ยาไขมันในเลือด เป็นกลุ่มยาที่ผู้มีปัญหาไขมันในเลือดสูงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะจะคุ้นชินจากการจ่ายยาของแพทย์อยู่บ่อย ๆ นั่นเองค่ะ ซึ่งการรับประทานยาชนิดนี้ ไม่ใช่ว่าทานยาอย่างเดียวแล้วจะสามารถลดปัญหาไขมันในเลือดสูงให้แก่ผู้ป่วยได้เลยนะคะ เพราะคุณหมอจะแนะนำให้รับประทานยาร่วมกับการปรับวิธีการรับประทานอาหารในชีวิตด้วย เพื่อให้การฟื้นฟูตนเองของคนไข้เป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย อย่างไรก็ตามค่ะ อาจมีคนไข้บางคนที่ไม่ทราบวิธีการทานยาชนิดนี้อย่างละเอียดจนไปซื้อมารับประทานเองโดยไม่ผ่านแพทย์เพราะคิดว่ายาตัวไหนก็เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น
ยาไขมันในเลือด คืออะไร ควรทานอย่างไร เหมาะกับใคร หากซื้อกินเองจะอันตรายยังไงบ้าง?
โดยทั่วไปการรักษาผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือออกกำลังกายให้มากขึ้น แต่ในบางกรณี แพทย์อาจต้องใช้ยาลดไขมันในเลือดในการรักษาร่วมด้วย เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการลดระดับไขมันในเลือดได้
อย่างไรก็ตามค่ะ คงเป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยหลาย ๆ ท่านต้องรับประทานยาที่รับการจ่ายมาจากแพทย์โดยตรง แต่ก็ยังมิวายมีผู้ป่วยอีกหลาย ๆ ท่านที่หาซื้อมารับประทานเอง ซึ่งต้องบอกก่อนค่ะว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก ๆ เพราะอาจส่งผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ก่อนที่เราจะมาศึกษาว่าอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากยาลดไขมันในเลือดมีอะไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับเจ้ายาชนิดนี้กันก่อนดีกว่าค่ะ
ยาลดไขมันในเลือด คือ..
ไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่เกิดจากการที่มีไขมันบางชนิดสะสมอยู่ในเลือดมากเกินไป อย่างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งจริง ๆ แล้ว คอเลสเตอรอลสามารถแบ่งออกได้อีกหลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญ คือ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและคอเลสเตอรอลชนิดดี
โดยคอเลสเตอรอลชนิดดีจะช่วยลำเลียงคอเลสเตอรอลที่เป็นอันตรายออกจากหลอดเลือด แต่คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมอยู่ในหลอดเลือดอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจตามมา
ยาลดไขมันในเลือด ช่วยอะไร?
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่สามารถลดปริมาณไขมันตัวร้าย รวมถึงมีความสามารถในการลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์และเพิ่มปริมาณไขมันตัวดีได้ด้วย ยากลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์เพิ่มเติมอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการลดไขมัน เช่น ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ
กินยาลดไขมันในเลือดดีไหม เหมาะกับใครบ้าง?
แพทย์อาจใช้ยาลดไขมันในเลือดในกรณีที่ระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยไม่ลดลงแม้จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือออกกำลังกาย รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่าง เช่น
- ผู้ที่มีประวัติการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) โรคหลอดเลือดสมอง หรือกำลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease) มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอายุระหว่าง 40–75 ปี รวมถึงมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40–75 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) รวมถึงมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากกว่า 70 mg/dL
“กลุ่มยาสแตติน” (Statins) ชนิดของยาลดไขมันในเลือดที่ถูกใช้มากในปัจจุบัน
กลุ่มยาสแตตินเป็นกลุ่มยาชนิดแรก ๆ ที่แพทย์มักใช้ในการรักษาไขมันในเลือด ซึ่งยากลุ่มนี้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดหนึ่งในร่างกายที่มีหน้าที่ช่วยผลิตคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี
นอกจากนี้ ยาในกลุ่มสแตตินยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตัน โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่แพทย์มักใช้ เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) และยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) เป็นต้น
ผลข้างเคียงของยากลุ่ม Statin
ยากลุ่ม Statin มีผลข้างเคียงต่าง ๆ ดังนี้
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- ง่วงนอน นอนไม่หลับ
- ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ
- มีผลต่อการทำงานของตับเเละไต
- ผลข้างเคียงที่กล่าวมาถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยเเต่ก็ควรจะต้องระวังไว้ ซึ่งผลข้างเคียงที่เน้นย้ำให้สังเกตคืออาการผิดปกติของกล้ามเนื้อหลังจากใช้ยากลุ่ม Statin
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาชนิดนี้จะทำให้ปริมาณยาในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น ดังนั้นเเล้วหากจำเป็นต้องใช้ยาแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเพื่อความปลอดภัยนะคะ
ยาลดไขมันในเลือด กินยังไง ให้ปลอดภัย?
ยากลุ่มสแตตินนี้เป็นยาเม็ด โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เนื่องจากกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลจะเกิดขึ้นมากในช่วงเวลากลางคืน (ช่วงเที่ยงคืนในผู้ป่วยที่มีเวลาการตื่นนอนและเข้านอนเป็นปกติ) อย่างไรก็ตามยาลดไขมันรุ่นใหม่บางชนิดมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ยาวนานเพียงพอที่จะใช้ในเวลาอื่น ๆ ได้ เช่น หลังอาหารเช้า เป็นต้น ดังนั้น แนะนำให้รับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้ปรึกษาเภสัชกร เมื่อรับประทานยาจนได้ระดับของไขมันในเลือดเป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องรับประทานยาลดไขมันนั้น ๆ ต่อไป เนื่องจากไขมันในเลือดที่เห็นเป็นผลมาจากการรับประทานยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยนั่นเอง
นอกจากนี้อาจจะต้องระวังการใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่โฆษณาว่าช่วยลดไขมันในเลือด เนื่องจากอาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิดอาจรบกวนการออกฤทธิ์ของยา รวมถึงเพิ่มผลข้างเคียงได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมใด ๆ ร่วมด้วย
หากก่อนนอน ลืมรับประทานยาลดไขมัน แล้วนึกได้ในเวลาเช้าของอีกวัน ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา เนื่องจากประสิทธิภาพของการลดไขมันโดยรวมจะไม่กระทบมากนัก การรับประทานยาเกินขนาดกลับจะเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น
เลือกทานอย่างไรให้ลดไขมันในเลือด?
- เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันต่ำ ไม่ติดหนัง โดยเฉพาะปลาทะเล เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีคอเลสเตอรอลสูง ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เช่น เมนูกะทิ เนื้อสัตว์แปรรูป ขนมอบ (ขนมปัง พาย เค้ก คุกกี้ โดนัท) เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง สามาถรับประทานไข่ได้ แต่ไม่ควรรับประทานไข่แดงเกิน 1 ฟองต่อวัน ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถรับประทานไข่แดงหรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลได้ในปริมาณที่เหมาะสม (ไม่เกิน 1-2 ฟองต่อวัน) โดยต้องเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
- เลือกวิธีการปรุงอาหารด้วยการอบ นี่ง ย่าง แทนการทอด และการผัดที่ใช้น้ำมันมาก
- เลือกใช้น้ำมันในการปรุงประกอบอาหารให้ถูกประเภท เช่น น้ำมันปาล์มใช้สำหรับทอด น้ำมันถั่วเหลืองใช้สำหรับผัด (น้ำมันที่ใช้ถึงจะเป็นไขมันชนิดที่ดี แต่ควรใช้แต่น้อยเท่าที่จำเป็น ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา)
- เลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงในสัดส่วนที่พอดี ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย รับประทานผักและผลไม้เพียงพอ (400 กรัมต่อวันหรือเทียบเท่ากับผัก 3 ทัพพีและผลไม้ 2 จานกาแฟต่อวัน)
ทั้งนี้ แม้ว่าไขมันในเลือดจะลดลง แต่การปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะพฤติกรรมการทานอาหารก็ต้องปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย โดยยึดตามหลักโภชนาการซึ่งในวัยผู้ใหญ่ควรทานเนื้อสัตว์ในปริมาณ 135 กรัมต่อวัน เพราะหากมากกว่านั้นอาจเสี่ยงทำให้ค่าไขมันคอเลสเตอรอลสูงขึ้น นอกจากนี้ควรต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลโดยรวม และลดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดร้ายได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและช่วยควบคุมไขมันในเลือดได้ดียิ่งขึ้นด้วย
กล่าวโดยสรุป โรคไขมันในเลือดสูงเป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้ยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการควบคุมโรค ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีเป้าหมายของการรักษาและชนิดของยาที่ใช้แตกต่างกันไป การดูแลตนเองและรับประทานยาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้ดี นอกจากนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อติดตามผลของการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ อย่าเบื่อหน่ายการรับประทานยา เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถควบคุมโรคไขมันในเลือดสูงได้ค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
ไขมันพืชกับไขมันสัตว์ ต่างกันยังไง ส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง
ข้อควรระวัง กินไขมันดีเยอะเกินไป เสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงขึ้น!!