหวานและพริกต่าง ๆ, บีทรูท เป็นต้น นอกจากนี้การลวกผักจะช่วยไม่ให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องท้องอืดง่ายและต้องการลดไขมันในเลือดหรือคอเลสเตอรอล นอกจากนี้เส้นใยในผักสุกหรือผักลวกนั้นจะช่วยจับกับน้ำได้ดี ทำให้ระบบขับถ่ายของร่างกายดีขึ้น ซึ่งเหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายอีกด้วยค่ะ
5 วิธีต้มผักเพื่อรักษาคุณประโยชน์จากผักให้คงอยู่
อย่างไรก็ตามค่ะ จากที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นว่าผักนั้นมีวิตามิน แร่ธาตุหลากหลายที่ช่วยรักษาความสมดุลของระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย หลาย ๆ คนจึงหันมารับประทานผักมากขึ้น และแน่นอน เมนูยอดนิยมของคนไทยคงหนีไม่พ้นผักต้มจิ้มน้ำพริก แต่รู้หรือไม่ว่าการต้มผักไม่ถูกวิธีอาจทำให้เราได้รับวิตามินแร่ธาตุน้อยลง ดังนั้นเรามาดูกันค่ะว่าวิธีต้มที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง
1. ล้างผักให้สะอาด
อย่าลืมว่าผักนั้นผ่านหลายกระบวนการกว่าจะมาถึงมือของเรา แม้แต่การสำรวจผักที่กล่าวว่าปลอดสารเคมีก็ยังคงพบสารตกค้างอยู่ ดังนั้นควรล้างผักผ่านน้ำไหล และแช่ผักทิ้งไว้ซักครู่ โดยอาจเติมน้ำส้มสายชู หรือเกลือเล็กน้อย จะช่วยล้างเอาสารพิษตกค้างออกได้ดีขึ้น ที่สำคัญอย่าหั่นผักก่อนแล้วค่อยนำมาล้าง เพราะจะทำให้วิตามินละลายออกไปในน้ำได้มากขึ้นตามบริเวณรอยหั่น
2. หั่นผักให้พอดี
ผักที่มีขนาดใหญ่จะสุกช้า ทำให้ใช้เวลาต้มนาน ดังนั้นเราจึงควรหั่นผักก่อน โดยหั่นเป็นชิ้นสั้นและหนา และอย่าหั่นผักทิ้งไว้นาน เพราะความสดของผักจะหมดไป
3. ปริมาณน้ำที่ใช้ต้ม
ควรใช้น้ำให้น้อยที่สุด เพื่อลดปริมาณวิตามินที่จะละลายไปอยู่ในน้ำที่ต้มผัก ใช้ปริมาณน้ำแค่พอท่วมตัวผัก ยิ่งน้ำน้อยยิ่งสูญเสียคุณค่าทางอาหารน้อย
4. ไฟแรง เวลาสั้น
พยายามใช้เวลาในการต้มให้น้อยที่สุด เพื่อรักษาวิตามินที่จะสลายไปกับความร้อน ดังนั้นก่อนนำผักลงไปต้ม ควรรอให้น้ำเดือดเสียก่อน พอน้ำเดือดแล้วให้ใส่ผักลงไป ปิดฝาหม้อ พอเดือดอีกครั้งให้รีบตักขึ้น จะได้ไม่ต้องใช้เวลาต้มนาน
5. เหยาะเกลือเล็กน้อย
เกลือมีส่วนทำให้น้ำเดือดเร็วขึ้น จึงทำให้ผักสุกเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มรสชาติ และรักษาสีเขียวสดให้ผักได้อีกด้วย เพียงเติมเกลือลงไปในน้ำเดือด ครึ่งช้อนชาถึง 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร ควรใส่เกลือหลังจากน้ำเดือด จะทำให้เกลือกระจายได้ทั่ว หากใส่เกลือตอนน้ำยังไม่เดือด เกลือจะนอนก้นอยู่ที่ก้นหม้อมากกว่า
กินผักต้มกับน้ำพริกทุกวันได้มั้ย มีประโยชน์หรือเปล่า แล้วทำไมห้ามกินทุกวัน
ความจริงแล้วการรับประทานผักต้มกับน้ำพริกนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ต่อร่างกายค่ะ แต่หากถามว่าทำไมเราไม่ควรรับประทานทุกวัน นั่นก็เพราะความไม่พอดีของรสชาติของน้ำพริกนั่นเอง เพราะโดยธรรมชาติของน้ำพริกนั้นมักมีความเผ็ดจากพริก และได้ความเค็มจากกะปิที่เป็นส่วนหนึ่งของส่วนผสม ดังนั้น หากรับประทานบ่อย ๆ หรือทานทุกวัน ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ค่ะ เช่น รสเผ็ดจากพริก จะช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตภายในร่างกายทำงานมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่เป็นผลดีกับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และยังทำให้คนปกติเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ, โรคทางกระเพาะอาหาร เพราะเมื่อกินอาหารรสเผ็ดจัดจ้านเข้าไป จะเกิดกรดในกระเพาะ ถ้ามีกรดมากก็จะทำให้ แสบท้อง ท้องอืด ปวดท้อง เพราะพริกมีสารแคปไซซินซึ่งทำปฏิกิริยากับร่างกาย นอกจากนี้ยังเกิดโรคอ้วนได้อีกด้วย เพราะรสเผ็ดช่วยให้คนเราเจริญอาหาร กินอาหารได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดโรคอ้วนได้ เป็นต้นค่ะ
ผักต้มราดกะทิ กินดีมั้ย กินได้มั้ย เหมาะกับใคร ไม่เหมาะกับใคร
เป็นอีกหนึ่งเมนูที่นิยมในประเทศไทยค่ะ กับการต้มผักกับกะทิ เพราะนอกจากจะทานง่ายแล้วก็ยังมีรสชาติที่อร่อยอีกด้วย แต่ผักต้มกะทิดังกล่าวนี้มีประโยชน์หรือไม่ หรือเหมาะ-ไม่เหมาะกับใครบ้าง มาดูกันค่ะ
ทำไมคนโบราณนำหัวกะทิมาราดบนผักลวกบางชนิด?
ผักสีเขียวทั้งหลาย เช่น มะระขึ้นก ผักกูด ผักหวาน ผักเหล่านี้มีวิตามินเอเยอะ ซึ่งวิตามินเอ จะออกฤทธิ์ได้ในตัวทำละลายที่เป็นไขมัน ไม่ละลายในน้ำ หัวกะทิมีไขมันมากและเป็นไขมันชนิดดี วิตามินเอ จึงออกฤทธิ์ช่วยระบบประสาทตาหรือระบบการมองเห็นได้ดีนั่นเองค่ะ ดังนั้น เมนูนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องทำงานหรือใช้สายตามากในชีวิตประจำวัน เพราะจากที่ได้กล่าวไปข้างต้นค่ะว่าผักที่นิยมนำมาต้มกะทิมักมีวิตามินเอ ซึ่งช่วยในการบำรุงประสาทตาให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้กะทิจะมีไขมันชนิดดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะควรทานเสมอไปค่ะ เพราะกะทิ จัดเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง และมีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ ดังนั้นควรรับประทานอย่างพอประมาณเพื่อความปลอดภัยนะคะ
ผักสุกหรือผักสดมีประโยชน์มากกว่ากัน ?
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าผักสุกและผักสดมีความแตกต่างกัน จึงอาจสงสัยว่าควรเลือกรับประทานแบบไหนดี ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่จำเป็นต้องเลือกรับประทานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถรับประทานผักทั้งสองรูปแบบเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนตามเคล็ดลับดังนี้
- หากต้องการปรุงผักให้สุก ควรเลือกปรุงด้วยการนึ่ง ย่าง หรือผัดแทนการต้มเพื่อลดปริมาณสารอาหารที่อาจเสียไปจากการละลายน้ำ
- หากต้องการรับประทานผักสด ควรล้างผักด้วยน้ำสะอาดที่ไหลผ่านตลอด และใช้มือลูบผักเบา ๆ เพื่อล้างเชื้อโรคและสารเคมีให้หลุดออกง่ายขึ้น หากพบว่าผักช้ำหรือมีลักษณะที่ต่างไปจากเดิม ควรตัดหรือเด็ดส่วนดังกล่าวออก
- ควรนำผักแช่ตู้เย็นหลังจากหั่น ปอก หรือปรุงภายใน 2 ชั่วโมง
ควรเก็บผักแยกจากเนื้อสัตว์
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะผักสุกหรือผักสดก็ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหากรับประทานอย่างเหมาะสม และนอกจากผักแล้ว ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ประเภทอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
กินผักเยอะเกินไป อันตรายไหม ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือเปล่า
เตือนแล้วนะ! ผักห้ามกินดิบ ฝืนกินอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ผักอบกรอบมีประโยชน์จริงไหม กินเพื่อลดน้ำหนักได้จริงหรือเปล่า?