‘Empathy’ หรือ ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ส่งผลต่อแนวคิดและการใช้ชีวิตของเราอย่างมากครับ
การวิเคราะห์หรือพูดคุยโดยมองผ่านมุมมองเพียงด้านเดียว อาจทำให้เราพลาดโอกาสทำความเข้าใจข้อมูลสำคัญ เพียงเพราะการยึดติดกับทัศนคติที่เราคิดว่าดีที่สุด
แต่จู่ ๆ มาบอกให้เปิดใจรับฟังในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและจะให้เข้าใจในทันทีคงเป็นเรื่องยาก กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด อุปนิสัยและแนวคิดจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องใช้เวลาฉันนั้นครับ
อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องเรียนรู้หรือประสบเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยตัวเองในบางครั้ง ถึงจะเข้าใจมุมมองของอีกฝั่งอย่างแท้จริง แม้เราต้องแลกมันกับบางสิ่งบางอย่าง
บางครั้ง “เราอาจต้องแลกมันด้วยชีวิต”
นี่คือสิ่งที่เคยเกิดกับ ‘ดร.โทโมอากิ เคโตะ’ ศัลยแพทย์ชื่อดังด้านการปลูกถ่ายอวัยวะทางเดินอาหารจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเขาประสบกับเหตุการณ์ “เฉียดตาย” ในเดือนมีนาคม ปี 2020 หลังผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ คุณหมอเคโตะให้สัมภาษณ์ว่า “มันทำให้ผมเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นจริงๆ”
ก่อนจะพูดถึงเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตครั้งนั้น ผมขอพาทุกท่านมารู้จักกับดร.เคโตะกันก่อนว่าเขามีผลงานอะไร เพราะเหตุใดถึงได้เป็นศัลยแพทย์ชื่อก้องโลกที่ใครๆ ต่างให้ความเคารพนับถือ
.
ดร.เคโตะจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่นในปี 1991 ผ่านการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน (Residency) สาขาศัลยศาสตร์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซากาและโรงพยาบาลเมืองอิทามิ และการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (Fellowship) สาขาการปลูกถ่ายอวัยวะจากมหาวิทยาลัยไมอามี โรงพยาบาลแจ็คสันเมโมเรียลในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 1997
ปัจจุบันคุณหมอเคโตะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะศัลยแพทย์และหัวหน้าทีมศัลยกรรมปลูกถ่ายอวัยวะทางเดินอาหารในเด็กและผู้ใหญ่ ณ โรงพยาบาลนิวยอร์กเพรสไบทีเรียน ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อีกทั้งยังเป็นศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมให้วิทยาลัยแพทย์และศัลยแพทย์ ณ มหาวิทยาโคลัมเบียด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะบุคลากรที่ร่วมงานหรือคนไข้ที่มารับบริการต่างก็รับรู้ถึงความเก่งกาจของคุณหมอโดยทั่วกัน ทั้งในเรื่องการคิดค้นวิธีผ่าตัดรักษารูปแบบใหม่ ๆ ฝีมือผ่าตัดที่เฉียบคมและแม่นยำ รวมถึงอุปนิสัยที่อุทิศตนให้กับการทำงาน จนหัวหน้าของดร.เคโตะเปรียบคุณหมอว่าเหมือนกับ “ไมเคิล จอร์แดน” นักบาสเกตบอลอัจฉริยะชื่อดัง
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้คุณหมอเป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลกคือ เคสผ่าตัดนำเนื้องอกขนาดเท่าลูกเทนนิสออกจากช่องท้องของเด็กหญิงเฮเธอร์ แม็กนามารา (Heather McNamara) วัย 7 ขวบในปี 2009 และถือเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะช่องท้องในเด็กสำเร็จเป็นเคสแรกของโลกด้วยครับ
.
เฮเธอร์ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกในช่องท้องเมื่อต้นปี 2008 แม้ได้รับการผ่าตัดและรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้วก็ไม่เป็นผล เนื้องอกนั้นโตเร็วมากจนบดบังหลอดเลือดและอวัยวะในช่องท้อง หากปล่อยไว้นานอาจเกิดเลือดออกในช่องท้องจนถึงแก่ชีวิต จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ทว่าเนื้องอกนั้นเกิดใกล้กับหลอดเลือดและอวัยวะสำคัญมากเกินไป จึงมีความเสี่ยงสูงที่การผ่าตัดจะล้มเหลว และอาจทำให้เด็กหญิงเสียชีวิต
คุณแม่ของเด็กหญิงกล่าวว่า ตอนที่ครอบครัวรู้ข่าวนั้นเหมือนความหวังแหลกสลายลงตรงหน้า แสงสว่างปลายอุโมงค์ช่างริบหรี่ ทางเลือกเดียวที่มีก็ไม่ได้รับประกันว่าลูกสาวจะรอดชีวิต
ถึงจะมีเพียงทางเดียว พวกเขาก็พร้อมเสี่ยง ครอบครัวแม็กนามาราจึงตัดสินใจให้คุณหมอเคโตะและทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเพรสไบทีเรียนรักษาเด็กหญิงด้วยวิธีผ่าตัดนำเนื้องอกออกจากช่องท้อง
แต่หลายคนคิดว่าการผ่าตัดนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จครับ
นั่นเป็นเพราะเนื้องอกอยู่ลึกเข้าไปด้านในช่องท้อง จำเป็นต้องผ่าตัดนำอวัยวะที่สำคัญไม่ว่าจะตับ ตับอ่อน ลำไส้เล็กและใหญ่ กระเพาะอาหาร และม้ามออกจากช่องท้องก่อน จึงจะสามารถทำการผ่าตัดเนื้องอกได้ เมื่อเสร็จแล้วจึงใส่อวัยวะทั้งหมดกลับคืนและเชื่อมต่อเข้ากับร่างกายใหม่อีกครั้ง
การผ่าตัดนำอวัยวะออกจากร่างกายแล้วเชื่อมต่อใหม่มีความเสี่ยงสูงมาก แม้คุณหมอเคโตะจะเคยผ่าตัดผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการคล้ายแบบนี้มาก่อน แต่นั่นเป็นการผ่าตัดในผู้ใหญ่ที่อวัยวะร่างกายโตเต็มที่ ขณะที่อวัยวะในเด็กนั้นเล็กกว่าในผู้ใหญ่พอสมควร การลงมีดผิดองศาเพียงนิดเดียวหมายถึงความเสียหายที่อาจแก้ไขไม่ได้
แต่นี่เป็นโอกาสเดียวที่จะช่วยเด็กหญิงเฮเธอร์
คุณหมอเคโตะและทีมแพทย์สามทีมใช้เวลาผ่าตัดนานถึง 23 ชั่วโมง แน่นอนว่าพวกเขาทำสำเร็จ เด็กหญิงเฮเธอร์ปลอดภัย แต่ก็แลกมาด้วยตับอ่อนจะไม่สามารถเชื่อมกลับได้ เพราะอยู่ติดกับก้อนเนื้องอกมากเกินไปเลยทำให้ตับอ่อนเสียหายเกินกว่าจะใส่กลับเข้าร่างกาย เธอต้องเป็นเบาหวานไปตลอดชีวิตเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
แต่แลกกับการมีชีวิตรอดต่อไป มันทำให้เธอดีใจเสียยิ่งกว่าสิ่งใด
นี่คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้ดร.เคโตะ ศัลยแพทย์อัจฉริยะกลายเป็นคนที่ใคร ๆ ต่างให้ความเคารพนับถือ
มากไปกว่านั้น ดร.เคโตะยังบินไปประเทศเวเนซุเอลาเพื่อผ่าตัดปลูกถ่ายตับในเด็ก และสอนศัลยแพทย์ในประเทศนั้นให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจวิธีผ่าตัด เขายังก่อตั้งองค์กรเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้คนในแถบลาตินอเมริกา
เรียกได้ว่าดร.เคโตะพยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพศหรือสัญชาติใดก็ไม่ใช่ข้อจำกัดของการได้รับการรักษา
ถึงอย่างนั้นแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่คุณหมอยังคงไม่เข้าใจ แม้จะประกอบอาชีพเป็นแพทย์มานานเกือบ 30 แล้วก็ตาม
“ผู้ป่วยรู้สึกอย่างไร คือสิ่งที่ผมไม่เคยเข้าใจอย่างถ่องแท้”
“ทุกครั้งที่ผมต้องโน้มน้าวให้ผู้ป่วยรับอาหารผ่านสายยาง ผมมักจะพูดให้กำลังใจพวกเขาว่า แม้ตอนนี้มันจะแย่จนเหมือนตกนรกก็ตาม แต่ถ้าผ่านมันไปได้อาการของคุณจะดีขึ้นนะ”
“ผมน่ะไม่ได้เข้าใจคำว่า ‘นรก’ แม้แต่นิดเดียว”
เรื่องราวต่อจากนี้คือ เหตุการณ์เฉียดตายครั้งใหญ่ที่สุดที่คุณหมอเคโตะเคยประสบ
เหตุการณ์ที่เปลี่ยนคุณหมอเป็นผู้ป่วย และเปลี่ยนทัศนคติของเขาให้มี “ความเห็นอกเห็นใจ” ต่อผู้ป่วยมากขึ้น
.
ดร.เคโตะติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกแรกในสหรัฐอเมริกา
คุณหมอเคโตะกล่าวว่า เขาติดเชื้อจากการผ่าตัดปลูกถ่ายตับให้ผู้ป่วย ช่วงแรกของการติดเชื้อโควิด-19 ดร.เคโตะเริ่มมีอาการปวดหัวอย่างหนัก มีไข้ขึ้นลงสลับไปมา และระดับออกซิเจนลดเหลือ 93-94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะอาการปอดอักเสบจากโควิด
ขณะนั้นเป็นช่วงต้นของการะบาดรอบแรก ไม่มีใครรู้ว่าอาการของโควิด-19 เป็นอย่างไรกันแน่ อีกทั้งดร.เคโตะยังบอกกับทุกคนว่าเขาสบายดี จึงไม่มีใครสงสัยอะไร
“ตอนที่เริ่มป่วย ผมรู้ได้ในทันทีว่านี่ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ยังคงพร่ำบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรหรอก ผมยังอยากจะกลับไปทำงานผ่าตัดต่อด้วยซ้ำ จนกระทั่งผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวกนั่นแหละ ผมเลยต้องหยุดทุกอย่าง”
เช้าวันหนึ่งขณะกำลังอาบน้ำ จู่ ๆ ดร.เคโตะเกิดหายใจลำบากและไอไม่หยุด ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เมื่อถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเอกซเรย์ปอดก็พบว่า เชื้อโควิดนั้นลามไปทั่วปอดทั้งสองข้างแล้ว โรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อพยุงชีพดร.เคโตะอย่างเร่งด่วน
หลังจากนั้น คุณหมอก็สลบไปเป็นเวลา 4 สัปดาห์
นอกจากจะติดเชื้อโควิดแล้ว ในระหว่างที่รับการรักษา ดร.เคโตะติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจนต้องใช้เครื่องฟอกไต และแม้จะจะใช้เครื่องช่วยหายใจแต่ปอดของเขาก็ไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้มากพอ อาการของคุณหมอเคโตะเข้าขั้นวิกฤต วิธีสุดท้ายที่จะช่วยชีวิตเขามีเพียงวิธีเดียว คือ ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)
ทว่า แม้จะใช้ ECMO โอกาสรอดของดร.เคโตะก็เหลือเพียงหลักหน่วยเท่านั้น
เป็นช่วงเวลาที่ความหวาดกลัวกัดกินจิตใจของครอบครัวและบุคลากรทุกคน
“มันน่ากลัวมาก เหมือนโลกกำลังล่มสลายอยู่ตรงหน้า” นี่คือหนึ่งในความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน
คุณหมอเคโตะอยู่กับเครื่อง ECMO เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และเครื่องช่วยหายใจเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ระหว่างรับการรักษา เขาเล่าว่านอกจากจะต้องต่อสู้กับโรคร้ายแล้ว เขายังต่อสู้กับความฝัน นิมิต และภาพหลอนในจิตใจของเขา
“ผมรู้สึกว่า ตัวผมได้ตายไปแล้ว”
“ผมไม่เคยป่วยหนักเลย ไม่เคยเผชิญกับความตายอย่างใกล้ชิดขนาดนี้มาก่อน”
ด้วยความร่วมมือร่วมใจและฝีมืออันยอดเยี่ยมของทีมสหวิชาชีพ ในที่สุดอาการของดร.เคโตะก็พ้นระยะวิกฤต สามารถหายใจได้เองไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอีกต่อไป
ทุกอย่างกำลังจะจบด้วยดี แต่ไม่ใช่ตอนนี้
คุณหมอเคโตะยังคงมีอาการมึนงงและเห็นภาพหลอน ไม่เป็นตัวของตัวเอง ผลสแกนสมองพบว่าหลอดเลือดมีการอุดตัน และมีเลือดออกในสมอง แม้จะไม่รุนแรงมากและสามารถรักษาได้ แต่กำลังใจของทุกคนที่กำลังฟื้นคืนได้ถูกบั่นทอนอีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ในตอนที่เรารู้ว่าเขารอดแล้ว มันเหมือนยกภูเขาออกจากอกไปลูกหนึ่ง ปัญหาต่อมาคือ ‘เขาจะยังเป็นหมอได้อีกหรือเปล่า’ สิ่งที่เขาเจอมันโหดร้ายและเลวร้ายมาก ๆ สำหรับคนคนหนึ่ง” เพื่อนแพทย์ของเขากล่าว
.
เมื่อเข้าสู่ช่วงพักฟื้นร่างกาย ดร.เคโตะพบว่าเขาสูญเสียน้ำหนักถึง 25 ปอนด์ ร่างกายอ่อนแอเกินกว่าจะกินอาหารได้เองและต้องได้รับอาหารผ่านท่ออาหาร ผมบนศีรษะร่วงหล่น กล้ามเนื้อคอและหลังบางส่วนลีบลงเพราะไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานาน จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด
“หลังจากผ่านเหตุการณ์เฉียดตายครั้งนั้น ผมก็เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยมากขึ้น เข้าใจแล้วว่าเขาต้องเผชิญอะไรระหว่างรับการรักษาบ้าง”
ในระหว่างรับการรักษา สิ่งที่เขาเกลียดมาก ๆ คือ อาหารเหลวข้นหนืดที่ต้องกินเพื่อฟื้นฟูทักษะการกลืนอาหาร
“รสชาติมันแย่มาก ๆ หากมีผู้ป่วยคนไหนบอกว่าไม่อยากกินมันแล้วล่ะก็ เมื่อก่อนผมคงบอกว่า ‘กินไปเถอะ มันดีต่อสุขภาพนะ’ แต่ตอนนี้ถ้าใครไม่อยากกินก็ไม่เป็นไร วิธีรักษาผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกันสักหน่อย”
เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในที่สุด ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 คุณหมอเคโตะก็ออกจากโรงพยาบาลกลับไปพักฟื้นที่บ้าน พนักงานและบุคลากรกว่า 200 คนตะโกนชื่อเขา “เคโตะ! เคโตะ!” พร้อมกับส่งเสียงเชียร์คุณหมอผู้เป็นที่รักที่รอดจากเงื้อมมือพญามัจจุราช
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาคิดว่าดร.เคโตะคงต้องพักฟื้นอยู่ที่บ้านอีกหลายเดือน แต่ในเดือนสิงหาคม 2020 เพียงสามเดือนหลังพักฟื้น คุณหมอก็กลับมาทำการผ่าตัดอีกครั้ง เดือนกันยายนสามารถผ่านตัดปลูกถ่ายตับได้แม้ไหล่จะยังเจ็บอยู่ก็ตาม
นับตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงเดือนมีนาคม 2021 เขาทำการปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้วกว่า 40 เคส และการผ่าตัดอื่น ๆ อีก 30 เคส และยังคงทำการผ่าตัดและสอนนักศึกษาแพทย์ต่อไป เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความสามารถ และเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคน
.
ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยให้เรามองเห็นมุมมองที่แตกต่าง และเข้าใจถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ความเจ็บปวด ฯลฯ แม้จะเข้าใจไม่ได้ทั้งหมด แต่การพยายามเข้าใจ พยายามคิดผ่านมุมมองของอีกฝ่าย จะทำให้เราเห็นโลกที่กว้างมากขึ้น และเพิ่มความเป็นมนุษย์ในตัวเรา
ดังนั้น ก่อนจะตัดสินว่าใครเป็นอย่างไร อย่าลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรานะครับ
ไม่แน่ว่า ทัศนคติของคุณอาจจะเปลี่ยนไปเหมือนดร.เคโตะก็เป็นได้ครับ