เฉาก๊วยนับเป็นหนึ่งในอาหารที่นอกจากจะช่วยแก้กระหายคลายร้อนได้แล้ว ยังอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย วันนี้ I-Kinn จะพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับเฉาก๊วย เพื่อความอุ่นใจในการทานที่มากกว่าเดิม
เฉาก๊วยทำจากอะไร
เฉาก๊วยมาจากภาษาจีน คำว่า “เฉา” แปลว่า หญ้า และคำว่า “ก๊วย” แปลว่า ขนม เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า ขนมที่มาจากหญ้า โดยหญ้าที่นำมาทำเฉาก๊วยนั้น คนไทยเรียกชื่อว่า หญ้าเฉาก๊วย (Mesona Chinensis) เป็นพืชชนิดหนึ่งในตระกูลเดียวกับใบมินต์ โหระพา และสะระแหน่ เฉาก๊วยเป็นของทานเล่นยอดนิยมของคนไทยมานานกว่า 100 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นมาจากชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ได้นำเฉาก๊วยเข้ามาขายด้วย เดิมทีเฉาก๊วยที่นำเข้ามาจะเป็นแบบดั้งเดิม ซึ่งขายคู่กับเต้าฮวย แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนจัด จึงทำให้เฉาก๊วยเป็นที่นิยมของคนไทยได้ภายในเวลาไม่นาน
เฉาก๊วยมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
ปัจจุบันมีเฉาก๊วยทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ แบบวุ้น (วุ้นเฉาก๊วย) และเฉาก๊วยแข็ง แต่ละแบบมีความแตกต่างกันดังนี้
- วุ้นเฉาก๊วย มีลักษณะคล้ายวุ้น ผลิตจากการนำต้นเฉาก๊วยไปต้มเคี่ยวจนเหนียวข้น จากนั้นจึงตั้งทิ้งไว้จนเฉาก๊วยจับตัวเป็นวุ้น เฉาก๊วยชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน ส่วนวิธีรับประทานจะนำเฉาก๊วยมาตัดเป็นก้อนหรือแผ่นบาง ๆ ส่วนใหญ่นิยมทานคู่กับเต้าฮวย หรือนำเฉาก๊วยวุ้นใส่ลงไปในน้ำเฉาก๊วยผสมกับน้ำเชื่อม
- เฉาก๊วยแข็ง มีเนื้อแข็งกว่าวุ้นเฉาก๊วย ผลิตจากการผสมแป้ง หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) ในปริมาณพอเหมาะจนเฉาก๊วยก่อตัวเป็นก้อนวุ้นเนื้อแข็ง เนื้อสัมผัสที่ได้จึงกรอบกว่าวุ้นเฉาก๊วย ส่วนใหญ่นิยมขายทานโดยการขูดเป็นเส้น หรือตัดเป็นชิ้นแล้วนำมาผสมกับน้ำเชื่อม หรือใช้เป็นเครื่องเคียงผสมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ
คุณค่าทางโภชนาการที่มีอยู่ในเฉาก๊วย
ใบเฉาก๊วยแห้งปริมาณ 100 กรัม อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต ปริมาณ 44.95% ช่วยให้ร่างกายนำสารโปรตีนไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ช่วยให้ร่างกายขจัดสารพิษในเลือดได้ดียิ่งขึ้น
- เถ้า ปริมาณ 37.34% ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยเส้นเอ็น แก้เคล็ดขัดยอก
- เส้นใยอาหาร ปริมาณ 24.06% ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและตับ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
- โปรตีน ปริมาณ 8.33% ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายและให้พลังงานแก่ร่างกาย
- ไขมัน ปริมาณ 0.39% ช่วยป้องกันไม่ให้อวัยวะภายในร่างกายกระทบกระเทือนมากเกินไป
สรรพคุณของเฉาก๊วย
- แก้ร้อนใน ดับกระหาย
- บรรเทาอาการไข้หวัด ลดอาการตัวร้อน
- ขับเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการคอแห้ง
- แก้คลื่นไส้ ปวดท้อง มวนท้อง
- ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและตับ
- บรรเทาอาการตับอักเสบ ไขข้ออักเสบ
วิธีทำเฉาก๊วยทานด้วยตัวเอง
การทำเฉาก๊วยทานด้วยตัวเอง นอกจากจะได้รับคุณประโยชน์จากเฉาก๊วยแท้ ๆ แล้ว ยังป้องกันโอกาสได้รับสารปนเปื้อนที่อาจมาจากกระบวนการผลิตเฉาก๊วยจากร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน แถมยังได้เลือกส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการทำเฉาก๊วยมีดังนี้
- หญ้าเฉาก๊วยแห้ง หรือเฉาก๊วยสำเร็จรูป 1 ซอง
- น้ำตาลทรายทองธรรมชาติ หรือน้ำตาลเพื่อสุขภาพ
- น้ำเปล่า 1 ลิตรสำหรับผสมกับหญ้าเฉาก๊วยแห้ง
- น้ำเปล่า สำหรับทำน้ำเชื่อม
1. วิธีทำเฉาก๊วย
- เทน้ำลงหม้อ ตั้งไฟให้เดือด
- นำหญ้าเฉาก๊วยแห้งหรือเฉาก๊วยสำเร็จรูปเทลงไปในน้ำต้มเดือด
- ปรับระดับไฟที่เดือดให้อ่อนลง จากนั้นเทส่วนผสมเฉาก๊วยลงไป
- กวนส่วนผสมให้เข้ากันจนข้นและเนียน
- กรองเอาน้ำเฉาก๊วยที่เป็นสีดำออกมา แต่หากคุณต้องการให้เฉาก๊วยมีสีดำมากขึ้น แนะนำให้ใส่สีผสมอาหารลงไปด้วย
- จากนั้นใส่แป้งมันสำปะหลังลงไปในน้ำเฉาก๊วย เพื่อให้เฉาก๊วยจับตัวเป็นก้อนมากขึ้น
- ทิ้งน้ำเฉาก๊วยเอาไว้จนกว่าจะเย็น หรือจนกว่าเฉาก๊วยจะกลายเป็นวุ้น
2. วิธีทำน้ำเชื่อม
- ตั้งไฟอ่อน เทน้ำสะอาดลงไป
- เทน้ำตาลทรายทองธรรมชาติหรือน้ำตาลเพื่อสุขภาพลงไปในหม้อ
- ใช้ตะกร้อตีและคน จนกว่าน้ำตาลจะละลาย
- เร่งไฟให้อยู่ในระดับปานกลาง จากนั้นคนต่อจนรู้สึกว่าน้ำตาลเหนียวขึ้น
- ปิดไฟทันทีแล้วปล่อยทิ้งไว้จนกว่าจะเย็น
ชนิดน้ำตาลแต่ละประเภท น้ำตาลแดง น้ำตาลทรายต่างกันอย่างไร เหมาะกับใคร
จากนั้นราดน้ำเชื่อมลงไปในเฉาก๊วย ตามด้วยน้ำแข็งตามความต้องการของคุณ เท่านี้เฉาก๊วยของคุณก็พร้อมทานทันที เพื่อความสะดวกคุณอาจหั่นซอยเป็นเส้นเล็ก ๆ หรือตัดเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อความสะดวกในการทานได้เช่นกัน ทั้งนี้อาจเพิ่มรสชาติความอร่อยโดยการใส่เครื่องเคียงเหมือนขนมหวานทั่วไป ได้แก่ ลูกตาล ลูกชิด ข้าวโพด คนให้เข้ากันแล้วทานทันที
เฉาก๊วยก็มีข้อเสีย หากทานไม่ถูกวิธี
หากคุณทานเฉาก๊วยคู่กับน้ำเชื่อมหรือน้ำตาลมากเกินไป อาจต้องระวังปัญหาสุขภาพตามมา เนื่องจากน้ำเชื่อมหรือน้ำตาลในปริมาณมาก อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน นอกจากนี้อาจมีสารบอแร็กซ์ (Borax) ปนเปื้อนขณะผ่านกระบวนการแปรรูปจากพืชมาสู่รูปแบบวุ้น โดยบอแร็กซ์อาจผสมกับเฉาก๊วยเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสของเฉาก๊วยให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น และยืดอายุเฉาก๊วยไม่ให้เสียง่าย อยู่ได้นานขึ้น แต่ถ้าทานเข้าไปมาก ๆ ก็ก่อให้เกิดผลเสียแก่ร่างกายทั้งในระยะเฉียบพลันได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียรุนแรง ขับถ่ายเป็นเลือด อาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตในที่สุด ส่วนระยะยาวอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร ใบหน้าบวม เยื่อตาอักเสบ ตับอักเสบ และไตอักเสบตามมา
บทความที่น่าสนใจ
10 เมนูของว่างทานเล่น ของมนุษย์ออฟฟิศ ยิ่งกินยิ่งอ้วน
กินชีสยังไงให้ไม่อ้วน วิธีกินชีสให้ได้ทั้งความอร่อยและสุขภาพ