กินไข่ดิบ ปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน
เชื่อว่าหลายคนชอบดูคลิปเมนูอาหาร และอาจเคยเห็นเมนูอาหารที่เป็นไข่ดิบผ่านตามาบ้าง อย่างเมนูข้าวตอกไข่ดิบที่ตอกไข่ดิบลงไปในข้าวสวยร้อน ๆ หรือเมนูชาบูจุ่มไข่ดิบที่เห็นในติ๊กต็อกและเมนูไข่ดิบอีกหลายเมนู นอกจากคำถามเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลในไข่แล้ว หลายคนก็อาจมีคำถามที่ว่า กินไข่ดิบอันตรายไหม มีความเสี่ยงอะไรต่อร่างกายบ้าง ถ้ากินได้ มีประโยชน์อย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไข่ดิบแบบไหนถึงจะกินได้ ในบทความนี้มีคำตอบ
กินไข่ดิบ ปลอดภัยไหม?
ขึ้นอยู่กับที่มาของไข่ ว่าเป็นไข่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์หรือไม่ ไข่พาสเจอร์ไรซ์จะผ่านการฆ่าแบคทีเรียรวมถึงซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในไข่ดิบ สภาพและความสดของไข่ก็มีความสำคัญเช่นกัน และข้างกล่องบรรจุไข่ต้องมีเขียนไว้ว่าสามารถทานดิบได้
หากรับประทานไข่ดิบที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรียหลากหลายชนิดและมีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ เพราะฉะนั้น ไม่ควรทานไข่ดิบถ้าหากไข่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
ความเสี่ยงถ้าหากกินไข่ดิบที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
หลายคนที่เคยทานไข่ดิบอาจไม่เคยมีอาการใด ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง และทานไข่ดิบต่อไปทั้ง ๆ ที่ไข่ที่ทานนั้นไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ไข่ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เมื่อเป็นไข่ดิบหรือไม่ได้ถูกความร้อนจากปรุงสุก จะมีแบคทีเรียหลากหลายชนิดรวมถึงซาลโมเนลลา ซึ่งอาจมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นกับตัวได้ ไม่วันนี้ก็วันหน้า แล้วความเสี่ยงมีอะไรบ้าง?
ติดเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา ซึ่งอาจมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง อึดอัดแน่นท้อง ปวดท้อง มีไข้ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจอยู่ไม่นาน บางคนอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่ถ้ามีอาการก็อาจใช้เวลาร่วมสัปดาห์กว่าจะหาย และใช้เวลาร่วมเดือนกว่าระบบย่อยอาหารจะทำงานได้ปกติ แต่บางคนก็อาจมีอาการรุนแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำและอวัยวะล้มเหลวได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การทานไข่ดิบอาจทำให้เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าด้วย
ปัญหาในระบบย่อยอาหาร เนื่องจากไข่ดิบนั้นย่อยยากกว่าปกติในบางคน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะลำไส้แปรปรวน ท้องอืด ท้องเฟ้อได้
ภาวะอาหารเป็นพิษ นอกจากแบคทีเรียซาลโมเนลลาที่พบได้ในไข่ดิบ ก็อาจมีเชื้อโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) เชื้ออีโอไล (Escherichai coli) และเชื้อลิสทีเรีย (Listeria monocytogenes) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้อาจพบเจอได้ในไข่ดิบ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้เช่นเดียวกัน
อาการแพ้ ยิ่งคนที่มีอาการแพ้ไข่ หากทานไข่ดิบก็สามารถกระตุ้นอาการแพ้ให้รุนแรงมากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
ภาวะขาดไบโอติน การกินไข่ขาวทุกวัน โดยเฉพาะไข่ขาวดิบดิบจำนวนมากเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดการขาดไบโอติน สามารถทำให้เกิดอาการผมร่วง ผื่นขึ้น และอาจส่งผลต่อระบบประสาท
หากอยากกินไข่ดิบ ดูยังไงว่าไข่กินดิบได้
เมื่อเห็นเมนูอาหารที่ใช้ไข่ดิบในการปรุง หลายคนก็อยากลองทำอาหารเมนูเหล่านั้นทานเองบ้าง แล้วการเลือกไข่ที่สามารถกินดิบได้ รวมถึงวิธีการที่ช่วยให้การทานไข่ดิบปลอดภัยขึ้น ต้องทำอย่างไรบ้าง?
1 . เลือกไข่ที่ผ่านการพาสเจอไรซ์
เนื่องจากไข่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์จะผ่านการให้ความร้อนโดยที่ยังคงสภาพของไข่ดิบไว้อยู่ ซึ่งความร้อนที่ว่านั้น จะเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียรวมถึงเชื้อซาโมเนลลาที่มากับไข่ นอกจากการเลือกซื้อไข่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์แล้ว ก็ควรดูที่ข้างกล่องด้วยว่าเป็นไข่ที่สามารถทานดิบได้ไหม ซึ่งไข่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป
2 . เลือกซื้อไข่ที่มีคุณภาพในแหล่งที่น่าเชื่อถือ
นอกจากไข่เกรดทานดิบจะต้องผ่านการพาสเจอร์ไรซ์แล้ว แหล่งที่มาของไข่ต้องมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือด้วย มีชื่อแบรนด์ชัดเจน มีการเขียนว่าทานดิบได้ และคุณภาพของไข่ต้องสะอาด ไม่มีรอยเปื้อน ไม่มีรอยแตกของเปลือกไข่
3 . เก็บไข่ไว้ในตู้เย็น
ไม่ควรเก็บไข่ดิบไว้ที่อุณภูมิห้องเป็นเวลาเกิน 2 ชั่วโมง ควรแช่ไว้ในช่องวางไข่ในตู้เย็น วิธีการนี้จะช่วยลดการเกิดแบคทีเรียของไข่เมื่อต้องเก็บเป็นเวลานานขึ้นได้
4 . ล้างมือก่อนและเครื่องมือในการทำอาหารก่อนทุกครั้ง
ความสะอาดสำคัญเสมอในการทำอาหาร การปรุงไข่ดิบก็เช่นกัน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการตอกไข่ดิบและการปรุงไข่ดิบ
5 . ทานไข่ดิบทันทีหลังจากการตอก
ไข่ ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งไม่อร่อย นอกจากไม่อร่อยก็อาจเกิดการปนเปื้อนได้ด้วยเช่นกัน ควรปรุงอาหารหรือรับประทานทันทีหลังจากทำอาหารเสร็จ
ไข่ดิบกับไข่สุก แบบไหนดีกว่า?
จริงอยู่ที่ว่า ไข่ดิบมีสารอาหารเยอะกว่าไข่สุก แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานไข่สุกจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเสมอ เพราะร่างกายจะดูดซับสารอาหารและย่อยอาหารได้ดีกว่าไข่ดิบ นอกจากนั้น การเลือกรับประทานไข่สุกจะมีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งการทานไข่ดิบ อาจส่งผลเสียกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ที่อาจทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ การปรุงไข่สุกจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และการกินไข่ทุกวัน สามารถทำได้ สิ่งที่จำเป็นคือสารอาหารอื่น ๆ ควรรับประทานคู่กับเนื้อสัตว์และผัก หรือนำไปปรุงเป็นเมนูอื่น ๆ ได้หลากหลายเมนู
อ่านบทความเพิ่มเติม :
แคลอรี่ไข่แต่ละชนิด เมนูไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ออนเซ็น กี่แคลอรี่?